พระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

พระราชประวัติ

พระบรมฉายาลักษณ์

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๖๙ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์ที่ ๗ ในสมเด็จพระศรีสวรินทรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีเถาะ ตรงกับวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๔๓๔ ในพระบรมมหาราชวัง

เมื่อทรงพระเยาว์ประทับอยู่กับสมเด็จพระราชชนนี ในพระบรมมหาราชวัง มีกรมหลวงสมรรัตน์ศิริเชษฐ์ เป็นผู้ถวายดูแลอย่างใกล้ชิด

ทรงเริ่มต้นการศึกษาที่โรงเรียนราชกุมารในพระบรมมหาราชวัง พร้อมๆกับพระเชษฐาและพระอนุชา คือสมเด็จเจ้าฟ้าอัษฎางค์เดชาวุธ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลก และสมเด็จเจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ พระอาจารย์ผู้ถวายการสอนภาษาไทยคนแรกคือ พระยาอิศรพันธุ์โสภณ (ม.ร.ว. หนู อิศรางกูร)

ต่อมาทรงย้ายไปประทับที่พระราชวังดุสิตกับสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในช่วงนี้มีความสนพระทัยวิชาภาษาอังกฤษมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ ทรงเป็นนักเรียนพิเศษ โรงเรียนนายร้อยทหารบก

พ.ศ. ๒๔๔๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบ พระราชพิธีโสกันต์ และพระราชทานพระสุพรรณบัฏ เฉลิมพระนามเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช นเรศวรมหาราชาธิบดินทร์ จุฬาลงกรณ์นรินทรวรางกูร สมบูรณเบญจพรศิริสวัสดิ์ ขัติยวโรภโตสุชาติ คุณสังกาศเกียรติประกฤษฐ์ ลักษณวิจิตรพิสิษฐ์บุรุษย์ ชนุตมรัตนพัฒนศักดิ์ อรรควรราชกุมาร กรมขุนสงขลานครินทร์

พ.ศ. ๒๔๔๗ ผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทรงเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยทหารบกในประเทศไทย และในปีเดียวกันได้เสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ พ.ศ. ๒๔๕๐ - ๒๔๕๕ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารบก ที่ประเทศเยอรมัน ทรงสำเร็จการศึกษาระดับ Fehnrich (หมายถึงนักเรียนทำการ คือ ผู้ที่จบโรงเรียนนายร้อย)จากโรงเรียนนายร้อยชั้นสูง ตำบล Gross Lichterfelde กรุงเบอร์ลิน

พ.ศ. ๒๔๕๕ - ๒๔๕๗ ทรงเปลี่ยนไปศึกษาวิชาทหารเรือที่โรงเรียนนายเรือของราชนาวีเยอรมัน ณ เมือง Fahnrich – Murwick ทรงศึกษา ฝึกหัด และสอบได้ เป็น “เฟนริชทหารเรือ” ตลอดจนทรงสอบไล่ผ่านหลักสูตรนายเรือตรี ก่อนหน้านี้ทรงได้รับพระราชทานยศจากพระเจ้าไกเซอร์วิลเฮล์มที่ ๒ เป็นนายเรือตรีพิเศษแห่งราชนาวีเยอรมัน

พ.ศ. ๒๔๕๗ เสด็จกลับเมืองไทย และได้รับพระราชทานยศเป็นนายเรือโท พ.ศ. ๒๔๕๘ ทรงเข้ารับราชการในตำแหน่งสำรองราชการ กรมเสนาธิการทหารเรือ ต่อมาทรงย้ายไปประจำกองอาจารย์นายเรือ แผนกแต่งตำรา กรมยุทธศึกษาวิชาสาธารณสุข

พ.ศ. ๒๔๕๙ ทรงลาออกจากราชการทหารเรือ เสด็จไปทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขที่ School for Health Officer มหาวิทยาลัย Harvard สหรัฐอเมริกา

พ.ศ. ๒๔๖๓ เสด็จนิวัติพระนคร เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราพระบรมราชินีนาถ ๑๐ กันยายน ๒๔๖๓ ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์ ตะละภัฏ ณ วังสระปทุม และเสด็จกลับสหรัฐอเมริกา เพื่อทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

พ.ศ. ๒๔๖๔ ทรงสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรการสาธารณสุข Certificate of Public Health (C.P.H.) เสด็จไปประทับในยุโรป ทอดพระเนตรงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พ.ศ. ๒๔๖๕ ทรงเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย เจรจากับมูลนิธิร้อกกี้เฟลเลอร์ เพื่อปรับปรุงกิจการของโรงเรียนแพทย์ไทยตามความประสงค์ของรัฐบาล

๖ พฤษภาคม ๒๔๖๖ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ พระราชธิดาพระองค์แรก ในกรุงลอนดอน

พ.ศ. ๒๔๖๖ เสด็จกลับประเทศไทยตามพระบรมราชโองการในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวและทรงโปรดเกล้าฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย กระทรวงธรรมการ

๒๐ กันยายน ๒๔๖๘ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีได้ทรงมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) พระราชโอรสพระองค์แรก จากนั้นทั้งสองพระองค์พร้อมด้วยพระราชโอรส พระราชธิดา ได้เสด็จไปประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

พ.ศ. ๒๔๖๙ สมเด็จพระบรมราชชนก เสด็จกลับประเทศไทยพระองค์เดียว เพื่อทรงร่วมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

๕ ธันวาคม ๒๔๗๐ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงมีพระประสูติกาล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ ๙) ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ รัฐแมสซาชูเสตส์

พ.ศ. ๒๔๗๑ทรงได้รับปริญญาแพทยศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต เกียรตินิยม (M.D. Cum Laude) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard)

จากนั้นเสด็จกลับถึงประเทศไทยในเดือน ธันวาคมปีเดียวกัน พร้อมด้วยพระราชธิดาและพระราชโอรส ในวันนั้นประชาชนไปคอยรับเสด็จที่ท่าเรือวัดพระยาไกรอย่างเนืองแน่น

พ.ศ. ๒๔๗๒ เสด็จฯไปปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้าน ณ โรงพยาบาลแมคคอร์มิก จังหวัดเชียงใหม่ ทรงเข้าเป็นสมาชิกของแพทยสมาคม ทำการตรวจรักษาคนไข้ทั่วไป

ทรงปฏิบัติหน้าที่แพทย์ประจำบ้านได้เพียง ๓ สัปดาห์ก็ต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพื่อทรงร่วมในงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช

หลังจากนั้นเริ่มประชวร พระอาการประชวรหนักขึ้นจนสิ้นพระชนม์ เมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน พ.ศ. ๒๔๗๒ รวมพระชนมายุ ได้ ๓๗ ปี ๘ เดือน ๒๓ วัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดชฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์

พ.ศ. ๒๔๗๗ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น “สมเด็จพระราชบิดา” และเมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๑๓ ทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก”



การสืบราชสันตติวงศ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สมเด็จพระศรีสวรินทราบรมราชเทวี

มีพระราชโอรส และพระราชธิดารวม ๗ พระองค์

องค์ที่ ๑ สมเด็จพระบรมโอราสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

องค์ที่ ๒ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าอิสริยาลงกรณ์

องค์ที่ ๓ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวิจิตรจิรประภา

องค์ที่ ๔ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมุติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์

องค์ที่ ๕ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร

องค์ที่ ๖ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงศิราภรณ์โสภณ

องค์ที่ ๗ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

มีพระราชโอรสและพระราชธิดารวม ๓ พระองค์

องค์ที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

องค์ที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

องค์ที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระอิสริยยส

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ ๒ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๓๔ ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช

วันที่ ๒๘ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๔๖ ทรงกรมเป็น กรมขุนสงขลานครินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ ๒๓ เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓ เฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

วันที่ ๙ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ เฉลิมพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์

วันที่ ๒๖ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ จนกระทั่งวันสิ้นพระชนม์ ทรงดำรงตำแหน่งองค์รัชทายาท แห่งราชบัลลังก์

วันที่ ๕ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้รับพระราชทานนามราชสกุล มหิดล ณ อยุธยา

วันที่ ๑๓ เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ทรงกรมเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเป็น กรมหลวงสงขลานครินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

วันที่ ๒๕ เดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เฉลิมพระนามเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเป็น สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

วันที่ ๙ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๓ เฉลิมพระนามเมื่อสิ้นพระชนม์แล้วเป็น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

(ทรงรับพระราชทานเครื่องประกอบพระอิสริยยศ พร้อมสัปตปฎลเศวตฉัตร) เนื่องในงานพระราชพิธีสมโภชการเสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติครบ ๒๔ พรรษา สองรอบนักษัตร

วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๕

องค์การยูเนสโก (UNESCO) แห่งสหประชาชาติได้ประกาศเกียรติคุณ ทรงมีผลงานดีเด่น ทางการศึกษา วิทยาศาสตร์ และมนุษยธรรม ระดับโลก ณ วโรกาศ “๑๐๐ ปี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก”

ทรงได้รับการขานพระนามเป็น “พระราชบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”

พระราชดำรัส

"รู้สึกสลดใจว่าตั้งแต่หม่อมฉันเกิดมาเห็นแต่เสด็จแม่

ทรงเปนทุกข์โศก ไม่มีอะไรที่จะทำให้ชื่นพระหฤทัยเสียเลย

สงสารเสด็จแม่จึงคิดว่าลูกผู้ชายของท่านก็เหลืออยู่แต่หม่อมฉัน

คนเดียว ควรจะสนองพระคุณด้วยทำการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง

ให้เสด็จแม่ทรงยินดีด้วยเห็นลูกสามารถทำความดีให้เปนคุณ

ประโยชน์แก่บ้านเมืองได้ ไม่เลี้ยงมาเสียเปล่า เมื่อคิดต่อไปว่า

จะทำการอย่างไรดี หม่อมฉันคิดเห็นว่าในทางราชการนั้นก็มี

ทูลกระหม่อมพระราชโอรสในสมเด็จพระศรีพัชรินทรอยู่หลาย

พระองค์แล้ว ตัวหม่อมฉันจะทำราชการหรือไม่ทำก็ไม่ผิดกัน

เท่าใดนัก จึงคิดว่าการช่วยชีวิตผู้คนพลเมืองเปนการสำคัญอย่าง

หนึ่งซึ่งหม่อมฉันอาจจะทำได้โดยลำพังตัว เพราะทรัพย์สิน

ส่วนตัวก็มีพอจะเลี้ยงชีวิตแล้ว จะสละเงินที่ได้รับพระราชทาน

ในส่วนที่เปนเจ้าฟ้าเอามาใช้เปนทุนทำการตามความคิดให้เปน

ประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยเหตุดังทูลมานี้หม่อมฉันจึงไม่ทำราชการ"

พระราชดำรินี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากพระประสงค์ที่จะสนองพระคุณสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า

พระราชกรณียกิจ

๑. ทรงรับเป็นผู้แทนรัฐบาลไทย ติดต่อเจรจากับมูลนิธิรอกกี้เฟลเลอร์ เพื่อขอความช่วยเหลือในการปรับปรุงกิจการโรงเรียนแพทย์ที่กรุงลอนดอน

๑.๑ ได้ตกลงเรื่องการปรับปรุงกิจการโรงเรียนแพทย์ โดยมีการจัดวางระเบียบวิธีการที่จะประสานงานกับโรงเรียนแพทย์ มีการตกลงวางโครงการก่อสร้างตึกเรียน การเลือกสรรแต่งตั้งอาจารย์ผู้สอน

๑.๒ ได้ตกลงปรับการศึกษาขั้นพื้นฐานของวิชาแพทย์ คือ การศึกษาวิชาเบื้องต้น (พื้นฐาน) ของคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๑.๓ ได้ตกลงร่วมมือปรับปรุงโรงเรียนผดุงครรภ์และพยาบาล ด้วยการจัดหา และจัดสร้างที่อยู่สำหรับนางพยาบาล

๒. พระองค์ได้ประทานพระราชทรัพย์ในการปรับปรุงกิจการโรงเรียนแพทย์มากมาย ทั้งในการพัฒนาบุคลากร และด้านอาคารสถานที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก

๒.๑ ทรงส่งบุคคลไปศึกษาวิชาแพทย์ในต่างประเทศด้วยทุนของพระองค์เอง

๒.๒ ประทานแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เก็บดอกผล ส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศเรียกว่า "ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์" ปัจจุบันเป็นทุนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

๒.๓ ประทานเงินจำนวน ๓,๘๔๐ บาท ไว้เป็นทุนการสอนและการค้นคว้าในโรงพยาบาลศิริราชสำหรับแพทย์ที่เพิ่งจบใหม่ และไม่ได้เป็นแพทย์ประจำบ้าน จำนวน ๒ ทุน

๒.๔ ประทานเงินเดือนสำหรับพยาบาลชาวต่างประเทศ ที่มาช่วยสอนและวางแผนการศึกษาใหม่ในโรงเรียนพยาบาล

๒.๕ ประทานเงินจำนวนหนึ่ง ให้แก่โรงพยาบาลแมคคอมิค เพื่อให้มีแพทย์ชาวต่างประเทศมาช่วย ๑ คน

๒.๖ ทรงซื้อที่ดินและอาคารโรงเรียนวังหลังเดิมให้เป็นโรงเรียนพยาบาลและหอพัก

๒.๗ ประทานเงินสร้างตึกคนไข้ให้โรงพยาบาลหนึ่งหลัง คือ ตึก "มหิดลบำเพ็ญ"

๒.๘ ประทานเงินกึ่งหนึ่งช่วยในการก่อสร้างและตกแต่งตึกอำนวยการของคณะ

๒.๙ ประทานเงินจำนวนหนึ่ง ตั้งเป็นทุนสำหรับเครื่องเอ๊กซเรย์ ให้กับโรงพยาบาลแมคคอมิค


๓. ทรงรับเป็นอาจารย์สอนนักเรียนแพทย์ ทรงจัดเตรียมการสอนอย่างดี ด้วยการเลือกจัดกิจกรรมการสอนแบบต่างๆ ที่จะช่วยให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกเหนือจากการบรรยายในห้องเรียนแล้วยังประกอบไปด้วย

๓.๑ การเชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาบรรยาย

๓.๒ การศึกษานอกสถานที่ ทรงนำนักเรียนไปชมสถานที่สำคัญหลายแห่ง เช่น พระบรมมหาราชวัง พระที่นั่งอนันตสมาคม พิพิธภัณฑ์สถาน เป็นต้น

๓.๓ การรายงานและการอภิปราย

ผลจากการที่พระองค์ทรงทุ่มเท ให้กับกิจการโรงเรียนแพทย์นี้ ทำให้กิจการโรงเรียนแพทย์เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว แต่พระวรกายกลับทรุดโทรมลง แต่กระนั้นยังทรงห่วงใยและมีพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาการแพทย์อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะทรงอยู่ ณ ที่ใด ขณะที่พระองค์ประชวรหนักก่อนสิ้นพระชนม์นั้น ทรงรับสั่งถึงเรื่องการแพทย์เป็นเวลานานๆ รับสั่งถึงการภายหน้า และถึงการที่จะทรงทำเมื่อหายประชวรแล้ว ทรงรับสั่งถึงแต่เรื่องโรงพยาบาล และเรื่องโรงเรียนเหมือนกับเวลาที่ไม่ทรงประชวร

แนวพระราชดำริ

พระโอวาทและคติธรรม

  • ฉันไม่ต้องการให้เธอมีความรู้ทางแพทย์อย่างเดียว ฉันต้องการให้พวกเธอเป็นคนด้วย
  • เวลาเป็นของมีค่า เมื่อมันล่วงไปแล้วมันจะไม่กลับอีก ถ้าเรามีโอกาสจะใช้มันเป็นประโยชน์แล้วไม่ใช้มัน ก็เป็นที่น่าเสียดาย
  • เรื่องตำแหน่งการงานนี้ก็เหมือนหมวก จะหาหมวกให้เหมาะกับหัวคนนั้น คงไม่ยาก แต่เรื่องที่จะหาหัวมาให้เหมาะกับหมวก นี่ซิยากนักหนา
  • ใครเรียนดี เรียนเก่ง บอกฉันมา จะออกเงินให้เขาไปเรียนต่างประเทศ เงินฉันเป็นเงินของราษฎรเขา
  • จำนวนเงินเท่าที่พวกเธอต้องการนั้น ความจริงก็เพียงเล็กน้อย แต่เงินของฉันนี้มีค่า เพราะรวบรวมได้มาจากตาสีตาสา ชาวนาชาวสวน ซึ่งต้องออกเหงื่อต่างน้ำ เพื่อจะหามาส่ง เพราะฉะนั้น ฉันจะให้พวกเธอไปเปล่าๆ ก็ดูกระไรอยู่ แต่ถ้าหากเธอต้องการและมีความจำเป็นจริงๆ ฉันก็จะให้ แต่เธอจะต้องทำการสิ่งใดเป็นเครื่องตอบแทนบ้าง ฉันมีสนามใหญ่อยู่หน้าบ้าน เธอจะตัดหญ้าแล้วช่วยกันลากลูกกลิ้งบดสนามให้ก็ได้
  • พวกเธอทั้งหลาย การเล่นนั้นเป็นของดี การเรียนนั้นก็เป็นเรื่องดีและสำคัญ แต่การที่จะให้ดีกว่านั้นคือ คนที่เรียนดี และเล่นก็ดีด้วย…
  • เงินที่ฉันได้ใช้ออกมาเรียน หรือให้พวกเธอมาเรียนนี้ ดังนั้น เธอต้องตั้งใจเรียนให้ดี ให้สำเร็จ เพื่อจะได้กลับไปทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ และขอให้ประหยัดใช้เงิน เพื่อฉันจะได้มีเงินช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
  • อาชีพแพทย์นั้นมีเกียรติ แพทย์ที่ดีจะไม่ร่ำรวย แต่ก็ไม่อดตาย ถ้าใครอยากร่ำรวย ก็ควรเป็นอย่างอื่นไม่ใช่แพทย์…
  • ฉันรู้สึกว่า ฉันยังเป็นรองอยู่มาก…
  • ขอบใจ ที่ให้เลือดแก่ฉัน
  • น้อม ฉันรับเธอฐานเพื่อนตลอดชีวิต เธอจะเป็นมหาดเล็กไม่ได้ เรารักกันโดยจิตใจ เราไม่ใช่ญาติกันทางสายโลหิต…
  • ฉันจะไปเรียนหมอละ เพราะว่าเป็นวิชาที่สนุกดี เรามีโอกาสรักษาคนไข้ ทั้งคนจน คนมั่งมี และเจ้านายต่างๆ ได้เต็มที่…
  • หม่อมฉันรู้สึกเสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเป็นเครื่องบำรุงกำลังของชาติไทย และเป็นสาธารณะประโยชน์แก่มนุษย์ทั่วไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกาย และสติปัญญาหรือทรัพย์สินอันเป็นผล ที่จะทำนุบำรุง ให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติได้เสมอ
  • ดูเหมือนไม่จำเป็นที่จะกล่าวซ้ำอีกครั้งหนึ่งว่า ฉันมีความดีใจเท่าใด ที่ได้เห็นนักเรียนของเราทำการ(ค้นคว้าจนสำเร็จนี้)
  • แพทย์ที่ได้เรียนจบหลักสูตรแล้ว จะต้องเป็นนักเรียนต่อไปตลอดเวลาเป็นแพทย์ แต่เป็นการเรียนต่อในทางที่ต่างจากเดิมไปเล็กน้อย
  • True Success is not learning but in its application to the benefit of mankind
  • แพทย์วิทยา ผิดกับดาราศาสตร์หรือวิชาคำนวณ ทั้งสองนี้เป็นวิทยาศาสตร์แม่นคำนวณ ส่วนวิชาแพทย์นั้น เป็นวิชาแม่นแต่บางส่วน แต่ก็เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์
  • คุณลักษณะสำหรับการเป็นแพทย์นั้น คือ ความเชื่อถือไว้ใจ

๑. ท่านต้องมีความเชื่อในความสามารถของตนเอง คือ มีความมั่นใจ

๒. ท่านต้องมีความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือ ความเป็นปึกแผ่น

๓. ท่านต้องได้ความเชื่อถือจากคนไข้ของท่าน คือ ความไว้วางใจของคณะชน

คุณสมบัติสามประการนี้ เป็นอาวุธเกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์

  • เมืองไทยเราถ้าเจ้านายทรงทำหน้าที่อย่างสามัญชนเข้าบ้าง เขาว่าเสียพระเกียรติ ฉันรู้สึกว่า มัวแต่จะรักษาพระเกียรติอยู่ ก็ไม่ต้องทำงานอะไรกัน
  • ฉันได้ทำงานสำเร็จไว้อย่างหนึ่ง คือมูลนิธิร็อกกีเฟลเลอร์เขาจะอุดหนุนให้เงินรัฐบาลไทยขยายกิจการแพทย์ในประเทศไทย แต่รัฐบาลไทยจะต้องประสานงานกับเขาเป็นข้อสัญญาผูกพันโดยรัฐบาลไทย จะต้องออกเงินสมทบด้วย มิฉะนั้นราษฎรจะเข้าใจว่า เป็นโรงพยาบาลฝรั่งไปหมด แล้วก็ทำไม่สำเร็จด้วย ซึ่งเขาได้เห็นจากประเทศจีนแล้ว…ฉันหนักใจที่รัฐบาลจะไม่มีเงิน ในการก่อสร้างตึกต่างๆ ตามสัญญาได้
  • เมื่อมูลนิธินั้นเสร็จธุระถอนตัวออกไปแล้วการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไปก็แล้วแต่มูลนิธินั้นได้บำรุงโรงเรียน ให้ไว้เป็นชนิดใด และแล้วแต่คุณวุฒิความรู้และจรรยาของผู้ที่จะเข้ามาสรวมจัดอำนวยการโรงเรียนแทนมูลนิธิต่อไป แต่อย่างไรก็ดี ฉันมีความเชื่อมั่นแน่นอนว่า ตลอดเวลาร่วมมือห้าปีหรือกว่านั้น มูลนิธิจะสามารถก่อบำรุงโรงเรียนให้ดำรงมั่นคงถาวรตลอดไปได้ ซึ่งฉันสามารถถือตัวเองว่า ได้รับเกียรติยศมีส่วนสนับสนุนการนี้ และการที่ฉันเลือกบริจาคเงินเป็นจำนวนมากจากทุนของฉัน และบำเพ็ญเวลาและร่างกายให้แก่โรงเรียนนี้ จะเป็นการถูกทาง
  • ให้รอคนไข้ ขึ้น (จากเรือจ้างข้ามฟาก) เสียก่อน
  • ข้าพเจ้าจะตาย ก็ไม่เสียดายต่อชีวิต แต่เสียดายว่างานที่กำลังทำค้างอยู่นี้ยังไม่เสร็จเรียบร้อย

(จากชุมนุมพระนิพนธ์และบทความเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระราชบิดา ของศิริราช ๒๔ กันยายน ๒๕๐๘)