ลาวครั่ง บ้านกุดจอก หนองมะโมง ชัยนาท ตะลุยชุมชน TPTV

ขอบคุณคลิปวิดีโอช่อง Krittapas Channel

ที่ยวบ้านเพื่อน เยือนวิถีชีวิตชุมชนวัฒนธรรม ภูมิปัญญาลาวครั่งตำบลกุดจอก

อีกความโดดเด่นของหนองมะโมงที่ควบคู่กับอำเภอใกล้เคียงอย่างเนินขาม เป็นศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มากับประเพณีและวัฒนธรรมชาติพันธุ์ลาวครั่งบ้านกุดจอกชาวลาวที่เรียกตัวเองว่า “ลาวครั่ง” ได้มีการอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่มีหนองน้ำที่เต็มไปด้วยจอกแหนเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 100 ปี และส่วนใหญ่มีอาชีพในการทอผ้าลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์และสามารถผลิตเป็นสินค้าสร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดชัยนาทได้อีกแห่งหนึ่งมีความสำคัญในการสืบต่อและคงไว้ซึ่งประเพณี เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาทั้งการถักการทอ และสานต่อเป็นอาชีพนอกภาคเกษตรกรรมที่สร้างรายได้ให้กับผู้คนในชุมชนได้มากมาย

ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งบ้านกุดจอก มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของตนเองไว้อย่างเหนียวแน่น อาทิ ประเพณีบายศรีสู่ขวัญต้อนรับผู้มาเยี่ยมเยือน ภาษาถิ่น “ภาษาลาวครั่ง” ดนตรีพื้นเมือง ลำกลอนฟ้อนแคน อาหารท้องถิ่นภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทำขนมจีนโบราณ ภูมปัญญาพื้นบ้านในด้านการรักษาด้วยสมุนไพร การนวดแผนโบราณ วิถีชีวิตการทำนาปลูกข้าวตามฤดูกาล การผลิตข้าวซ้อมมือ

การแต่งกายด้วยผ้าทอพื้นบ้าน การทอผ้าลวดลายที่มีเอกลักษณ์คือ ผ้าขิด ผ้าจกและผ้ามัดหมี่ ทอผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผ้าทอที่ใช้ในพิธีทางศาสนา ผ้าคลุมหัวนาค ผ้าห่อคัมภีร์ ผ้าทอใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หมอนน้อย หมอนเท้า ถุงขนมเส้น ฯลฯ

มีการจัดงานประเพณีสงกรานต์ "ต้อนฮับสังขาร บุญสงกรานต์ปีใหม่ไท" ประเพณีที่สำคัญของจังหวัดชัยนาท มีศูนย์สาธิตวิถีชีวิตชุมชน ได้แก่ การทอผ้า การสีข้าวและการตำข้าวแบบโบราณ การทำข้าวกล้อง การจักสานไม้ไผ่ และศูนย์แพทย์แผนไทย เป็นต้น

ชุมชนลาวครั่งบ้านกุดจอก ก็เหมือนกับชนเผ่าทั้งหลายในเอเชียอาคเนย์ที่เชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติทั่วไป มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างยิ่ง เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจ และความมั่นใจ ในการทำมาหากินและการดำเนินชีวิตของตน

พิธีกรรมต่าง ๆ ที่สืบทอดต่อกันมาจนเป็นประเพณีล้วนสะท้อนถึงความต้องการในวิถีชีวิตเรื่องน้ำและความอุดมสมบูรณ์ อันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมเกษตร เช่น การเปิดยุ้งข้าว การเรียกขวัญข้าว ซึ่งในแต่ละช่วงเดือนชาวบ้านจะร่วมทำบุญที่วัดตามความเชื่อศรัทธาในพุทธศาสนา สะท้อนว่าต้องการรับความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความสงบสุขในชีวิตของตนเองและครอบครัว เช่น พิธีทำบุญกลางบ้าน วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษาออกพรรษา เป็นต้น

ประวัติ หลวงพ่อเดิม ศิลาแรง

สิ่งศักดิ์สิทธิ์และสถานที่สำคัญ ในบริเวณวัดศรีสโมสร วัดประจำหมู่บ้าน

หลวงพ่อเดิม เป็นพระพุทธรูปทำด้วยศิลาแลงที่ค้นพบในโบสถ์เก่าไม่ทราบว่าสร้างในสมัยใดเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพสักการะของชุมชน

หลวงพ่อเดิม ศิลาแรง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ทำด้วยเนื้อหินศิลาแลง แล้วนำมาแกะสลัก เป็นศิลปะสมัยสุโขทัยตอนปลายหรือประมาณอยุธยาตอนต้น สังเกตจาก หน้าเรียวรูปไข่ เอวที่คอด นิ้วมือที่เรียว และชายสังฆาฏิที่เรียบ

ตามประวัติเล่าถึงการพบองค์หลวงพ่อเดิมไว้ว่า เมื่อครั้งราว พ.ศ.2428 ตอนปลาย พระอาจารย์ศรีและพระอาจารย์สร ได้นำชาวบ้านหาไม้ในป่ามาสร้างวัดจนพบพระอุโบสถเก่าพังๆ ด้านในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปองค์หนึ่งทำด้วยเนื้อศิลาแลงเศียรหักและเกตุมีการถูกตัด 1 องค์ เข้าใจว่าคงเป็นพระประธานมาแต่เดิมของโบสถ์เก่า และได้สร้างวัดขึ้นบริเวณนั้นโดยมีชื่อว่า “วัดกุดเข้” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “วัดศรีสโมสร” ต่อมาบูรณะพระประธานโดยสร้างขึ้นใหม่ และซ่อมแซมพระประองค์เดิม สวมยึดเศียรให้แน่นแล้วย้ายออกมาโดยสร้างวิหารเล็กๆให้หนึ่งหลัง (ในสมัยนั้น) โดยชาวบ้านกุดจอกขนานนามว่า”หลวงพ่อเดิม ศิลาแรง” (โดยมีความหมายว่า “เดิม”อยู่กับโบสถ์มาแต่เดิม “ศิลา”เนื้อหินแข็งหรือเรียกอีกอย่างว่าศิลาแลง “แรง”มีความเข็มแข็งอย่างรุ่นแรง มายุคนี้เรียกสั้นๆว่า”หลวงพ่อเดิม”

ปัจจุบันหลวงพ่อเดิม ศิลาแรง ได้ประดิษฐานอยู่ ณ ในศาลาหลวงพ่อเดิม กลางลานบุญวัดศรีสโมสร โดยเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยึดเหนี่ยวจิตใจพุทธศาสนิกชนในเขตอำเภอหนองมะโมง และใกล้เคียงอีกมากมาย ยามมีเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ หรือจะต้องการบนบาน ขอพรสิ่งใด ก็จะมาจุดธูปอธิษฐานบนบานบอกกล่าว ขอพร ก็จะได้สมดังใจปรารถนาเสมอ ส่วนใหญ่ก็จะบนบานจะแก้ด้วยรำวงแบบต่างๆ ตามคำบนบานนั้นๆ การบนด้วยรำวงจะได้ผลดีนักแล เพราะเคยมีหลายท่านเคยบนด้วยรำวงแล้วสำเร็จดังใจนึกทุกรายไป และหลายๆท่านก็เคยมีประสบการณ์พบสัมผัสกับความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ ปลอดภัยแคล้วคลาดเพราะบารมีหลวงพ่อเดิม ศิลาแรงมาแล้วหลายท่านมากมาย

เครื่องบูชาสักการะหลวงพ่อเดิม ศิลาแรง มี ธูป 3 ดอก เทียนขาว 2 เล่ม ดอกบัวหรือดอกไม้สีสันสีขาว 2 ดอก หมากพลู บุหรี่ โดยมีพระคาถาบูชาว่าดังนี้”โหตุ สัพพัง สุมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวตา สัพพะพุทธานุภาเวนะ ประสิทธิเม โสตถี เมตตา ลาภา นะโมพุทธายะ นะมะพะทะ โหตุ หิรัญ ตะรัง” ทางวัดจะให้บริการให้ผู้ที่นับถือศรัทธาในองค์หลวงพ่อเดิม ได้มากราบสัการะหลวงพ่อเดิมได้ทุกวันที่ศาลาหลวงพ่อเดิม วัดศรีสโมสร ทางวัดมีธูปเทียนทองไว้สำรองรอรับทุกท่านที่มากราบสักการะขอพรหลวงพ่อเดิม ศิลาแรง

ในวันแรม 2ค่ำ เดือน 4ของทุกปี ทางวัดศรีสโมสร นำโดยเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร อุบาสก อุบาสิกา ทายก ทายิกา จะจัดงานสมโภชปิดทองหลวงพ่อเดิม ศิลาแรง ประจำปีทุกๆปี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธ์ที่ประชาชนหลายที่หลายเขตให้ความเคารพสักการะ ในงานจะมีมหรสพต่างๆสมโภชมากมาย อาทิ ลิเกไทยมาตรฐาน รำวงย้อนยุควงใหญ่ ภาพยนตร์จอยักษ์ เป็นต้น มีประชาชนจากในเขตตำบลกุดจอก ในเขตอำเภอหนองมะโมง และเขตใกล้ๆเคียง มาร่วมงานอย่างมากมาย

พิธีซ้อนขวัญ พิธีสู่ขวัญ ลำกลอนฟ้อนแคน ของชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก

ชุพิธีสู่ขวัญ เป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก ที่เชื่อว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับขวัญการทำพิธีจึงเป็นการนำขวัญที่หายไปให้กลับมาอยู่กับตัวนอกจากนี้ยังเป็นพิธีที่ใช้ในการต้อนรับแขกบ้าน โดยจะมีการทำบายศรี และนำสายสิญจน์ผูกข้อมือ

ผ้าทอพื้นถิ่นลาวครั่งตำบลกุดจอก

กลุ่มทอผ้าพื้นเมือง บ้านกุดจอก ชัยนาท

มีทั้ง ผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนจก ซิ่นผ้าไหม ซิ่นผ้าฝ้าย ผ้าขาวม้า ย่ามแปรรูป ทอมือทั้งผืน มีคุณค่าทางจิตใจมากๆค่ะ

นางซ้อง จบศรี เป็นผู้ที่สืบเชื้อสายมาจากลาวครั่ง และ เป็นผู้ที่มีความชำนาญในการทอผ้าลาวครั่งด้วยลวดลายต่างๆ มากมาย

ปัจจุบันยังทอผ้าซิ่นยก จก และมัดหมี่ทำการถ่ายทอดวิธีการทอให้กับลูกหลานให้สืบต่อไป การทอผ้าของป้าซ้อง จบศรีเล่าว่าเดิมเส้นใยฝ้ายจะย้อมดีสีธรรมชาติ เช่น หัวขมิ้นชันหัวไพล แก่นขนุน รากยอป่ามะไฟ เปลือกล้มเสี้ยว ใบหูกวาง เปลือกสมอ ผลมะเกลือป่าผลมะยมป่า ผลสมอพิเภก ลูกหว้า ต้นและใบคราม แต่ในปัจจุบันได้หันมาใช้สีวิทยาศาสตร์เนื่องจากการย้อมสีธรรม มีขั้นตอนเยอะและวัถุดิบในการย้อมเริ่มหายาก

สินค้า : ผ้ามัดหมี่ตีนจก, ผ้าซิ่นไหม ผ้าซิ่นฝ้าย หูซิ่น หัวซิ่น ผ้าขาวม้า ย่ามแปรรูป

สนใจสินค้าสามารถติดต่อได้ตามด้านล่างเลยนะคะ

K.สำเนา จบศรี เบอร์ 089-969-4518

พิกัด https://maps.app.goo.gl/d5kFFgovYK2ekwACA

ขั้นตอนและอุปกรณ์ในการทอผ้า

การเตรียมเส้นด้ายปัจจุบันช่างทอจะซื้อฝ้าย ไหมและเส้นใยสังเคราะห์จากตลาดหรือรวมกลุ่มกันไปซื้อจากจังหวัดใกล้เคียงเช่น จังหวัดสุพรรณบุรี ลพบุรีหรือสั่งซื้อจากภาคอีสาน เช่นจังหวัดขอนแก่น นครราชสีมาเป็นการลดขั้นตอนการผลิตเส้นใยลง

1. การเตรียมเส้นใยที่ใช้ในการทอทั้งเส้นด้ายยืนและเส้นด้ายพุ่งเส้นด้ายยืน เมื่อซื้อฝ้าย ไหมหรือเส้นใยสังเคราะห์สำเร็จรูปในปัจจุบันซึ่งม้วนเป็น

เข็ดหรือเป็นไจต้องนำเส้นใยชนิดนั้น ๆ ผ่านกรรมวิธีดังนี้

1.1 ฟอกเพื่อให้กาวในเส้นใย (เฉพาะไหม)หลุดออกมาด้วยกรรมวิธีต้มเพื่อให้เส้นใยนิ่ม ติดสีย้อม ส่วนฝ้ายและใยสังเคราะห์ลงแป้งด้วยน้ำซาวข้าว

1.2 ย้อมสีตามความต้องการ

1.3 เดินด้ายโดยคำนวณให้มีความกว้างเท่ากับจำนวนหน้าผ้าส่วนที่ต้องการทอ เช่น ส่วนตัวซิ่น ฯ

1.4 เข้ากี่นำเส้นด้ายที่เดินด้ายแล้วเข้ากับกี่ที่จะทอโดยสอดด้ายเข้าฟืม เก็บลายโดยผูกตะกอด้ายโยงทั้งด้านล่างกับเท้าเหยียบและคานแขวนด้านบน

1.5 ทอ เก็บลาย

2. เส้นด้ายพุ่งสำหรับการทอซิ่นมัดหมี่มีขั้นตอนดังนี้

2.1 มัดลายนำเส้นด้ายไปยึดกับหลักไม้เพื่อคั่นลายหรือมัดลายตามความต้องการด้วยเชือก ฟางในล่อนเพื่อไม่ให้ส่วนที่มัดลายติดสีเวลาย้อมถ้าต้องการลวดลายให้ผืนผ้ามี 4 สี ต้องมัดย้อมถึง 4 ครั้ง

2.2 ย้อมสี

2.3 กรอเข้ากระสวย นำเส้นด้าย ไหมที่ย้อมสีแล้วไปตากในที่ร่มจนแห้งเข้าระวิงเพื่อกรอด้วย หรือไหมเข้าหลอด (แกนกระสวย)เพื่อนำไปใส่กระสวยสำหรับทอผ้าต่อไป วิธีทอการทอผ้าของกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวมีเทคนิคการทอที่หลากหลาย รวม 4 วิธี คือ ทอ ชิด จก และมัดหมี่วิธีทอและการนำไปใช้ประโยชน์มีดังนี้

3.1 ทอลายขัดในอดีตการทอผ้าขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันจะทอกันแทบทุกครัว เรือนเพื่อทำเครื่องนุ่งห่มทั้งหญิงและชายได้แก่ ผ้าพื้นสีขาวและสีต่าง ๆฟูก หมอน มุ้ง ผ้าห่ม ผ้าโสร่งผ้าขาวม้า ผ้าซิ่น ผ้าสไบผ้าพาดบ่า ผ้าสบง ผ้าจีวร เป็นต้นจะใช้ฝ้ายทอแต่ถ้าใช้ในวาระสำคัญก็จะใช้ผ้าไหมทอเช่น ผ้าพุ่งไหม ผ้าม่วงนำไปนุ่งเป็นโจงกระเบน

3.2 ทอขิดเป็นวิธีการทอโดยใช้ไม้เขี่ยหรือสะกิดช้อน ซึ่งต้องเก็บยกเส้นด้ายยืนเป็นตะก้อลอยให้เกิดเป็นลวดลายแล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตลอดแนวความกว้างของหน้าผ้าจะทำให้เกิดลวดลายขึ้นในแต่ละแถวเป็นลายซ้ำและมีสีด้ายสีเดียวตลอดแนวผ้าทอขิดถูกนำไปใช้ในการทำหมอนต่างๆ เช่น หมอนขวาน หมอนหน้าหกเบาะรองนั่ง ผ้าห่อคัมภีร์ขิดหัวซิ่นทอขิดคั่นระหว่างผ้ามัดหมี่ในตัวซีน (หมีตา)และทอเป็นลายประกอบในตีนซีน

3.3 ทอจกเป็นวิธีทอให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าโดยวิธีการเพิ่มเส้นด้ายพุ่งพิเศษเข้าไปขณะที่ทอเป็นช่วง ๆไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้าโดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยกหรือจกด้ายเส้นยืนขึ้นแล้วสอดใส่ด้ายเส้นพุ่งพิเศษเข้าไปตามจังหวะของลวดลายแล้ว สอดด้ายเส้นพุ่งทับเส้นพุ่งพิเศษเป็นลักษณะการทอแบบปักผสมทอผ้าจกจะพบในลายหมอนสลับกับการทอขิดแต่พบมากที่สุดคือจกที่ส่วนตีนซิ่นการจกในกลุ่มของชนชาติเชื้อสายลาวใช้วิธีนับเส้นไหมและสอดด้วยมือใช้ฝ้ายหรือไหมเส้นโตทำให้ลายหยาบการขึ้นกี่ทอคว่ำเอาหลังลายขึ้นข้างบน

3.4ทอมัดหมี่เป็นวิธีทอผ้าที่ต้องนำเส้นด้ายหรือไหมไปมัดย้อมเส้นด้ายพุ่งหรือเส้นด้ายยืนด้วยเชือกหรือวัสดุที่ไม่ติดสีให้เกิดลวดลายก่อนนำไปย้อมสีแล้วกรอด้วยให้เรียงตามลวดลายใส่กระสวยนำไปทดจะได้ลายมัดหมี่เส้นพุ่งส่วนมากทดเพื่อทำตีนซิ่น การทอทั้ง 4 วิธีทำให้เกิดผ้าทอมือประเภทต่าง ๆมากมายเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสามารถของช่างทอของชนทั้ง 2 กลุ่มซึ่งเชี่ยวชาญในการทำผ้ามัดหมี่และผ้าจกซึ่งแตกต่างจากช่างทอผ้าในกลุ่มเชื้อสายลาวอื่นๆซึ่งมักจะมีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่งเพียงอย่างเดียวลักษณะของลวดลายที่ปรากฏสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีตจนถึงปัจจุบันจำแนกออกเป็น 3 ลักษณะ ดังนี้

1. ลายสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ลายขอ (ตะขอ) ลายช่อ (ร่ม) ลายชาเปีย (ชื่อเครื่องมือที่ใช้กวักด้าย)

2. ลายพันธุ์พฤกษา เช่น ลายกาบ (กลีบดอกไม้) ลายดอกน้อย ลายดอกแก้ว

3. ลายสัตว์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ

3.1 สัตว์ในธรรมชาติ เช่น กะเมี้ย (ผีเสื้อ) ม้า ช้าง กวาง เต่า บ่าง (ค้างคาว)

3.2 สัตว์ในจินตนาการ ได้แก่นาค สิงห์ หงส์ ความเชื่อลวดลายที่เกี่ยวกับความเชื่อในผ้าทอมือได้แก่ ลายสัตว์ในจินตนาการผ้าทอของกลุ่มคนไทยเชื้อสายลาวคั่งตำบลกุดจอก กิ่งอำเภอหนองมะโมงลายนาค พบอยู่ในตัวซิ่นมัดหมี่ลายหงส์เป็นลายที่พบทั่ว ๆไปในตีนจกลายสิงห์เป็นลายที่พบในผ้าห่อคัมภีร์ผ้าคลุมหัวนาคและหมอนขิดสำหรับถวายพระลักษณะของผ้าจกของคนไทยเชื้อสายลาวคั่ง ชื่อลายประธานและชื่อลายประกอบ ปัจจุบันกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้ส่งเสริมงานทอของป้าซ้องจบศรี ด้วยการนำไปสาธิตจัดทำเป็นต้นแบบในการทอและลวดลายรวมทั้งกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมก็ให้การสนับสนุนด้วยการหาตลาดเพื่อให้งานถักทอสามารถอยู่ได้

และนี่คือของฝากที่ขึ้นชื่อของหมู่บ้านอีกหนึ่งชิ้น "กระด้ง" และยังมีการนำกระด้งไปทำเป็นการละเล่นอีกด้วย

ก่อนเราจะไปกันต่อ แวะซื้อ "หมวกสานจากทางมะพร้าว" ใบละ 50 บาทเองน้ะ

ที่แรกที่เราจะนำไป คือ บ้านผ้าทอ ที่นี่จะยังไช้ "กี่" อยู่เพื่อความเป็นวัฒนธรรมของเราค่ะ

นี่คือ Item ของคนทอผ้า ..

และนี่คือลายปักผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ที่เหมาะแก่การมีไว้ในครอบครองที่สุด !

ทานน้ำพริกปลาร้าหมูสับหมดแล้ว อยากดื่มน้ำแล้ว นี่เลยค่ะ "น้ำอัญชันสมุนไพร" หอมหวาน แก้ร้อนค่ะ

เราไปต่อกันเรื่องอาหารดีกว่า นี่คืออาหารขึ้นชื่อของหมู่บ้านกุดจอก เรียกว่า "ปลาร้าหมูสับ" หอมกรุ่นจากเตา

ตำรับอาหารพื้นบ้านชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก

ตำรับอาหารบ้านกุดจอกนั้นเป็นตำรับดังเดิมของชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก ทั้งต้มยำไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อน ลาบปลาดุกรสเด็ด แจ่วไก่ และขนมที่สื่อถึงเอกลักษณ์ของชุมชนได้อย่างดี อาหารที่ชาวบ้านนิยมทำนั้น จะไม่นิยมใส่น้ำตาล หากจะ ใส่น้ำตาลจะใส่ในขนมเท่านั้น

ขนมแดกข้าวโพด

หั่นหรือฝานเมล็ดข้าวโพดหวาน แล้วนำไปโขลกให้แหลก แล้วนำมาผสมกับแป้งข้าวเหนียว นวดให้เข้ากันใส่น้ำตาลทรายพอหวาน ขยำเข้าด้วยกันจนเป็นเนื้อเดียว ปั้นเป็นก้อนขนาดนิ้วมือแล้วนำไปคลุกกับมะพร้าวขูดด้วยกระต่ายห่อด้วยเปลือกหุ้มฝักข้าวโพดหรือใบตองแล้วนำไปนึ่งประมาณ 40 นาที

แจ่วไก่

นำข่า ผิวมะกรูด หอมแดง กระเทียม เผาจนหอม แล้วนำไปโขลกรวมกับเนื้อไก่ กะปิ ปลาร้า กระชายนำส่วนผสมที่เข้ากันดีแล้วไปผัดกับกะทิ เมื่อสุกแล้วปรุงรสด้วยน้ำปลา

ต้มยำไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อน

นำข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอมแดง ใส่ในหม้อต้มน้ำให้เดือด แล้วจึงนำไก่บ้านลงไปต้มจนสุกดีแล้วจึงใส่ใบมะขามอ่อน ปรุงรสด้วยมะขามเปียก พริกและน้ำปลา จะได้ต้มยำไก่บ้านใส่ใบมะขามอ่อนที่รสชาติจัดจ้านหอมสมุนไพร


ประเพณีพื้นบ้านชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก

ชุมชนวัฒนธรรมลาวครั่งกุดจอก ยังคงอนุรักษ์ประเพณีสงกรานต์ดั้งเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี ประเพณีสงกรานต์ หรือ ประเพณีเดือน 5ถือเป็นประเพณีสำคัญที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ ประเพณีแห่ดอกไม้ ประเพณีก่อพระทราย ประเพณีแห่ธงประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ประเพณีเล่นผี ก่อนถึงวันสงกรานต์ ทุกคนจะต้องเตรียมทำความสะอาดบ้านเรือน ในอดีตต้องเตรียมหาบน้ำ ผ่าฟืนเก็บไว้ให้พอเพียงเพราะเมื่อสงกรานต์ลงจะเล่นสนุกสนานและทำบุญกันอย่างเดียว เรียกว่า “ถือ” วันสงกรานต์วันแรกในวันที่ 13 เมษายน บางเรือนจะต้อนรับนางสงกรานต์ด้วยการนำเอาขันธ์ 5 คือ กรวย หรือ ชวยใบตอง ใส่ดอกไม้ ธูป เทียน รวมทั้ง ผ้านุ่ง ผ้าสไบ หวี แป้ง กระจก ใส่ถาดวางไว้บนเรือนตรงหน้าต่างเพื่อให้นางสงกรานต์มารับสิ่งของนั้น

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว ผู้เขียน นางสาวสิริภัสสรณ์ เปี่ยมทอง บรรณารักษ์อัตราจ้าง

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย 1.นางสาวสิริภัสสรณ์ เปี่ยมทอง บรรณารักษ์อัตราจ้าง

2.คู่มือท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีตำบลกุดจอก อำเภอหนองมะโมง


ข้อมูลTKPอ้างอิง https://sites.google.com/d/1fE9SItLoMs0V83ODKxZ9763uCmCPZe8Z/p/10HfFJhWRuMkVMqJGsReGGXLejXqAwiO5/edit

แผนที่การเดินทาง