พิพิธภัณฑ์นครแม่สอด

ในปี พ.ศ.2552 เป็นปีที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ พระโอรสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระชันษาครบ 4 ปี ชาวจังหวัดตากโดยเฉพาะ “ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ประกอบด้วย จังหวัดตาก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก เทศบาลนครแม่สอด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตาก เห็นควรร่วมใจกันสร้างสิ่งซึ่งเป็นมงคลแก่ชาวจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานนาม “อุทยานการเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติ” ว่า อุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “ทีปังกรรัศมีโชติ”(Dipangkorn Rasmijoti Science and Environment knowledge Park) เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2552

โครงการอุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม“ทีปังกรรัศมีโชติ” (Dipangkorn Rasmijoti Science and Environment knowledge Park) เป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนรักการอ่านและการเรียนรู้ ถือเป็นการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และให้คนไทยได้รับโอกาสแห่งการศึกษาเรียนรู้ที่เท่าเทียมกันตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ในอุทยานแห่งการเรียนรู้นี้จะเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนด้วยรูปแบบของพื้นที่ที่จะเน้นไปที่ความทันสมัย เพื่อสร้างบรรยากาศให้เด็ก ๆ มีความสนใจ อุทยานการเรียนรู้แบ่งพื้นที่ออกเป็นส่วน ๆ ประกอบด้วย ห้องสมุดมีชีวิต ที่ให้บรรยากาศที่แตกต่างสื่อถึงความสนุกสนาน สามารถอ่านหนังสือในอิริยาบถต่าง ๆ ไม่ว่าจะนั่งเอกเขนก เดิน นอน เอน เพื่อสร้างความเพลิดเพลิน พร้อมกิจกรรมที่ทำร่วมกันต่อเนื่องทุกสัปดาห์, ลานสานฝันสำหรับเด็กที่แสวงหาความตื่นเต้นจากกิจกรรม, ห้องฉายภาพยนตร์ 4 มิติ ที่มีห้องโลกเสมือนจริงไว้เรียนรู้ตามความชอบเฉพาะทางโดยจะนำเทคนิคภาพเสมือนจริงมาใช้ในการศึกษาและศิลปวัฒนธรรม ดังนั้นการจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ฯ จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา ร่วมพัฒนา ร่วมภาคภูมิใจ ซึ่งเป็นอีกแนวทางในการสร้างสังคมการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจร่วมกัน

เทศบาลนครแม่สอดเป็นหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่มีหน้าที่ ส่งเสริมและจัดการศึกษาอบรมให้แก่เด็กและเยาวชนและประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ จึงได้จัดทำโครงการก่อสร้างอุทยานการเรียนรู้ฯ เพื่อไว้บริการแก่เด็ก เยาวชนและประชาชนของจังหวัดตากและจังหวัดใกล้เคียงได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าหาความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ อีกทั้งยังเป็นการเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชนและท้องถิ่นอีกทางหนึ่งด้วย เป็นทางเลือกของการเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเยาวชนและบุคคลทุกเพศทุกวัย ที่ซึ่งสามารถทดลองและแสดงออกในสิ่งที่ตนเองสนใจ เป็นรากฐานในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่างๆ ด้วยความพร้อมของสื่อและเทคโนโลยีด้านต่างๆ มีรูปแบบที่เน้นให้เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายแตกต่างจากแหล่งการเรียนรู้ทั่วไป คือ ไม่ใช่แหล่งเรียนรู้ที่มีลักษณะคล้ายห้องเรียนในโรงเรียนหรือห้องทดลองในโรงเรียนเท่านั้น อาศัยการดึงดูดผู้คนให้เกิดความสนใจและมาใช้บริการโดยได้หยิบยกแนวทางความเป็นจริงในการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนส่วนใหญ่มาเป็นแนวคิดที่จะกำหนดรูปแบบโครงการฯ โดยให้มีองค์ประกอบการดึงดูดผู้คนคล้ายคลึงกับสถานที่ต่างๆ ดังนี้ ต้องเป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดใจผู้คนเสมือนเป็น “ห้างสรรพสินค้า” ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความต้องการอยากเข้าไปเพื่อได้พบเห็นสิ่งแปลกใหม่ที่ทันสมัย พร้อมด้วยการผ่อนคลาย และเป็นจุดนัดพบ เพื่อพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ทัศนคติ แนวความคิด หรือสาระต่างๆ ต้องเป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดใจผู้คนเสมือนเป็น“ร้านหนังสือ” ที่ผู้คนส่วนใหญ่นิยมเข้าไปอ่านด้วยความอยากรู้ อยากติดตามข่าวสาร และสาระใหม่ๆโครงการอุทยานการเรียนรู้ฯ ต้องเป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดใจผู้คนเสมือนเป็น “สวนสนุก”ที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าไปเพื่ออยากสัมผัสความตื่นเต้น ความแปลกใหม่ อยากทดลองเพื่อทดสอบความกล้าและความมั่นใจในตนเองโครงการอุทยานการเรียนรู้ฯ ต้องเป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดใจผู้คนเสมือนเป็น “โรงภาพยนตร์”ที่ผู้คนส่วนใหญ่เข้าไปเพื่อผ่อนคลายความเครียด เพื่อศึกษาสารคดี เพื่ออยากได้ประสบการณ์เรื่องเสียงและบรรยากาศที่แตกต่างจากการชมภาพยนตร์หรือสารคดีตามบ้านเรือนหรือโรงเรียนทั่วไปโครงการอุทยานการเรียนรู้ฯ ต้องเป็นแหล่งที่สามารถดึงดูดใจผู้คนเสมือนเป็น “สวนสาธารณะ” ที่ผู้คนส่วนใหญ่มีความต้องการอยากเข้าไปเพื่อพักผ่อน ผ่อนคลาย ออกกำลังกาย และเป็นจุดนัดพบ เพื่อพบปะ พูดคุยแลกเปลี่ยน ทัศนคติ แนวความคิด หรือสาระต่างๆ จากองค์ประกอบการดึงดูดของสถานที่ดังกล่าวข้างต้น จะพบว่าผู้คนส่วนใหญ่ยินดีที่จะสมัครใจเข้าไปใช้บริการโดยแรงจูงใจที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่เกิดจากการกระตุ้นโดยตนเองทั้งสิ้น

ประโยชน์การจัดตั้งอุทยานการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “ทีปังกรรัศมีโชติ”อุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “ทีปังกรรัศมีโชติ” เป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอำเภอแม่สอด และจังหวัดตาก คือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่เกิดจากการผสมผสานองค์ประกอบในการพัฒนาศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างลงตัว โดยจะเน้นเกี่ยวกับสาขาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีรูปแบบการเรียนรู้ที่ทันสมัย ใช้เทคโนโลยีมัลติมีเดีย เทคนิคแสง สี เสียงในการนำเสนอโดยมีทั้งส่วนที่ให้เรียนรู้ภายในอาคารและส่วนที่ให้เรียนรู้ภายนอกอาคาร จากการที่อุทยานการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อม “ทีปังกรรัศมีโชติ” ได้เปิดให้บริการแก่นักเรียน เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เป็นการจัดให้มีการศึกษาที่เกื้อหนุนให้บุคคลสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดชีวิต โดยกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ทั่วถึงภายใต้สิ่งที่มีอยู่ในสังคมรอบ ๆ ตัว ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยมุ่งหวังให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ในลักษณะของการศึกษานอกระบบหรือการศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ ที่ไม่เน้นการเรียนรู้เฉพาะในห้องเรียน ดังนั้นการสร้างแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายจึงเป็นอีกสิ่งที่จะก่อประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพจากประสบการณ์ตรง ซึ่งสัมผัสและจับต้องได้

ทั้งนี้ ความสำคัญของแหล่งเรียนรู้ ไม่ได้มีเฉพาะคนในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงบุคคลทั่วไปและผู้ที่อยู่ต่างจังหวัดได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งเรียนรู้เพื่อดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เช่น เป็นแหล่งส่งเสริมและปลูกฝังให้เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปหันมาสนใจด้านวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีแหล่งการเรียนรู้ที่ครบครันและทันสมัยอยู่ใกล้บ้านอุทยานการเรียนรู้ฯ ยังเป็นสถานที่จัดกิจกรรมมอบความรู้ด้านต่าง ๆ

เอกสารอ้างอิง : website https://www.nakhonmaesotcity.go.th/

ผู้เรียบเรียง : นายก้องภพ พึ่งสุข

ผู้ถ่ายภาพ : นายก้องภพ พึ่งสุข