อาชีพท้องถิ่น


อาชีพ : แพะเงินล้าน

ชุมชน : บ้านม่วงงามพัฒนา หมู่ 13 ตำบลโพงาม อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท

จังหวัดชัยนาทเป็นจังหวัดหนึ่งที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงแพะเนื้อ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ต้นทุนการเลี้ยงไม่สูงสามารถเลี้ยงแบบปล่อยให้แพะหาหญ้ากินเอง หรือเลี้ยงแบบปิดในโรงเรือนเพื่อความสะดวกในการดูแล ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 4 เดือนก็ขายได้ คุณวิรักษ์ แตงงาม เจ้าของฟาร์มแพะ “วรัญญาฟาร์ม” ตำบลโพงาม อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท เล่าว่า เมื่อ 30 ปีก่อนตนและภรรยามีอาชีพรับจ้างแบกข้าวเปลือกขึ้นรถบรรทุก ทำงานหนักร่างกายจึงทรุดโทรม แต่มีรายได้เพียงเดือนละ 6,000 บาท ต่อมาได้รับบาดเจ็บจากการแบกข้าวเปลือกจึงมองหาอาชีพใหม่ เห็นเพื่อนทำอาชีพเลี้ยงแพะเนื้อมีรายได้ดีจึงมาศึกษาเรียนรู้ แล้วหากู้เงินมาลงทุนประมาณ 150,000 บาท นำมาสร้างโรงเลี้ยง ซื้อแพะรุ่นแรกมาเลี้ยงประมาณ 40 ตัว จากนั้นแพะก็ออกลูกออกหลาน เพิ่มจำนวนมากขึ้น ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงปลดหนี้ที่กู้ยืมมาเลี้ยงแพะได้หมด จากนั้นในช่วงกลางปี 2564 จึงเริ่มต้นทำปุ๋ยจากมูลแพะ ส่วนวิธีการผลิตปุ๋ยมูลแพะนั้น กลุ่มได้รับความรู้มาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสูตรปุ๋ยหมักไม่กลับกอง อัตราส่วน 1 ต่อ 4 ส่วน (มูลแพะ 1 เข่ง ฟางก้อน 4 เข่ง) โดยกลุ่มจะผลิตครั้งหนึ่งจำนวนมาก โดยนำมูลแพะจำนวน 1,500 กิโลกรัมมาหมักกับฟาง 500 ก้อน วิธีการ คือ นำฟางมาวางเรียงบนลานกว้างประมาณ 2.5 เมตร ความยาวไม่จำกัด เรียงฟางให้มีความหนาประมาณ 10 เซนติเมตร จากนั้นนำมูลแพะมาเทเกลี่ยให้ทั่วกองฟาง รดน้ำ แล้วนำฟางมาคลุม ใส่มูลแพะ รดน้ำ ทำสลับแบบนี้จนได้กองปุ๋ยหนา 12 ชั้น (กองเป็นรูปสามเหลี่ยม สูงประมาณ 1.5 เมตร) จากนั้นต้องรดน้ำภายนอกทุกวันๆ ละ 1 ครั้ง และรดน้ำภายในทุกๆ 10 วัน โดยเจาะกองปุ๋ยให้เป็นรูทั่วทั้งกอง ห่างกันรูละ 40 เซนติเมตร แล้วรดน้ำลงไปในรู เสร็จแล้วปิดรู ทำแบบนี้ตลอดระยะเวลา 3 เดือน มูลแพะและฟางภายในกองจะย่อยสลาย จากนั้นจึงนำปุ๋ยมากองให้แห้ง แล้วนำมาร่อนเพื่อเอาสิ่งเจือปนออก ขั้นตอนสุดท้ายคือนำมาบรรจุถุงหรือนำมาทำเป็นปุ๋ยอัดเม็ดนำไปใช้หรือจำหน่ายได้

ผู้ให้ข้อมูล : นายวิรักษ์ แตงงาม

ผู้เขียน : นางสาววิภาวรรณ์ จันทเกตุ

อ้างอิง : สถานีข่าวชัยนาท