วิถีชีวิตชาวปกาเกอะญอ บ้านเดลอคี


ลึกเข้าไปกลางหุบเขาห่างจากตัวตำบลอุ้มผางค่อนไปทางทิศตะวันตก ราว 20 กิโลเมตร ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง มีหมู่บ้านเดลอคี หมู่ที่ 3 ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ที่เป็นชุมชนขนาดเล็กของ ชาวปกาเกอะญอ ที่ใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมแนบอิงธรรมชาติ ผสมผสานกับแนวความเชื่อโบราณที่ปลูกฝังให้รักษาป่าไม้และแหล่งต้นน้ำธรรมชาติอาศัยอยู่อย่างเรียบง่าย

ปกาเกอะญอ ในภาษาไทยแปลว่า ‘คน’ เป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่กระจัดกระจายตามบริเวณชายแดน ไทย-เมียนมา มานานกว่า 200 ปี ชาวบ้านเดลอคีเป็นหมู่บ้านปกาเกอะญอ ที่ดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมตามบรรพบุรุษและสืบทอดประเพณีวิถีชีวิตที่เรียบง่าโดยเป็นหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าหรือสัญญาณโทรศัพท์ใช้ทั้งที่อยู่ห่างจากตัวอำเภอ เพียงแค่ 20 กิโลเมตรเนื่องจากพื้นที่หมู่บ้านอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และในบริเวณป่ารอบหมู่บ้านมีสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์ เช่น นกเงือก นกเป้าฮุม เสือโคร่ง เป็นต้น ดังนั้นชาวบ้านยังคงใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พึ่งพาปัจจัยภายนอกน้อย สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล “น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า” เป็นคำเปรียบเปรยที่เหมาะสมที่สุดสำหรับหมู่บ้านเล็กๆ ในป่าใหญ่แห่งนี้ ลักษณะบ้านเรือนของชาวปกาเกอะญอนิยมสร้างบ้านชั้นเดียวยกพื้นสูง ชั้นล่างปล่อยโล่งสำหรับตำข้าว เก็บฟืน เลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู วัว และควาย ในบ้านจะมีเตาไฟตรงกลาง เรียกว่า “เส่อ กี โข่” ซึ่งชาวบ้านให้ความสำคัญมาก ใช้ประกอบอาหาร ให้แสงสว่าง และความอบอุ่น วัสดุที่ใช้สร้างบ้านคือไม้ไผ่ แม้กระทั่งหลังคาก็ใช้ไม้ไผ่ผ่าครึ่งแล้วประกบซ้อนสลับกันไป วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวปกาเกอะญอที่สืบทอดกันมาช้านาน คือการกินอยู่กับป่า โดยมีหัวใจอยู่ที่การทำไร่หมุนเวียน อันเป็นระบบเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่บนฐานของการรักษาสมดุลแก่ระบบนิเวศ มีหลักการสำคัญคือ การปลูกพืชโดยวิธีการหมุนเวียนจากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งในแต่ละปี เพื่อให้พื้นที่เดิมได้มีการพักฟื้น และกลับมาทำไร่หมุนเวียนยังพื้นที่เดิมอีกครั้งเมื่อแร่ธาตุในดินคืนความอุดมสมบูรณ์ โดยในการเลือกพื้นที่แต่ละครั้ง จะมีการทำพิธีกรรมบวงสรวงผีเจ้าป่าเจ้าเขา เพื่อดูว่าพื้นที่นั้นเหมาะสมแก่การเพาะปลูกหรือไม่ มีการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างเป็นระบบ โดยแบ่งพื้นที่สำหรับทำกินและที่อยู่อาศัย พื้นที่ใช้สอย และพื้นที่อนุรักษ์ไว้อย่างชัดเจน ชาวปกาเกอะญอมีความเชื่อมากมายเกี่ยวกับป่าไม้ ชีวิตตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาจนหมดลมหายใจล้วนผูกพันกับวิถีธรรมชาติ การอุ้มท้องของผู้เป็นมารดามีข้อห้ามไม่ให้กินสัตว์ที่ส่งผลต่อเด็ก เช่น สัตว์ที่พิการ สำหรับพ่อห้ามออกไปล่าสัตว์ เพราะเชื่อว่าเด็กเกิดมาจะเหมือนสัตว์เหล่านั้น ซึ่งนอกจากทำให้จิตใจของพ่อแม่บริสุทธิ์แล้ว อีกนัยหนึ่งก็คือการอนุรักษ์สัตว์ป่านั่นเอง

นอกจากวิถีชีวิตดั้งเดิมแล้วบ้านเดลอคี ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกนั่นก็คือ การนั่งช้างไปยังจุดล่องแก่ง ซึ่งการล่องแก่งบ้านเดลอคีนั้นเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากๆก่อนถึงจุดล่องแก่ง เราต้องเดินทางลัดเลาะไปตามลำห้วยมอลู่ ส่วนช้างก็ทำหน้าที่ขนสัมภาระของนักท่องเที่ยว เส้นทางเดินนั้น บางช่วงต้องเดินป่า บางช่วงต้องขึ้นเขา บางช่วงต้องเดินข้ามลำห้วย เพื่อไปยังจุดล่องแก่ง ตรงนี้แหล่ะทำให้เราได้รู้จักธรรมชาติที่เป็นธรรมชาติอย่างแท้จริง

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นายทฤษฎี ตีคำ