โบราณสถาน

วัดไตรภูมิ

ตั้งอยู่เลขที่ ๑ บ้านโนนบุรี ถนนหลักเมือง หมู่ที่ ๓ ตำบล

โนนบุรี อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๕๘ ไร่ ๒ งาน ๔๗ ตารางวา ตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๐ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ อำเภอสหัสขันธ์ อยู่ในบริเวณสร้างเขื่อนลำปาว จึงย้ายวัดไตรภูมิมาตั้งในที่เชิงเขาภูสิงห์ด้านทิศใต้จนถึงปัจจุบันนี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕ มีพระแก้ว เป็นเจ้าอาวาสเป็นคนแรก (๒๔๓๐-๒๔๔๔)ปัจจุบันมีพระมหานำพล ทิตฺตวฑฺฒโน (ธาดาพรหมสถิต) เจ้าคณะตำบลภูสิงห์ เป็นเจ้าอาวาส (๒๕๕๑ ถึงปัจจุบัน) วัดไตรภูมิมีความสำคัญหลายประการคือ ๑ เป็นที่ตั้งสำนักงานเจ้าคณะตำบลภูสิงห์ ๒ เป็นสำนักศาสนศึกษาบาลี ๓ เป็นสำนักปฏิบัติประจำจังหวัดกาฬสินธุ์ (แห่งที่ ๕) ๔ เป็นศูนย์อบรมประชาชนประจำตำบลภูสิงห์ (อปต.) ๕ เ ป็นศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ , มีปูชนียสถานที่สำคัญคือ อุโบสถทรงไทยประยุกต์ผสมผสานกับศิลปะแบบไทยอีสานซึ่งมีความวิจิตรงดงามมาก มีปูชนียวัตถุที่สำคัญคือพระพุทธรูปหินทรายโบราณ ปางมารวิชัย มีอายุหลายร้อยปี

วัดไตรภูมิได้จัดให้มีสถานที่สำหรับเป็นที่พักสงฆ์และเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมของพุทธบริษัททั่วไปซึ่งมีนามว่า “สถานพุทธาวาส” ตั้งอยู่บนไหล่เขาภูสิงห์ด้านทิศใต้ เป็นสถานที่มีความสำคัญคือเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธปฏิมากรองค์ใหญ่ปางมารวิชัย ขนาดหน้าตัก ๑๐.๕๐ เมตร สูง ๑๗.๘๐ เมตร สร้างด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๑ ,มณฑปรอยพระพุทธบาทสร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๒ , สวนหินสอนธรรม สร้างเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ และเป็นศูนย์อบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่บุคคลทั่วไป

ศาลาลานธรรม เป็นสถานที่ประกอบสังฆกรรมและทำวัตรสวดมนต์ของคณะสงฆ์เป็นอาคารที่สร้างให้กลมกลืนกับธรรมชาติ

อุโบสถวัดไตรภูมิ เป็นศิลปะประยุกต์ระหว่างโบราณอีสานและศิลปะสมัยใหม่อย่างลงตัว