ผ้ายวนสีคิ้ว

ผ้ายวน สีคิ้ว

ผ้ายวนเป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมไทย ที่ผูกพันกับการดำรงชีวิตของชาวไทย – ยวน อำเภอสีคิ้ว มาเกือบ 200 ปี แต่ก่อนนั้น ผ้ายวนจะเป็นผ้าที่ใช้นุ่งเฉพาะในงานวันสำคัญต่าง ๆ ของหมู่บ้าน/ชุมชน เท่านั้น ผลิตภัณฑ์ผ้ายวน เป็นผลิตภัณฑ์ที่สืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ชาวบ้านส่วนมากในอำเภอสีคิ้ว เป็นชาวไท – ยวน ซึ่งหมายถึงชาวไทยภาคเหนือ “ โยนกนคร “ ซึ่งจากการสอบถามได้ความว่า ในสมัยของรัชกาลที่ 3 ขณะนั้นเมืองเชียงแสนตกอยู่ในอิทธิพลของพม่า ซึ่งพม่าอาศัยเมืองเชียงแสนเป็นแหล่งสะสมเสบียงและกำลังพลสำหรับยกกองทัพเข้าตีเมืองฝ่ายเหนือของไทย ได้ทรงรับสั่งกับพระเจ้าหลานเธอกรมหลวงเทพหริรักษ์ ร่วมกับพระยายมราชจัดกองทัพจากเมืองหลวง ขึ้นไปสมทบกับเมืองนครลำปาง กองทัพนครเชียงใหม่ กองทัพนครน่าน และกองทัพนครเวียงจันทร์ เพื่อเข้าโจมตีเมืองเชียงแสน ซึ่งได้ล้อมเมืองเชียงแสนและตีได้สำเร็จ พม่าที่อยู่ในเมืองเชียงแสนแตกหนีไป กองทัพไทยได้ล้อม กำแพงเมือง เผาเมืองจนหมดและกวาดต้อนชาวเมืองเชียงแสนไป ชาวเมืองดังกล่าว ถูกแบ่งออกเป็น 5 ส่วนเท่าๆ กัน โดยกองทัพเมืองหลวงได้พาชาวเมืองเชียงแสนเดินทางมากรุงเทพฯ ขณะเดินทางชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งประสงค์ที่จะตั้งรกรากอยู่ที่ สระบุรี ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอเสาไห้ อำเภอหนองโดน ต่อมาเจ้าเมืองมีความประสงค์จะก่อตั้งเลี้ยงโคขึ้นในท้องที่ที่เป็นศูนย์กลางของเมืองนครจันทึก จึงได้แบ่งชาวไท – ยวน ที่อำเภอเสาไห้ มาเป็นผู้ดำเนินการ ชาวไทย-ยวน เหล่านี้ได้พบกับความอุดมสมบูรณ์ มีนำไหลผ่านก็มีความพอใจ เมื่อหมดหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ขอกลับบ้านเมืองเดิม พากันตั้งถิ่นฐานเป็นเมืองสืบมา

ชาวไท – ยวน อำเภอสีคิ้ว จึงเป็นเชื้อสายที่สืบเนื่องจากชาวเชียงแสนในสมัยนั้น และได้สืบทอด รักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และศิลปะ วัฒนธรรมของตนเอาไว้ เช่น ภาษาพูด ศิลปหัตถกรรมการทอผ้าชาวบ้านโนนกุ่ม ก็เป็นหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับการสืบทอดภูมิปัญญาด้านการทอผ้ามาจากบรรพบุรุษชาวโยนกนครที่มีความรู้ด้านการทอผ้าของชาวชาวไท – ยวน ที่เรียกว่า “ ผ้าซิ่น “ คำว่าผ้าซิ่น เป็นภาษาทางภาคเหนือ หมายถึง ผ้านุ่ง การทอผ้าของบ้านโนนกุ่มแรกเริ่มนั้นเป็นการทอผ้าที่ทอใช้กันเอง ในหมู่ครอบครัว เรียกชื่อผ้าตามคนทอผ้าว่า “ผ้ายวน” ซึ่งก็หมายถึง ผ้าของชาวโยนกนคร (ไท –ยวน )

เอกลักษณ์ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

ผ้ายวนอำเภอสีคิ้ว คือ ฝีมือ แรงงาน คือคนในชุมชนอย่างแท้จริง มีการถ่ายทอดภูมิปัญญา การเรียนรู้การทอผ้ายวนจากรุ่นบรรพบุรุษ สู่รุ่นปัจจุบัน จึงทำให้คนในชุมชนมีความผูกพันกันเหมือนญาติ พี่น้อง มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ของชุมชนคนเอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและรู้จักแพร่หลายมากขึ้น การทอผ้ายวนเน้นด้วยเส้นด้าย รูปทรง รูปร่าง แสง เงา สี ลักษณะพื้นผิวมาประกอบกันให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เมื่อมองดูแล้วทำให้เกิดกลุ่มก้อน ไม่แตกแยกกระจัดกระจาย ซึ่งเป็นการผสมผสาน 3 ส่วน ได้แก่ ธรรมชาติ ประสบการณ์ และนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโยลีมาใช้ในการออกแบบลวดลายผ้าทอ ผ้าทอของอำเภอสีคิ้วทุกชิ้นสีไม่ตก ทอเนื้อผ้าแน่น ฝีมือประณีต บางชิ้นทอจากสีธรรมชาติ ผ้ายวนจะมีสีสันที่สดใส สวยงาม เช่น สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีฟ้า น้ำเงิน สีน้ำตาล ลวดลายของผ้ามีความละเอียด สวยงาม