หมี่ตะคุ

การทำหมี่ตะคุ "พูดถึงถั่วงอกวังหมี ต้องนึกถึงหมี่ตะคุ" ตะคุเป็นชื่อหมู่บ้านและตำบลหนึ่งในอำเภอปักธงชัย ห่างจากที่ว่าการอำเภอปักธงชัยไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 4 กิโลเมตร ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาทำไร่ บ้านตะคุเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป เพราะการทำหมี่อันลือชื่อ "หมี่" เป็นอาหารพื้นบ้านชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว แต่เส้นบางกว่า เล็กกว่า เป็นอาหารตากแห้งที่เก็บไว้ได้นาน เมื่อปรุงเป็นอาหารแล้วจะมีรสและลักษณะแตกต่างไปจากก๋วยเตี๋ยวหรือผัดไทย เป็นสินค้าพื้นบ้านของบ้านตะคุที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย เส้นหมี่ของบ้านตะคุ จะเหนียวและนุ่ม น่ารับประทานมาก เมื่อมีงานบุญ มีงานการกุศล หมี่ตะคุเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่เจ้าภาพจะนำมาต้อนรับแขก


วิธีทำเส้นหมี่

1. นำข้าวสารไปแช่น้ำไว้ 1 คืนตอนเช้านำไปโม่ เรียกว่า โม่แป้ง ขณะโม่แป้งต้องระวังไม่ควรให้ข้นหรือเหลวเกินไป

2. ตักแป้งครั้งละ 1 ขัน เทลงบนผ้ากรองที่ขึงอยู่บนปากภาชนะที่ตั้งน้ำร้อน อยู่บนเตา แล้วใช้ก้นขันถูให้แป้งเป็นแผ่นบาง ๆ

3. พอแป้งสุกแล้วใช้ไม้พายม้วนขึ้น แล้วนำไปคลี่ออกวางบนตะแกรง(แผงที่ทำด้วยไผ่) วางแผ่นแป้งได้ประมาณ 6-7 แผ่น แล้วนำไปตากพอหมาด ๆ ก็นำมาทาน้ำมัน นำมาวางซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นนำไปซอยหรือตัดเป็นเส้น ๆ แล้วจับเส้นเป็นกำ ๆ ใส่แผง แล้วนำไปตากแดดอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เส้นหมี่แลพน้ำมันที่ทาไว้แห้งสนิท จึงนำมามัดด้วยตอก ซึ่งเรียกว่า "กำ" เช่น หมี่ 1 กำ

4. นำไปประกอบเป็นอาหาร ถ้าเหลือควรเก็บไว้ในที่โปร่ง ไม่อับชื้นจะอยู่ได้นานคนส่วนมากนิยมนำหมี่ที่ตากแห้งแล้วไปผัด เรียกว่า "ผัดหมี่" หรือบางท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ทำหมี่เป็น อาจจะนำมาทำเป็นเมี่ยงหมี่รับประทานสด ๆ เลยก็ได้ ไม่ต้องตากให้แห้งก็ได้ เรียกว่า "เมี่ยงหมี่" หรือนำไปทำก๋วยเตี๋ยวเส้นหมี่ตะคุ


การทำหมี่ตะคุในอดีตทำกันในครัวเรือน แต่ปัจจุบันตลาดมีความต้องการสูงจึงมีการผลิตเป็นอาชีพหลักในบางครอบครัวซึ่งรวมตัวกันเป็นกลุ่ม และมีโรงงานอยู่ในเขตหมู่บ้านตำบลตะคุ และประกอบกับต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เช่น ค่าฟืน ค่าแรงงาน ทำให้ราคาของหมี่มีราคาสูงขึ้นด้วย จะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงบ้านส่วนหนึ่ง และนำไปจำหน่ายตามร้านค้าอีกส่วนหนึ่ง ยังเหลืออีกส่วนหนึ่งจะนำไปนั่งขายที่ตลาดในอำเภอปักธงชัย


ที่มา https://www.gotoknow.org/posts/130920