ศูนย์ทอผ้าจกรางบัว

โดยครูนาฏยา เทียมแพ @ตำบลรางบัว อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี

ครูนาฏยา เทียมแพ ย้ายมาดำรงตำแหน่งครู ที่โรงเรียนชุมชนวัดรางบัวตั้งแต่ พ.ศ. 2525 การที่ได้มาอยู่รางบัวทำให้ได้เห็นมรดกอันมีค่าเป็นวัฒนธรรม ของชาว ไท-ยวน ที่อพยพมาจากภาคเหนือเมื่อสองร้อยกว่าปีมาแล้ว ก็คือ ภาษาพูด การทอผ้า คนไทย-ญวน จะพูดคำเมือง และทอผ้าซิ่นใช้กันเอง ที่งดงามที่สุดคือ ผ้าซิ่นจก จะมีจกทั้งตัว จกเฉพาะตีน (เชิง) ที่เรียกว่า “ซิ่นตีนจก” และจกสลับยกมุก

ในความคิดของครูที่ได้เห็นมรดกอันสวยงามล้ำค่าของไทยนี้ “เราจะต้องฝึกตนเองให้ทอผ้าเป็นให้ได้” และจะต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน ที่อยู่ด้วยการอนุรักษ์และสืบทอดการทอผ้าให้คงอยู่ต่อไปให้ได้

ครูเริ่มเข้าหมู่บ้านและฝึกตัวเองจนทอผ้าได้

ปี พ.ศ. 2529 ซื้อกี่ทอผ้าเก่า ๆ ไว้ในห้องเรียน 1 ตัว ฝึกตนเองและเริ่มให้เด็กที่สนใจเรียนทอผ้า ฝึกตัวครูจนชำนาญ

ปี พ.ศ. 2530 เก็บข้อมูลครั้งแรก

ปี พ.ศ. 2531 ดำเนินการโครงการธนาคารเวลาโดยมีกี่ทอผ้าจก 1 ตัว ธนาคารเวลาคือการรู้จักใช้เวลาว่าวให้เป็นประโยชน์เหมือนกับการฝากเวลาไว้กับธนาคาร

ปี พ.ศ. 2532 ได้รับงบประมาณ 10,000 บาท สร้างกี่ 10 ตัว โดยได้รับความอนุเคราะห์ไม้จากวัดรางบัว และเปิดสอนเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 - 6 ในกลุ่มการงานและพื้นฐานอาชีพ โดยเขียนหลักสูตร คำอธิบายรายวิชาและจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม และได้เปิดสอนกลุ่มสนใจให้เห็นชุมชนและแม่บ้าน 2 รุ่น ๆ ละ 15 คน ใช้กี่ทอผ้าของโรงเรียนใช้งบประมาณของ กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน)

ปี พ.ศ. 2534 เปิดสอนทอผ้าจกเป็นวิชาเลือกเสรี ในโครงการขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนระดับ มัธยมศึกษา โดยจัดทำหลักสูตร คำอธิบายรายวิชา ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังทำกำหนดการสอนข้อทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน

หลักสูตร

การทอผ้าจกเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ซึ่งโรงเรียนได้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มพูนรายได้ให้นักเรียนและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมการทอผ้าจก ซึ่งเป็นมกดกไทยที่เก่าแก่แต่โบราณ เนื้อหาในหลักสูตรบ่งบอกถึงประวัติความเป็นมา แนะนำ เครื่องมือ เครื่องใช้ และจัดอุปกรณ์ การใช้ วิธีการเทคนิคต่าง ๆ ในการปฏิบัติจริง

การสอนนั้นเน้นการปฏิบัติจริงตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 การอนุรักษ์ครูคิดว่าทำกับเด็ก ๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะสายตาดี ความจำดี และเป็นรายได้ระหว่างเรียน ปิดภาคเรียนครูจะมอบกี่ให้เด็กนำไปฝึกที่บ้านเพื่อทอผ้าจก

หลังจากการจบมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ถ้าไม่เรียนต่อพวกเด็ก ๆ จะทอผ้ามีรายได้ เป็นการดึงให้เด็กรักบ้านทำงานอยู่กับบ้านได้ดูแลบ้านความสัมพันธ์ในครอบครัวก็จะได้ใกล้ชิดไม่ต้องทิ้งถิ่นบ้านเกิดไปทำงานนอกพื้นที่

การเผยแพร่

-สำหรับการเผยแพร่นั้นคณะครูจะแต่กายด้วยผ้าทอของรางบัวในการไปร่วมงานต่าง ๆ เช่น การอบรม การประชุม สำหรับเด็กนักเรียนก็จะแต่งกายด้วยผ้าทอรางบัวทุกวันอังคาร

-จัดทำแผ่นพับ เผยแพร่ “ผ้าจกมรดกไทย”

ปี พ.ศ. 2541 เป็นผู้เรียบเรียงเนื้อหา หนังสือเสริมประสบการณ์ตามความต้องการของท้องถิ่น

“ผ้าจกมรดก ไทย-ยวน” ให้กับสำนักงานประถมศึกษาจังหวัดราชบุรี

ปี พ.ศ. 2558 ได้เขียนถ่ายทอดวิธีการทอผ้าจก ไทย-ยวน ออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรและรวบรวมออกมาเป็นรูปเล่ม รวมทั้งเป็นวิทยากรฝึกสอนทอผ้าจกให้กับเยาวชน และนักศึกษาจากสถาบันต่าง ๆ หนังสือที่เรียบเรียงให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฎหมู่บ้านจอมบึง และเป็นที่ปรึกษาให้กับ ศูนย์ทอผ้าจก ของตำบลรางบัว

แหล่งเรียนรู้ด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี
ชื่อแหล่งเรียนรู้ ศูนย์ทอผ้าจกรางบัว
สถานที่ ที่ตั้ง
ศูนย์ทอผ้าจก หมู่ที่ 1 ตำบลนารางบัว อำเภอจอมบึง
จังหวัดราชบุรี 70150
ผู้บันทึกข้อมูล นางศันสุนีย์ ศรีพรหมทอง