การเลี้ยงหนูนาในบ่อซีเมนต์

“การเลี้ยงหนูนาในบ่อซีเมนต์”

กศน.อำเภอท่าบ่อ

บ้านฝาง หมู่ที่ 4 ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย

อาชีพท้องถิ่น การเลี้ยงหนูนาในบ่อซีเมนต์ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ นายคำพอง โพธิจันทร์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านฝาง ต.น้ำโมง อ.ท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ได้น้อมนำหลักปรัชญานี้มาใช้ในการประกอบอาชีพเสริมการเลี้ยงหนูนาหรือหนูพุกในบ่อซีเมนต์ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาเลี้ยงหนูนา ได้ประกอบอาชีพเลี้ยงไก่เป็นอาชีพเสริมมาก่อน ปรากฏว่าต้องใช้ต้นทุนในการเลี้ยงสูงแต่ราคาไม่ค่อยดี จึงได้หันมาเลี้ยงหนูในบ่อซีเมนต์ โดยได้ไปซื้อพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มาจาก อำเภอหนองวอซอ จังหวัดอุดรธานี จำนวน 6 ตัว เลี้ยงจนได้ลูกมา จึงขยายพันธุ์เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันนี้มีหนูพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ประมาณ 90 ตัว หนูขุน ประมาณ 100 ตัว รวมทั้งลูกหนูที่ออกใหม่ แล้วมีหนูรวมทั้งสิ้นมากกว่า 300 ตัว ซึ่งการเลี้ยงหนูนั้น ถือว่าเลี้ยงง่ายไม่มีปัญหาอะไร ขยายพันธุ์ได้เร็วส่วนอาหารก็หาเอาตามที่มีในท้องถิ่น เช่นข้าวเปลือก หัวมันสำปะหลัง และหญ้าเนเปีย เป็นการลดต้นทุน ทั้งนี้จากที่ตนเลี้ยงหนูมา พบว่าสุขภาพหนูที่เลี้ยงทุกตัวแข็งแรงดี ซึ่งแม่พันธุ์หนูหนึ่งตัว จะให้ลูกไม่ต่ำกว่า 3 ชุด/ปี ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 5 ชุด/ปี แต่ละชุดจะให้ลูกตั้งแต่ 5 – 12 ตัว อยู่ที่อายุของหนูที่เลี้ยง

หนูที่พร้อมจะเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ จะมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ซึ่งจะเริ่มขายให้กับลูกค้าที่มาซื้อตั้งแต่อายุ 1 เดือนขึ้นไป แต่ลูกค้าส่วนใหญ่จะเลือกซื้อหนูอายุ 3 เดือน เพื่อสามารถนำไปเป็นพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ได้ทันที โดยจะขายคู่ละ 500 บาท แต่ถ้าซื้อหลายตัวก็จะมีส่วนลดให้ ส่วนหนูที่ขายเป็นหนูเนื้อจะขายในราคากิโลกรัมละ 180 บาทซื้อจำนวนมากก็ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งหนูที่จะขายเป็นหนูเนื้อได้ก็ต้องมีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไปเช่นกัน ตัวเมียจะมีน้ำหนักอยู่ที่ตัวละ 6 ขีด ตัวผู้จะมีน้ำหนักอยู่ที่ตัวละ 8 ขีด – 1 กิโลกรัม

สำหรับการทำความสะอาดบ่อเลี้ยงนั้น จะทำความสะอาด 3 วัน/ครั้ง โดยใช้ปูนขาวและอีเอ็มที่จะช่วยในการดับกลิ่น ซึ่งจะเป็นการป้องกันการเกิดโรค บ่อที่ใช้เลี้ยงระหว่างหนูขุนและหนูพันธุ์ก็จะแตกต่างกัน บ่อที่เป็นบ่อคอนกรีตสี่เหลี่ยมจะใช้เลี้ยงหนูขุน ส่วนบ่อที่เป็นท่อจะใช้เลี้ยงหนูพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ซึ่งจากที่ได้เลี้ยงพบว่าขณะนี้ให้ผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า จึงได้มีการขยายพื้นที่เลี้ยงเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนหนูโตไม่ทันขาย ซึ่งลูกค้ามีทั้งมาจากจังหวัดข้างเคียง และเป็นชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง มาซื้อไปเลี้ยงหลังจากที่ได้มาศึกษาดูงาน ผู้ที่อยากจะเลี้ยงหนูเป็นอาชีพเสริมก็สามารถมาดูงานที่ฟาร์มของได้ ถือเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับผู้เลี้ยงได้เป็นอย่างดี

ส่วนเมนูหนูอบโอ่งที่กำลังเป็นที่นิยมนั้น ก็จะขายแบบชั่งกิโลขาย ลูกค้าจะไปอบเองก็ได้ หรือจะให้ตนอบให้ก็ได้ ซึ่งจะคิดค่าอบเพิ่มตัวละ 20 บาท หนูอบโอ่งจะหนังกรอบเนื้อนุ่ม สุกทั้งตัว ไม่ไหม้เหมือนหนูปิ้งหรือหนูย่าง สีสันชวนรับประทาน และรสชาติอร่อย นอกจากจะทำเมนูอบโอ่งแล้ว หลายคนยังนำไปทำเป็นผัดเผ็ดหนู บางคนก็นำไปย่างให้สุกแล้วนำมาก้อยตามแต่ผู้บริโภคจะชอบ

ผู้เขียน นางสาวสุภาวดี ธรรมสุข ครู กศน.ตำบล

ผู้ถ่ายภาพ นางสาวสุภาวดี ธรรมสุข ครู กศน.ตำบล