หน่วยการเรียนรู้ที่ 1

การคิดและกระบวนการคิดอย่างเป็น ระบบ

ความสำคัญของการคิดอย่างเป็นระบบ


การคิดอย่างเป็นระบบมีความสำคัญดังนี้ (Checkland. 1981 : 35)

1. ช่วยให้เกิดความคิดเพื่อพัฒนาองค์กรในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. ประสานงานร่วมกับบุคคลอื่นให้เป็นไปตามกระบวนการ และระบบการบริหารงานภายใน

3. สามารถแก้ปัญหา ตัดสินใจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. แก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ

5. เพื่อมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับระบบภายในองค์กรอย่างเป็นระบบเชื่อมโยงติดต่อกัน และสามารถแก้ไขสถานการณ์เอย่างมีประสิทธิภาพ


หน่วยระบบทั้งหลายในเอกภพแบ่งระบบออกเป็น 2 ประเภท คือ

1. หน่วยระบบตามธรรมชาติ (Natural System) ซึ่งเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เช่น ฝนตก แดดออก แบ่งเป็น 2 ชนิด

1.1 หน่วยระบบทางกายภาพ (Physical Systems) รวมถึงสสารที่เป็นพลังงาน

1.2 หน่วยปฏิกิริยา (Intersectional System) เป็นการกระทำต่อกันระหว่างปัจจัยนำเข้าของแต่ละหน่วยระบบ ปรากฎอยู่ในหน่วยความสัมพันธ์ต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเป็นหน่วยระบบความคิด เช่น น้ำ ออกซิเจน ซึ่งแต่ละหน่วยเป็นระบบกายภาพ เมื่อนำมาสร้างปฏิกิริยาสัมพันธ์กันกลายเป็นระบบที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาซึ่งกันและกัน

2. หน่วยระบบที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man made System) มี 3 ชนิด คือ

2.1 หน่วยระบบกายภาพเช่นเดียวกับระบบธรรมชาติ เพียงแต่มนุษย์สร้างขึ้น

2.2 หน่วยปฏิกิริยา (Intersectional System) เช่นเดียวกับระบบธรรมชาติเพียงแต่มนุษย์ก่อปฏิกิริยาขึ้น

2.3 หน่วยระบบความคิดที่เรียกว่า มโนมติ (Concept) มีทั้งหน่วยระบบกายภาพและหน่วยปฏิกิริยาที่นำมาคิดสร้างสรรค์กลายเป็นผลงานที่สร้างขึ้นเป็นวัฏจักร ระบบกระบวนการของมนุษย์ ที่คิดสร้างขึ้นโดยอาศัยแนวความคิดเดิมที่มีมาแต่กำเนิด หรือเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติมาผนวกเข้าด้วยกัน โดยอาศัยแนวความคิดสร้างระบบที่ต่อเนื่องขึ้น เช่น สูตรคำนวณต่าง ๆ

การคิดอย่างเป็นระบบกับการพัฒนาองค์กร

การคิดอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับองค์กร คือ องค์กรที่มีประสิทธิภาพ ต้องนำระบบการคิดอย่างเป็นระบบมาจัดการระบบต่าง ๆ ในองค์กรให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน องค์กรประกอบด้วยส่วนประกอบต่าง ๆ ที่เชื่อมสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก ทั้งหมดรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน การคิดอย่างเป็นระบบจะไม่มองเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง แต่จะมองในภาพรวมทั้งองค์กร และพยายามใช้ความคิดในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น การคิดอย่างเป็นระบบแท้จริง จะมองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเกิดจากองค์กรแต่ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น ปัญหาทุกอย่างสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยที่การทำงานใด ๆ ของมนุษย์ล้วนเป็นระบบทั้งสิ้น การกระทำทุกอย่างจะถูกโยงด้วยสายใยแห่งความสัมพันธ์กันและกันตลอดเวลา แต่ไม่สามารถมองเห็นได้ในทันที ต้องใช้เวลากว่าเหตุการณ์หนึ่งจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะหากปรากฎการณ์ที่มีเราอยู่ร่วมด้วยยากที่จะมองเห็น (Ackoff. 2010 : 47)

โดยสรุปการคิดอย่างเป็นระบบจะเน้นการมองเห็นความสัมพันธ์กันและกันในองค์กร ไม่ใช่มองเหตุผลเป็นเส้นตรงต่อ ๆ กันไปเท่านั้น และมองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงในองค์กร ไม่ใช่มองสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเท่านั้น



การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking)


การคิดถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่มองภาพรวมอย่างเป็นระบบ มีเหตุมีผล ทำให้ผลของการคิด หรือผลของการแก้ปัญหาที่ได้นั้นมีความถูกต้อง แม่นยำ และรวดเร็ว


การคิดอย่างเป็นระบบ จะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ (Checkland : 1981)

1. การคิดแบบมีความเป็นองค์รวม (Holistic) หรือ Wholeness เป็นการประเมินองค์ประกอบ ของสถานการณ์หรือสภาพปัญหาของหน่วยงาน ในภาพรวมทั้งหมด

2. การคิดเป็นเครือข่าย (Networks) เป็นการคิดเชื่อมโยงปฏิสัมพันธ์ของระบบต่างๆ ที่ประกอบกัน ขึ้นมา เป็นเครือข่ายของระบบ

3. คิดเป็นลำดับชั้น (Hierarchy) ระบบหนึ่งๆ อาจจะมาจากระบบย่อยๆ หลายระบบที่ประกอบกันขึ้นมา และในระบบย่อยเองก็มีความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของระบบ

4. คิดแบบมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน (Interaction) ระหว่างระบบด้วยกัน ทั้งระบบย่อยกับระบบย่อยด้วยกัน ระบบใหญ่กับสภาพแวดล้อม ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบย่อยจะมีผลต่อ ระบบใหญ่ด้วย

5. คิดอย่างมีขอบเขต (Boundary) ระบบหนึ่งๆ มาจากระบบย่อยหลายระบบ และระหว่างระบบย่อย และระบบใหญ่ต่างมีขอบเขตที่แสดงให้เห็นว่า ระบบนั้นๆ ครอบคลุมอะไรบ้าง และอะไรบ้าง ที่อยู่นอกเขตแดน ซึ่งในความเป็นจริงระบบก็ไม่ได้แยกเขตแดนกันอย่างเด็ดขาด แต่มีการทับซ้อน (Overlap) กันอยู่

6. คิดอย่างมีแบบแผน (Pattern) ระบบจะต้องมีความคงที่แน่นอน เพื่อเป็นหลักประกันว่ากระบวนการทำงานทุกอย่างในทุกๆ ขั้นตอน จะไม่เบี่ยงเบนไปจากเป้าหมายโดยรวมของระบบ

7. คิดอย่างมีโครงสร้าง (System Structure) แต่ละส่วนที่ประกอบเป็นระบบมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความเป็นอิสระ แต่ก็มีความเชื่อมโยงกัน อย่างเหมาะสมทำหน้าที่อย่างสัมพันธ์กัน ทำงานเสริมประสานกันกับส่วน อื่นๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของระบบโดยรวม

8. คิดอย่างมีการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง (Adaptation) ระบบต่างๆ จะมีการปรับตัว และพยายาม สร้างสภาวะสมดุล และคงความสมดุลนั้นไว้ ด้วยการจัดระบบภายในตนเอง (Self Organize)

คิดเป็นวงจรป้อนกลับ (Feedback - Loops) เป็นการคิดในลักษณะเป็นวง (Loops) มากกว่าจะเป็นเส้นตรง ทุกส่วนต่างมีการเชื่อมต่อ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม



ทฤษฎีระบบ (Systems Theory)


โบลด์ดิ้งและเบอร์ทาลูนไฟล์ (Boulding and Bertalunfly)นักทฤษฎีองค์การและนักชีววิทยาที่มองว่าองค์การเป็นสิ่งมีชีวิตโดยมองในรูประบบเปิดเหมือนระบบกายวิภาคของสิ่งมีชีวิต (Anatomy) ทฤษฎีระบบคือแนวคิดที่เชื่อว่าเอกภพ (Universe) เป็นหนึ่งหน่วยระบบซึ่งมีคุณสมบัติประการต่าง ๆ เอกภพเป็นหน่วยระบบที่ใหญ่โตเกินกว่าที่เราสังเกตและพิสูจน์ได้ครบถ้วนและแม้ส่วนประกอบที่เล็กที่สุดของเอกภพซึ่งนักวิทยาศาสตร์ปัจจุบันเรียกว่า “ควาร์ก”(Quaek) ซึ่งสังเกตหรือพิสูจน์ได้ยากก็เป็นหน่วยระบบเช่นเดียวกันแต่อาจมีคุณสมบัติอย่างไม่ครบถ้วนส่วนสิ่งอื่นๆทั้งหลายที่มีขนาดระหว่างกลางของสิ่งทั้งสองนี้ล้วนมีคุณสมบัติของความเป็นหน่วยระบบครบถ้วนซึ่งแนวคิด/ทฤษฎีนี้ได้พัฒนาไปสู่สาขาวิชาอื่นๆ

ทฤษฎีระบบพื้นฐาน (Basic Systems Theory)

ทฤษฎีระบบพื้นฐาน (Basic Systems Theory) ขององค์การซึ่งมี 5 ส่วนคือ ปัจจัยป้อน กระบวนการแปรรูป ผลผลิต ข้อมูลย้อนกลับ และสภาพแวดล้อม

1. ปัจจัยป้อน (Inputs) คือทรัพยากรที่เป็นบุคคลวัสดุอุปกรณ์เงินหรือข้อมูลที่ใช้ในการผลิตหรือการบริการ

2. กระบวนการแปรรูป (Transformation Process)จาการใช้เทคโนโลยีและหน้าที่ในทางการบริหารตัวป้อนนำไปสู่กระบวนการแปรรูปในโรงเรียนปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครูเป็นส่วนหนึ่งของการแปรรูปหรือกระบวนการเรียนรู้ซึ่งทำให้นักเรียนกลายเป็นพลเมืองที่มีการศึกษาซึ่งสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมต่อไป

3. ผลผลิต (Output)ได้แก่ผลิตภัณฑ์และการบริการขององค์การองค์การทางการศึกษาผลิตและแจกจ่ายความรู้

4. ข้อมูลย้อนกลับ (Feedback)คือสารสนเทศเกี่ยวกับผลผลิตหรือกระบวนการขององค์การซึ่งมีอิทธิพลต่อการคัดเลือกตัวป้อนระหว่างวงจรต่อไปข้อสารสนเทศเช่นนี้อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทั้งในกระบวนการแปรรูปและผลผลิตในอนาคต

5. สภาพแวดล้อม (Environment)สภาพแวดล้อมที่อยู่ล้อมรอบองค์การได้แก่แรงผลักดัน (Forces) ทั้งด้านสังคมการเมืองและเศรษฐกิจที่มาปะทะกับองค์การ


ดังนั้นการสร้างกรอบแนวคิดให้องค์การเป็นระบบเปิด (Open System) จึงเป็นแนวคิดรวบยอดที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของทฤษฏีระบบองค์การที่เป็นโรงเรียนหรือสถานศึกษาทั้งหมดเป็นระบบเปิด



ข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารในการออกแบบองค์การแห่งการเรียนรู้

ข้อแนะนำสำหรับผู้บริหารในการออกแบบสภานศึกษาหรือโรงเรียน เพื่อให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ โดยวิธีระบบที่ดัดแปลงมาจากคีฟ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบพื้นฐานสามประการ และองค์ประกอบระบบแปดประการ องค์ประกอบทั้ง 11 ประการนี้มีความจำเป็นและจะต้องกำหนดโดยสถานศึกษาในเขตพื้นที่ ไม่ใช่บุคคลภายนอก มีดังต่อไปนี้

1. องค์ประกอบพื้นฐาน ประกอบด้วย

- คำกล่าวพันธกิจ เป็นคำกล่าวอย่างย่อๆ เกี่ยวกับจดหมายของสถานศึกษา

- สมมติฐานทางปรัชญา ทางจิตวิทยา และทางองค์การ สมมติฐานเหล่านี้เกี่ยวกับธรรมชาติของผู้เรียน การเรียนรู้ แรงจูงใจ จุดมุ่งหมายของการเรียนรู้ และองค์การโรงเรียนและงบประมาณ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานของแบบการก่อสร้างของสถานศึกษา

- คำกล่าวผลลัพธ์สุดท้ายของนักเรียน ได้แก่ ความสามารถกว้างๆ ที่เห็นว่าจำเป็นต่อการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลในสังคมและเศรษฐกิจยุคปัจจุบัน ตชคำอธิบายเหล่านี้รวมเป็นพื้นฐานสำหรับหลักสูตรของสถานศึกษาและระบบการประเมินนักเรียน

2. องค์ประกอบระบบ ประกอบด้วย

- โครงการสอนและหลักสูตร เป็นวรรคอธิบายสั้นๆ ซึ่งให้คำจำกัดความหรือนิยามเนื้อหาหลักสูตร และโอกาสการเรียนรู้ที่จะจัดให้นักเรียน ข้อกำหนดเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับคำกล่าวผลลัพธ์สุดท้ายของนักเรียน

- กลวิธีการสอน เป็นวรรคสั้นๆซึ่งให้คำจำกัดความหรือนิยามกลวิธีการสอน ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าประสบผลสำเร็จในการบรรลุผลลัพธ์สุดท้ายของนักเรียนที่พึงประสงค์

- โครงสร้างและการจัดองค์การสถานศึกษา เป็นตอนหนึ่งที่อธิบายว่า สถานศึกษาจะถูกจัดโครงสร้างอย่างไร เพื่อว่าผลลัพธ์สุดท้ายของนักเรียนจะบรรลุได้ ในตอนนี้อาจมีคำอธิบายเกี่ยวกับการจัดตารางสอนและตารางเรียน และโครงสร้างทางสังคมด้วย

- วัฒนธรรมและบรรยากาศของสถานศึกษา เป็นการให้คำจำกัดความหรือตัวบ่งชี้สำคัญๆของวัฒนธรรมและบรรยากาศของสถานศึกษา มีคำนิยามว่าเป็น “คุณลักษณะ ปทัสถาน และประเพณีของสถานศึกษาและของชุมชนที่สถานศึกษาตั้งอยู่” ส่วนบรรยากาศ เป็น “ความคิดเห็นตรงกันของคุณลักษณะของสถานศึกษาและสมาชิกของสถานศึกษา บรรยากาศเป็นเครื่องชี้วัดวัฒนธรรมของสถานศึกษา”

- ภาวะผู้นำสถานศึกษา การบริหาร และการงบประมาณ ตัวบ่งชี้ต่างๆที่กำหนดว่ากระบวนการวางแผน การตัดสินใจ และการสื่อสารเป็นอย่างไร ในตอนนี้อาจเขียนคำอธิบายว่า การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ของสถานศึกษาจะเป็นไปได้อย่างไร

- การจัดอัตรากำลังและการพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษา ตัวบ่งชี้ในส่วนนี้กล่าวถึงบทบาททางวิชาชีพครู สถานที่ทำงานของครู นโยบายการจ้างครูและการบรรจุครู และลำดับความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร

- ทรัพยากร อาคารสถานที่ และครุภัณฑ์ของสถานศึกษา ตัวบ่งชี้ในส่วนนี้กำหนดคุณลักษณะของอาคารสถานที่ ครุภัณฑ์ที่จำเป็นสำหรับเกื้อหนุนการออกแบบหลักสูตรและการเรียนการสอนที่คาดหวังไว้ และการจัดประสานงานระหว่างทรัพยากรของสถานศึกษากับชุมชน

- แผนการประเมินผล เป็นการกำหนดระบบการประเมินผลและการรายงานของสถานศึกษา แผนนี้ถูกทำขึ้นเพื่อแจ้งให้สมาชิกของชุมชนที่สถานศึกษาตั้งอยู่ทราบว่าการออกแบบสถานศึกษามีการนำไปปฏิบัติอย่างไร และผลลัพธ์สุดท้ายของนักเรียนจะบรรลุอย่างไร


เทคนิคการคิดอย่างเป็นระบบ

เทคนิคการคิดอย่างเป็นระบบ (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.2548)

1. ยอมรับตนเองและเปลี่ยนใจตนเองให้ได้ว่าตนคือส่วนประกอบสำคัญที่เชื่อมโยงสิ่งต่างๆ

2. เข้าใจธรรมชาติของระบบ และทุกสรรพสิ่งในโลกนี้สัมพันธ์กัน

3. ฝึกการมองภาพรวมแทนสิ่งเล็กๆ แล้วค่อยๆ มองย้อนกลับ

4. มองเห็นกระบวนการเปลี่ยนแปลง และปัจจัยต่างๆ ที่เอื้อต่อระบบ

5. มองเห็น วัฏจักรของเหตุปัจจัย และการส่งผลย้อนกลับ

6. เปิดอิสระในเรื่องการคิด ไม่ตีกรอบ ครอบงำความคิดของคนอื่น

7. ส่งเสริมสนับสนุนให้ทุกคนเกิดแรงร่วมในกรสร้างความสัมพันธ์

8. ยึดหลักการเรียนรู้ในองค์กรเป็นส่วนประกอบ คือ การเป็นนายตนเอง ลบความเชื่อฝังใจในอดีต สร้างความไฝ่ฝันถึงอนาคตร่วมกัน(Shared Vision) และฝึกการเรียนรู้ของทีม


ตัวอย่างการคิดอย่างเป็นระบบ ในระบบโรงเรียน เป็นความสัมพันธ์ของส่วนต่างๆ ที่ร่วมกันให้โรงเรียนขับเคลื่อนตามบทบาทภารกิจไปสู่ความสำเร็จ ในการจัดระบบและการบริหารในโรงเรียนนั้นเป็นการจัดกลุ่มมาตรฐานและตัวบ่งชี้กับงานหรือมาตรฐาน และบันทึกการทำงาน แล้วบริหารระบบนั้นด้วยกระบวนการ PDPC Model

P Planing หมายถึง การวางแผน

D Doing หมายถึง การปฏิบัติตามแผน

C Checking หมายถึง การตรวจทานแก้ไข

A Acting หมายถึง การปฏิบัติหลังการแก้ไข

องค์การแห่งการเรียนรู้และการคิดอย่างเป็นระบบ

การที่หน่วยงานราชการจะเข้าสู้องค์การแห่งการเรียนรู้ได้ ต้องอยู่ที่ครูภายในหน่วยงานสามารถพัฒนาความสามารถ ทั้งในระดับบุคคล ระดับกลุ่ม และระดับองค์กรได้อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่จุดมั่งหมายที่ต้องการอย่างแท้จริง และต้องปฏิบัติตามข้อบัญญัติ 5 ประการคือ (วิจารณ์ พานิช. 2548 : 25)

1. การคิดอย่างเป็นระบบ (System Thinking) คือ คนในหน่วยงานราชการสามารถอธิบายพฤติกรรมความเป็นไปได้ต่างๆ ถึงความเชื่อมโยงต่อเนื่องของสรรพสิ่งและเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงระบบได้อย่างมีประสิทธิผลสอดคล้องได้กับความเป็นไปได้ในโลกแห่งความจริง

2. แบบแผนความคิด (Mental Model) ตระหนักถึงกรอบแนวคิดของตนเองรูปแบบความคิด ความเชื่อมีผลต่อการตัดสินใจ

3. บุคคลแห่งการเรียนรู้ (Personal Mastery) ส่งเสริมให้คนในองค์กรสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเอง เพื่อสร้างจิตสำนึกของคนในการเรียนรู้สิ่งต่างๆเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านโครงสร้างหน่วยงาน ระบบสารสนเทศ การพัฒนาบุคคล เป็นต้น

4. การกำหนดวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision) การกำหนดกรอบความคิดเกี่ยวกับสภาพในอนาคตของหน่วยงาน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ริเริ่มทดลองสิ่งใหม่ๆ เป็นไปในทิศทางและจุดมุ่งหมายเดียวกัน

5. การเรียนรู้ร่วมเป็นทีม (Team Learning) การแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ ทักษะ วิธีคิด ของทีมงาน จะช่วยให้การทำงานร่วมกันในหน่วยงานมีความเป็นทีมที่ดีขึ้น ช่วยให้สมาชิกแต่ละคนได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ออกมาได้อย่างเต็มที่

อุปสรรคของการคิดอย่างเป็นระบบ


การคิดอย่างเป็นระบบยังมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดได้ดังนี้ (สุรพร เสี้ยนสลาย. 2548:ออนไลน์)

1. ขาดคุณลักษณะที่ดี ไม่กระตือรือร้น ไม่คิด ไม่สงสัย เชื่อง่าย ทำให้คิดอยู่ในกรอบ

2. การใช้เหตุผลโดยการอ้างสิ่งที่เคยเกิดมาในอดีต ใช้เหตุผลโดยนำตนเองเป็นศูนย์กลาง ใช้เหตุผลแบบลวงตา ไม่ฟังใคร ถูกโน้มน้าวโดยคนหมู่มาก เชื่อมโยงเหตุผลผิด

3. ขาดข้อมูล/ข้อเท็จจริง ขาดข้อมูลด้านวิชาการ ไม่รู้จักวิธีทางวิชาการ วิธีทางวิทยาศาสตร์




ทัศนะเชิงระบบของการบริหารการศึกษา

ในแนวคิดของระบบเปิด(Open Systems Framework) นั้น สามารถแบ่งการปฏิบัติงานของเขตพื้นที่การศึกษา(School District’s Operation) ได้ 3 ประเภท คือ

1) ตัวป้อน

2) กระบวนการแปรรูปหรือการเปลี่ยนแปลง

3) ผลผลิต

กรอบแนวคิดนี้ช่วยให้รวิเคราะห์การปฏิบัติงานรวดเร็ว แม่นยำ และยังช่วยให้ผู้บริหารสถานศึกษามีความพยายามที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง


ปัจจัยป้อน (Inputs) สภาพแวดล้อม และความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เกิดความต้องการที่มากขึ้น เช่น นักเรียนต้องการหลักสูตรที่สอดคล้อง ทันสมัย และสามารถนำไปใช้ได้จริงในอนาคต ครูและบุคลากรต้องการเงินเดือนที่สูงขึ้น เพื่อรองรับค่าใช้จ่ายที่แปรผันตามเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งหน้าที่ของผู้บริหารสถานศึกษา ก็คือการบูรณาการเป้าหมายที่หลากหลายให้เป็นแผนปฏิบัติที่ใช้การได้

กระบวนการแปรรูป (Transformation Process) เป็นการตอบสนองปัจจัยป้อน เพื่อสร้างผลผลิตและระบบคุณค่าเพิ่มให้แก่งานในการบวนการ ได้แก่ การดำเนินงานภายในขององค์การ และระบบการบริหารการดำเนินงานขององค์การ ซึ่งต้องอาศัยความสามารถทางวิชาการในด้านทักษะการสื่อสารและการตัดสินใจของผู้บริหารสถานศึกษา รวมทั้งความสามารถในการก้าวทันการเปลี่ยนแปลง กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเขตพื้นที่การศึกษา

ผลผลิต (Outputs) หน้าที่ของผู้บริหารคือ การตอบสนองตัวป้อนด้วยกระบวนการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ทั้งด้านบวกและด้านลบ เช่น สัมฤทธิผลทางการเรียน การปฏิบัติงานของครู ความเจริญงอกงามของนักเรียนและพนักงาน การลาออกกลางคัน การขาดงาน การขาดเรียน ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับฝ่ายบริหาร โรงเรียนกับชุมชน รวมทั้งเจตคติและความพึงพอใจที่มีต่อโรงเรียน

สภาพแวดล้อมภายนอกมีปฏิกิริยาต่อผลผลิตเหล่านี้ และให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ระบบ ซึ่งมีความสำคัญต่อการดำเนินงานของเขตพื้นที่การศึกษา ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลย้อนกลับหรือผลลัพธ์ในทางลบ อาจนำมาซึ่งการแก้ไขข้อบกพร่อง ซึ่งในทางกลับกันมันก็มีผลต่อผลผลิตของเขตพื้นที่การศึกษาด้วย


โรงเรียนส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นด้วยวิธีการระบบ (Systems Approach) ตามแนวคิดของPeter Senge และ Bela Banathy เพียงแต่มีวิวัฒนาการตามยุคสมัย ส่วนรวมจะเป็นจุดเน้นของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ (Restructuring) ซึ่งเป็นวิธีการระบบที่จะนำไปสู่การปรับปรุงโรงเรียนต่อไป


ประเภทของการคิดอย่างเป็นระบบ

การคิดอย่างเป็นระบบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การคิดอย่างเป็นระบบโดยตรง คือการมุ่งกระทำโดยตรง มีเป้าหมายกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่จำแนกรูปแบบการคิดตามพื้นฐานของมนุษย์ แต่แยกแบบการคิดโดยมุ่งเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ จำแนกออกเป็น 3 ประเภท คือ

1) การคิดเพื่อเข้าใจหน่วยระบบ

2) การคิดเพื่อวิเคราะห์ การอุปมาอุปมัย

3) การคิดเพื่อออกแบบ และก่อตั้งหน่วยระบบ


2. การคิดอย่างเป็นระบบทางอ้อม คือ การคิดอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยพื้นฐานแห่งการคิด เช่น การวิเคราะห์ การอุปมาอุปมัย การคิดสังเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ การประเมินค่า ฯลฯ การคิดอย่างเป็นระบบทางอ้อม เป็นพฤติกรรมการคิดทางสมอง ที่สมองกระทำกับวัตถุ ซึ่งความคิด หรือ มโนคติ อาจมีหลายมิติ เกิดขึ้นจากประสบการณ์ และการคิดขึ้นเองจากโลกแห่งความเป็นจริง หรือ จินตนาการ

การคิดที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมนุษย์ มีหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการคิดเชิงระบบ เป็นวิธีการคิดเชิงบูรณาการ เป็นการขยายขอบเขตการคิดของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ออกไป โดยไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินใจ แต่พิจารณาเรื่องนั้นอย่างละเอียด ทุกมุมมอง เปิดโอกาสให้ความคิดของคนเราได้มีการเชื่อมโยง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ เห็นแนวทางแก้ปัญหาที่ดีกว่า และสร้างสรรค์ รวมทั้งให้เห็นความสัมพันธ์แบบเชื่อมโยงระหว่างเร่องนั้นกับปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง


การขยายขอบเขตการคิด

เป็นการขยายมุมมอง 5 ด้าน ได้แก่

1. การมององค์รวม เป็นการมองให้ครบทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

2. มองสหวิทยาการ เป็นการมองหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน เป็นการคิดเชิงบูรณาการ พยายามคิดนอกกรอบ พยายามเชื่มโยงแกนของเรื่องเพื่อหาคำตอบ

3. มองอย่างมีอุปมาอุปนัย เป็นการมองขยายกรอบความคิด เป็นการเปิดโอกาสให้สมองได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ในการเรียนรู้ และทำความเข้าใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยใช้เหตุผลแบบอุปนัย หรือใช้กรอบความรู้ที่พิสูจน์ได้แล้วมาตอบ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการคิดเชิงบูรณาการ

4. มองประสานขั้วตรงกันข้าม เป็นการมองแนวคิดหนึ่งปฏิเสธแนวคิดหนึ่ง หรือเชื่อว่าแนวคิดหนึ่งเป็นจริง แนวคิดที่เหลือเป็นเท็จ โดยการเปิดใจสร้างดุลยภาพ ทำให้เกิดความพอดี

5. มองทุกฝ่ายชนะ WIN-WIN ครอบคลุมความพอใจทุกฝ่าย ซึ่งเป็นการขยายกรอบความคิดจากวิธีแก้ปัญหาทั่วไป ปกติการแก้ปัญหา คือ การกำหนดทางเลือก



จากการศึกษาเบื้องต้นในเรื่องประเภทการคิดอย่างเป็นระบบจะเห็นได้ว่ามีการแบ่งประเภท การคิดอย่างเป็นระบบแบ่งออกเป็น 2 ประเภท นั่นก็คือ การคิดอย่างเป็นระบบโดยตรง และการคิดอย่างเป็นระบบทางอ้อม ซึ่งการคิดอย่างเป็นระบบทั้ง 2 ประเภทจะมีข้อแตกต่างกัน การคิดอย่างเป็นระบบทางตรงจะมุ่งกระทำโดยตรง มีเป้าหมายกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่จำแนกรูปแบบการคิดตามพื้นฐานของมนุษย์ แต่แยกแบบการคิดโดยมุ่งเป้าหมาย หรือวัตถุประสงค์ ส่วนการคิดอย่างเป็นระบบทางอ้อม คือ การคิดอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยพื้นฐานแห่งการคิด เช่น การวิเคราะห์ การอุปมาอุปมัย การคิดสังเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ และการประเมินค่า การคิดอย่างเป็นระบบทางอ้อม เป็นพฤติกรรมการคิดทางสมอง ซึ่งความคิด หรือมโนคติ อาจมีหลายมิติ เกิดขึ้นจากประสบการณ์ และการคิดขึ้นเองจากจินตนาการของตัวเราเอง ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นวิธีการคิดเชิงบูรณาการ เป็นการขยายขอบเขตการคิดของเราที่มีต่อเรื่องนั้นๆ ให้กว้างออกไป โดยไม่ด่วนสรุปหรือตัดสินใจ แต่พิจารณาเรื่องนั้นอย่างละเอียด เปิดโอกาสให้ความคิดของเราได้มีการเชื่อมโยง เพื่อหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ซึ่งถือว่าแนวทางแก้ปัญหาที่ดี และสร้างสรรค์