ประวัติความเป็นมาของตลาดอมยิ้ม

ตลาดอมยิ้ม ตลาดวิถีไทยย้อนยุคจอมบึง เกิดจากพลัง “บวร” บ้าน, วัด, โรงเรียน เป็นแนวความคิดของพระปลัด ณรงค์ศักดิ์ ปภากโร รองเจ้าอาวาสวัดวาปีสุทธาวาส เลขานุการเจ้าคณะอำเภอจอมบึง ท่านมีความคิดที่อยากส่งเสริมให้ชาวบ้านในอำเภอจอมบึงมีรายได้ ลดรายจ่าย เพิ่มมูลค่าของสินค้า โดยตั้งเป็นตลาดวัฒนธรรมขึ้น ก่อนที่จะมีตลาดอมยิ้ม พระปลัดได้สร้างเป็นศูนย์วัฒนธรรม 8 ชาติพันธ์วัดวาปีสุทธาวาส หลังจากสร้างศูนย์วัฒนธรรมแล้วได้มีนักศึกษา ข้าราชการ มาให้อาหารปลาบริเวณสระน้ำของวัด พระปลัดเห็นดังนั้นจึงคิดขึ้นว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นจุดชมวิว เป็นตลาดได้ จึงได้เริ่มสร้างตลาดอมยิ้มขึ้นมา โดยที่มาของชื่อ“อมยิ้ม”นั้นเกิดจากพระปลัดคิดว่าทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวชอบ ให้นักท่องเที่ยวอมยิ้ม ซึ่งอมยิ้มในที่นี้ไม่ได้หมายถึงลูกอม แต่หมายถึงรอยยิ้มของนักท่องเที่ยวที่จะได้ชื่นชมและสัมผัสกับกลิ่นอายวัฒนธรรมของชาวจอมบึง

ภายในตลาดอมยิ้มตลาดวิถีไทยย้อนยุคจอมบึงประกอบด้วย

ตลาดนัด โดยสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าจากครัวเรือนหรือท้องถิ่นของคนในชุมชนนำมาขาย เช่น อาหารพื้นบ้านของชาวไทยทรงดำ, ผักสดจากสวนของชาวบ้าน, ผลไม้ปลอดสารพิษ เป็นต้น นอกจากนี้ตลาดอมยิ้มยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางตลาดได้จัดมุมให้ยืมตะกร้าเพื่อให้นักท่องเที่ยวใส่สินค้าที่ซื้อ เพื่อส่งเสริมเรื่องการลดการใช้โฟมและถุงพลาสติก โดยจะเน้นใช้ถุงกระดาษหรือบรรจุภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติแทน เช่น ใบตอง ใบบัว เชือกกล้วย เป็นต้น แต่จะอนุโลมให้เฉพาะสินค้าที่มีน้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัม ที่ร้านค้าจะสามารถใช้ถุงพลาสติกได้ นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นในเรื่องของการแต่งกายของพ่อค้า แม่ค้า ที่จะแต่งตัวตามชาติพันธ์ของตนเองอย่าง เช่น ไทยทรงดำ, ไทยวน, กะเหรี่ยง, มอญ เป็นต้น

บ่อเลี้ยงปลาแมว ชื่อปลาแมว เกิดขึ้นตอนที่พระปลัดสนทนาธรรมกับเพื่อนชาวต่างชาติโดยเพื่อนของพระปลัดเกิดความสงสัยว่าปลาในบ่อนี้เป็นปลาอะไร ซึ่งพระปลัดไม่ทราบว่าจะเรียกปลาดุกว่าอะไร จึงได้ตอบกลับเพื่อนชาวต่างชาติไปว่า“Fish cat” ซึ่งมาจากลักษณะของปลาดุก ที่พระปลัดเห็นว่ามีหนวดเหมือนกับแมว จึงเป็นที่มาของ “ปลาแมว” นั่นเอง


ประเภทแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม
ชื่อแหล่งท่องเที่ยว : ตลาดอมยิ้ม
สถานที่ที่ตั้ง วัดวาปีสุทธาวาส หมู่ 5 ตำบลจอมบึง อำเภอจอมบึง
จังหวัดราชบุรี

ผู้บันทึกข้อมูล นางศันสุนีย์ ศรีพรหมทอง