พิพิธภัณฑ์นครแม่สอด

เทศบาลนครแม่สอด ได้ดำเนินการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์นครแม่สอด ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องขยายโอกาสทางการศึกษาในรูปแบบที่หลากหลายและรองรับการศึกษายุคปฏิรูปให้ทันกับโลกยุคการเรียนรู้ แบบไร้ขีดจำกัด (school without walls) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้นอกโรงเรียน ส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อการเติบโตของความรู้ สติปัญญา และความงอกงามของจิตใจเกิดความเข้าใจ เห็นคุณค่า รู้จักตนเองเกิดจิตสำนึกและความภาคภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเองรวมไปถึงเด็ก เยาวชน และประชาชนในชุมชน ให้มีพื้นที่ " มั่วสุมอย่างสร้างสรรค์ " ซึ่งเปิดให้เข้าชมครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 8 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติและมีกระแสตอบรับที่ดีจากผู้เข้าชมเป็นจำนวนมาก

วัตถุประสงค์การจัดตั้ง เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนและประชาชน ได้เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ของนครแม่สอดบุคคลสำคัญในอดีตของนครแม่สอด เส้นทางการค้าสมัยก่อนที่เดินทางผ่านนครแม่สอดในอดีตและข้อสันนิษฐานการก่อตั้งนครแม่สอดในอดีต ภายในพิพิธภัณฑ์นครแม่สอดได้มีการตกแต่งตามโซนต่าง ๆให้เข้ากับบรรยากาศตามโซน

แผนผังโซนต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์นครแม่สอด

1. โซนใต้ร่มพระบารมี ภายในโซน จะเก็บรวบรวมพระบรมฉายาลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ทรงเสด็จมานครแม่สอดเมื่อครั้งอดีต

2. โซนพระราชประวัติรัชกาลที่ 9 โซนที่มีข้อมูล พระราชประวัติของรัชกาลที่ 9 รวมถึงสิ่งที่ท่านได้ทรงทำให้กับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2470 วันที่ 5 ธันวาคม เป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งต่อมาภายหลังวันมหามงคลนี้ได้รับการจัดตั้งให้เป็น 'วันพ่อแห่งชาติ' ในปีพ.ศ. 2523 และกลายเป็นโอกาสในการแสดง ความกตัญญูกตเวทิตาอันยิ่งใหญ่ทว่านับเนื่องจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 อันนำมาซึ่งความโศกเศร้าของพสกนิกรอย่างหาที่สุดมิได้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบการลงนามรับสนองพระราชโองการในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดวันสำคัญของชาติไทย กล่าวคือ ให้วันที่ 5 ธันวาคม เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป ถือเป็นวันสำคัญของชาติ โดยหมายรวมถึง

1. วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

2. วันชาติ

3. วันพ่อแห่งชาติ

ตลอดจนได้เชิดชูสดุดีพระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ให้ทรงเป็นพระบิดาแห่งศาสตร์ต่างๆ 9 แขนง อันได้แก่

• พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำ

• พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย

• พระบิดาแห่งฝนหลวง

• พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย

• พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย

• พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย

• พระบิดาแห่งการวิจัยไทย

• พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย

• พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย

3. โซนห้องฉาย Wide Screen เป็นห้องฉายภาพยนตร์แบบจอกว้าง พร้อมเสียงบรรยาย ระบบเสียงรอบทิศทาง โดยโซนนี้จะฉายภาพยนตร์ในรูปแบบของระบบ widescreen ซึ่งต้องใช้โปรเจ็คเตอร์ทั้งหมด 2 เครื่อง ฉายภาพที่ออกมา มีความยาว รองรับภาพระบบ Full HD มีระบบเสียงที่ครอบคลุมไปทั่วห้องพร้อมที่นั่งของผู้เข้าชมไม่น้อยกว่า ๘๐ ที่นั่ง

4. โซนข้อมูลโถงทางเดิน โซนที่บอกเล่าเรื่องราวของ อำเภอแม่สอด ที่ตั้งของสถานที่สำคัญ และบุคคลที่ชาวแม่สอดเคารพ นับถือ โดยจะมีข้อมูลต่าง ๆ มากมายบอกเล่าให้ผู้เข้าชมได้ศึกษา

5. โซนวิถีชีวิต โซนที่จัดเก็บอุปกรณ์เครื่องมือของคนสมัยก่อนที่ใช้ในการทำมาหากิน ดำรงชีวิตในอดีต มีทั้งอุปกรณ์ของชาวนา ตกปลา และพาหนะข้ามชายแดน

6. โซนนครแม่สอด โซนที่แนะนำประวัติความเป็นมาของแม่สอดพร้อมทั้งรูปภาพประกอบ มีรูปภาพของแม่สอดสมัยก่อน ประวัติบุคคลสำคัญ และข้อมูลชาติพันธุ์ต่าง ๆ ที่มาอาศัยที่แม่สอด

7. โซนสถานที่ท่องเที่ยวแม่สอด โซนที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่อยู่ในแม่สอดเนื่องจากจุดขายของอำเภอแม่สอด คือสถานที่ท่องเที่ยว ดังนั้นนิทรรศการนี้จะเน้นให้ข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวพร้อมทั้งแง่มุม และเกร็ดต่าง ๆ ของสถานที่นั้น ๆ เสริมด้วยให้ข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ สำหรับเด็กและเยาวชนรวมทั้งผู้สนใจทั่วไปเข้าไปค้นคว้าเรื่องราว ของอำเภอแม่สอดและสถานที่ใกล้เคียงที่มีความคาบเกี่ยวกัน

8. โซนเศรษฐกิจ โซนที่รวบรวมข้อมูลการค้าขายเศรษฐกิจของแม่สอดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันไว้ให้ศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะ เส้นทางการค้า ESAT-WEST ECONOMIC CORRIDOR (เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจสายตะวันออก-ตะวันตก) สืบเนื่องจากที่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน ได้ริเริ่มโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวทางการค้า การลงทุนอุตสาหกรรม การเกษตร และบริการ และยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยสนับสนุนให้มีการติดต่อและการแข่งขันระหว่างกัน รัฐบาลจากประเทศสมาชิก GMS จึงได้กำหนดแนวพื้นที่เศรษฐกิจในลุ่มแม่น้ำโขงจำนวน 9 เส้นทางหลัก ให้เป็นแนวพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของอนุภูมิภาค และหนึ่งในเส้นทางที่ขณะนี้กำลังเริ่มปรากฏผลเชิงรูปธรรมได้แก่เส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC)หรือเส้นทางหมายเลข 9 (R9)EWEC มีระยะทางยาว 1,450 กม. อยู่ในเขตไทยเป็นระยะทางยาวที่สุดคือประมาณ 950 กม.เส้นทางเริ่มจากเมืองท่าดานังของเวียดนาม ผ่านเมืองเว้และเมืองลาวบาว (Lao Bao) อันเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษของเวียดนามซึ่งติดกับชายแดน สปป. ลาว จากนั้นเส้นทางหมายเลข 9 จะผ่านเข้าแขวงสะหวันนะเขตใน สปป. ลาว และมาข้ามสะพานมิตรภาพ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) ข้ามแม่น้ำโขงสู่ไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านจังหวัด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เพชรบูรณ์ พิษณุโลก จนไปสุดที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากและเข้าไปยังประเทศพม่าจนทะลุ อ่าวเมาะตะมะที่เมืองเมาะลำไย หรือมะละแหม่ง (Mawlamyine/ Mawlamyaing) เป็นการเชื่อมจากทะเลจีนใต้ไปสู่มหาสมุทรอินเดีย ซึ่งอาจจะสามารถเชื่อมต่อไปยังอินเดียและตะวันออกกลางต่อไป ขณะนี้โครงข่ายคมนาคมที่เชื่อมโยงประเทศทั้งสี่เข้าด้วยกันในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตกนี้ สามารถเปิดใช้แล้วในระยะไทย-เวียดนาม มีเพียงช่วงหนึ่งในดินแดนพม่าที่ยังก่อสร้างอยู่

เอกสารอ้างอิง : website https://www.nakhonmaesotcity.go.th/

ผู้เรียบเรียง : นายก้องภพ พึ่งสุข

ผู้ถ่ายภาพ : นายก้องภพ พึ่งสุข