ภาษาล้านนา ตั๋วเมือง

ภาษาล้านนา ตั๋วเมือง

ประเภทกลุ่มข้อมูล

ภูมิปัญญาท้องถิ่น : ภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง)

****************

ข้อมูลภูมิปัญญา

พ่อหนานลา หรือพ่อลา จาจุมปา อยู่บ้านเลขที่ 37 หมู่ 2 ตำบลโชคชัยอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการใช้ภาษาล้านนา หรือเรียกว่าตั๋วเมือง อายุ 76 ปี เกิดวันที่ 5 มกราคม 2488 เริ่มเรียนตั๋วเมืองตั่งแต่ พ.ศ.2503 รวมแล้ว 61 ปีที่รู้และใช้ตั๋วเมืองในการเป็นปู่จานวัด มีความสามารถด้านการส่งเคราะห์ ส่งแถน ส่งต้อง ส่งจ๋น ส่งกิ๋ว ฮ้องขวัญ เป็นพิธีกรรมทางศาสนาซึ่งตัวหนังสือที่ใช้เป็นตั๋วเมือง และสอนลูกหลานในชุมชนให้รู้จักตั๋วเมือง และยังรับรักษาโดยการเป่าใช้คาถา เช่น เป่าให้เด็กแรกเกิดสะป้าน เป่าตุ่ม เป่าเมื่อถูกงูฉก ผึ้งต่อย หรือโดนสัตว์มีพิษ

ภาษาล้านนาเป็นภาษาถิ่นที่มีเอกลักษณ์ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน คนท้องถิ่น เรียกว่า ตั๋วเมือง เพราะเป็นภาษาของคนพื้นเมือง แต่เดิมใช้เป็นภาษาสื่อสารของชาวล้านนา ใช้เป็นภาษาที่เขียน ในหนังสือทางราชการของอาณาจักรล้านนาในช่วงประมาณ ๗๐๐ ปีที่ผ่านมา ดังที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ ทั้ง ศิลาจารึก ปั๊บสา และคัมภีร์ใบลานต่างๆ เป็นภาษาที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีตโดยเฉพาะกลุ่มพระสงฆ์และปู่จาน ในล้านนานิยมใช้ในการเขียนคัมภีร์หรือธรรม ที่ใช้เทศนาสั่งสอนญาติโยม โดยเขียนร้อยเรียงเป็นผูกๆ เป็นเรื่องราว ตั๋วเมืองจึงเรียกอีกอย่างว่า ตัวธรรม นอกจากนี้ยังใช้ในการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆ ทั้งตำรายาเวทย์มนต์คาถา องค์ความรู้ต่างๆ ในอดีตมักจดบันทึกด้วยภาษาล้านนา ดังนั้น ภาษาล้านนาจึงเป็นภาษาที่สำคัญที่จะนำไปสู่การปริวรรตติองค์ความรู้ต่างๆ ของชาวล้านนาออกจากตำราและคัมภีร์ต่างๆรูปแบบอักษร ความเป็นเอกลักษณ์ในรูปของอักษรต่างๆ ที่สามารถเขียนได้ทั้งเต็มรูป และลดรูป หรือแม้แต่ใช้สัญลักษณ์แทน ซึ่งผู้ที่มีความชำนาญด้านภาษาล้านนามักจะมีรูปแบบการเขียนอักษรล้านนาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง ในอดีตอักขระภาษาล้านนา แบ่งเป็น สระ และ พยัญชนะ คล้ายกับภาษาบาลี โดยพยัญชนะ มีทั้ง วรรค และเศษวรรค เหมือนภาษาบาลี แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์เทียบกับภาษาไทยกลาง จึงทำให้มีพยัญชนะเพิ่มขึ้น ส่วนสระ มีทั้งสระลอย ๘ ตั้งที่สามารถออกเสียงเองได้ และสระอาศัยที่ต้องอาศัยพยัญชนะจึงออกเสียงได้ การผสมอักษร ภาษาล้านนามีรูปแบบการผสมคำที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่ต้องอาศัย ความเชียวชาญและการสังเกต เพราะบางครั้งผู้เขียนๆ เพียงสั้นๆ แต่ใช้การซ้อนสระและพยัญชนะไว้ในตัวเดียวกันกับสามารถอ่านได้ยาว หรือบางครั้งสามารถผสมกับอักษรที่อยู่ถัดไปได้ เรียกว่าตั๋วข่ม ตั๋วไหล ดังนั้น ผู้ที่จะสามารถอ่านภาษาล้านนาได้ต้องอาศัยการสังเกตและอาศัยความชำนาญพอสมควรจึงจะสามารถอ่านได้ถูกต้อง การพูด หรือ การอ่านออกเสียง ภาษาล้านนาก็มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไปจากท้องถิ่นอื่นๆ ซึ่งถือได้ว่าเป็นความงดงามด้านภาษา สำเนียงการพูดของชาว เชียงใหม่ ลำพูน และลำปางบางส่วน มีสำเนียงคล้ายกัน คือ พูดช้าๆ ลากเสียง ส่วน เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ และแม่ฮ่องสอนบางส่วน มีสำเนียงคล้ายกัน คือ พูดออกเสียงสั้นๆ

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านแม่เลียบ หมู่ที่ ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย

การเดินทาง : ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1173 ถนนแม่เลียบ-ศรีเวียง

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย : นางขวัญลักษณ์ คุณยศยิ่ง ครู กศน.ตำบลโชคชัย

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : นางสาวพรลภัส โนวิชัย ครู กศน.ตำบลโชคชัย