ผ้าทอกะเหรี่ยง ตำบลหนองหลวง อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก

ประวัติความเป็นมาของ “ผ้าทอกะเหรี่ยง”

ชาวกะเหรี่ยงขาวมีความเชื่อแต่โบราณว่าลายของผ้าทอกะเหรี่ยงนั้น ได้มาจากลายหนังงูใหญ่ซึ่งเป็นคู่รักในอดีตของหญิงสาวชาวกะเหรี่ยงโดยที่งูตัวนั้นจะเปลี่ยนลายทุกวัน และหญิงสาวก็ทอผ้าตามลายที่ปรากฏจนครบ 7 วัน ทอได้ 7 ลาย คือ ลายโยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อล่อ ที่ข่า เกอแนเดอ เซอกอพอ และแชะฉ่าแอะ แต่ลายที่นิยมนำมาทอและปัก มี 4 ลายคือ โยห่อกือ เกอเปเผลอ ฉุ่ยข่อลอ และลายทีข่า ปัจจุบันยังมีการคิดค้นลายใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย

ชาวปากอเญอ มีพื้นฐานการทอผ้ามาตั้งแต่บรรพบุรุษ เป็นการผลิตไว้ใช้ในครัวเรือน ที่เหลือจึงนำมาจำหน่ายเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว ลักษณะลายผ้าที่ผลิตกันจะเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทำ ลายผ้าเป็นไปตามความอำเภอใจของผู้ทอ ไม่มีเอกลักษณ์ มาตรฐานการผลิตที่แตกต่างกัน จึงมีการรวมกลุ่มกันขึ้น

เอกลักษณ์/จุดเด่นของผลิตภัณฑ์

หญิงสาวชาวกะเหรี่ยงจะใส่ชุดยาวสีขาว ส่วนชายหนุ่มจะใส่สีแดงสด ส่วนหญิงชาวปากอเญอที่แต่งงานแล้วจะสวมใส่เสื้อสีดำและมีลวดลายปักที่หลากหลายผสมผสานกันในส่วนชายเสื้อตั้งแต่ใต้อกคลุมถึงสะโพก ผ้าถุงสีแดง

ผ้าทอกะเหรี่ยง จะทอด้วยกี่เอว ลวดลายดั้งเดิมจะมีสีสันที่สดใสมีทั้งการทอลายในตัวผืนผ้า และการปักผ้า ผ้าบางผืนจะมีการเย็บลูกเดือยเป็นลวดลายต่าง ๆ ปัจจุบันการให้สีสันลายผ้าจะมีการทอหรือปักสีอื่น ๆเพิ่มขึ้นอาทิเช่น สีเขียว สีฟ้า สีเหลือง และสีชมพู

ลวดลายที่ทอเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษและเป็นการทอมือแต่ละชิ้นจึงเป็นความภาคภูมิใจของผู้ทอส่งต่อผู้ใช้ด้วยความใส่ใจ

ขั้นตอนการผลิต

การขึ้นเครื่องทอ

เป็นการนำเส้นด้ายมาเรียงกันอย่างมีระเบียบตามแนวนอนขนานไปกับไม้ขึ้น เรียงลำดับไว้ ดังนี้ การเรียงด้ายจะใช้จำนวนคู่ เช่น 2 เส้น หรือ 4 เส้นครบก็ได้หากต้องการผ้าหนา เช่น ผ้าห่ม ก็ใช้ด้ายไปแยกที่ตะกอเป็น 2 ส่วน ๆ ละ 2เส้น หากเป็นเส้นด้ายพื้นเมืองปั่นเอง ปกตินิยมใช้ด้ายยืนเพียงเส้นเดียว เวลาเรียงใช้ 2 เส้นควบ หากเป็นด้ายสำเร็จรูป จะใช้ด้ายยืน 2 เส้นเวลาเรียงใช้ 4 เส้นควบ จำนวนด้ายอาจเพิ่มมากขึ้น ในกรณีที่เป็นการทอผ้าลายนูนตามแนวยาว เช่น การทอเสื้อของผู้ชายสูงอายุของกะเหรี่ยงสะกอจะใช้ด้ายยืนปกติ คือ 1 เส้น เวลาเรียงใช้ 2 เส้นควบ เมื่อถึงเวลาจะเพิ่มด้ายยืนเป็น 2 หรือ 3 เส้น ฉะนั้นเวลาเรียงด้ายต้องใช้ 4 หรือ 6 เส้นควบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลวดลายที่ต้องการ


การเรียงด้าย มีขั้นตอนดังนี้

1. คล้องด้ายที่หลักที่ 1 และสาวด้ายทั้งหมดผ่านหลักที่ 2, 3, 4 และ 5 นำไปคล้องหลักที่ 6 และสาวกลับมาคล้องหลักที่ 1

2. ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกันและนำมาพันรอบหลักที่ 2 ตามแนวเข็มนาฬิกา

3. ดึงด้ายทั้งหมดให้ตึงเสมอกันมาทางด้านหน้าหลักที่ 3 ซึ่งเป็นจุดแยกได้ โดยใช้ด้ายอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นด้ายตะกอสอดเข้าไประหว่างด้ายที่แยกเป็น 2 ส่วนเท่า ๆ กัน ด้ายส่วนที่ไม่ได้คล้องกับตะกอแยกผ่านด้านหลังหลักที่ 4 และส่วนที่คล้อง ตะกอดึงผ่านด้านหน้าหลักที่ 4

4. รวบด้ายทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ดึงให้ตึงสาวพันอ้อมหลักที่ 5 ตามแนวเข็มนาฬิกา

5. ดึง ด้ายทั้งหมดให้ตึงพันอ้อมหลักที่ 6 และสาวให้ตึง ดึงกลับมาเริ่มต้นที่หลักที่ 1 ใหม่หากต้องการสลับสี ก็เปลี่ยนด้ายกลุ่มใหม่เป็นสีที่ต้องการ โดยเริ่มตั้งแต่หลักที่หนึ่งเช่นกัน ทำหมุนเวียนไปเช่นนี้เรื่อย ๆ จนด้ายที่เรียงมีความสูงเท่ากับความกว้างของผ้าทีต้องการใช้

6. ถอดไม้ทั้งหมดออกจากไม้ขึ้นเครื่องทอ และนำไม้หน่อสะยาสอดเข้าไป เก็บตะกอแทนไม้กลูโข่ (หลักที่ 6) ซึ่งต้องใช้สำหรับช่วยแยกด้ายเวลาทอ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้วทอจะมีลักษณะดังภาพ จากนั้นนำเครื่องทอทางด้านไม้รั้งผ้าไปผูกยึดกับฝา หรือเสาระเบียงบ้าน โดยให้ได้ระดับความสูงประมาณศรีษะของผู้ทอขณะที่นั่งราบกับพื้น ส่วนทางด้านไม้พันผ้า นำแผ่นหนังมาอ้อมรอบเอวด้านหลังของผู้ทอ และผูกรั้งหัวท้ายกับปลายทั้งสองของไม้พันผ้า พร้อมกับดึงเครื่องทอให้ตึงพอประมาณ โดยผู้ทอกระเถิบถอยหลังนั่งในตำแหน่งที่เหมาะสม

ผู้เรียบเรียง

นายทฤษฎี ตีคำ ครู กศน.ตำบลหนองหลวง