ภูมิปัญญาการฮมเขี้ยว ด้วยสมุนไพรโบราณ

ภูมิปัญญาการฮมเขี้ยว ด้วยสมุนไพรโบราณ

ประเภทกลุ่มข้อมูล

ภูมิปัญญาท้องถิ่น : การฮมเขี้ยวด้วยสมุนไพรโบราณ

****************

ข้อมูลภูมิปัญญา

นายก๋อง กันทะวี หรือพ่ออุ้ยก๋อง อยู่บ้านเลขที่ 109 หมู่ 2 ตำบลโชคชัยอำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านการรักษาการปวดฟันโดยการฮมเขี้ยว อายุ 78 ปี เกิดวันที่ 7 เมษายน 2485 สืบทอดภูมิปัญญาความรู้ในการฮมขี้ยว การรักษาการปวดฟันโดยใช้ขางจากพ่ออุ้ยหม่องกันทะวี ซึ่งเป็นปู่ สมัยที่อาศัยอยู่จังหวัดลำพูนตอนเด็กและก่อนที่จะอพยพมาอยู่จังหวัดเชียงราย โดยการสืบทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ใช้วิธีการรักษาคนปวดฟันทั้งเด็ก ผู้ใหญ่หญิงชายมากว่า 50 ปี โดยวิธี ฮมเขี้ยว คือการรักษาโรคฟัน (เขี้ยว)โดยการอบหรือรม (ฮม) ด้วยควันที่ได้จากการเผาไหม้ของสมุนไพร เพื่อรักษาโรคไซนัสบรรเทาอาการปวดฟัน เหงือกบวม และระงับกลิ่นปาก โดยจะฮมเขี้ยวประมาณ 3 ครั้งเมื่อเสร็จแล้ว จะมีตัวแมงกินฟันออกมา(ลักษณะคล้ายเส้นด้าย) ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัตว์ที่ทำให้เกิดอาการปวดฟันหรือตัวหนอนเขี้ยว ที่เป็นตัวการทำให้ปวดฟันหลุดออกมาตาย

สำหรับวิธีการฮมเขี้ยวเริ่มจากเตรียมอุปกรณ์ เตรียมเตาเผาถ่านแล้วเอา แผ่นขาง ประมาณ 5-6 ชิ้นเผาไฟจนแดง แล้วเอามาวางไว้บนจาน ตักยารมวางบนขางที่ร้อนแดง 1ช้อนชา จากนั้นหยอดน้ำมันงาลงบนยา 2-3 หยด นำกรวยรมยาครอบแผ่นขาง แล้วจะมีควันออกมา คนป่วยปวดฟันใช้ปากอมกรวยรมยา ให้ตัวยาระเหยแทรกซึมเข้าในเหงือกและฟันซักพักให้ความหมด คายปากออกมาจะเห็นแมงกินฟันตามที่คลอบและในจาน ทำประมาณ 4-5 ครั้ง ก็แล้วเสร็จ


ทั้งนี้ วิธีการรักษาด้วยวิธีฮมเขี้ยว (รมควัน) นี้ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ หรือรับรองจากผู้เชี่ยวชาญว่ามีความความปลอดภัยและถูกสุขลักษณะหรือไม่อย่างไร แต่ผู้คนต่างเชื่อมั่นวิธีการรักษาที่สืบทอดกันมาแต่โบราณกาลของชาวล้านนาจนถึงปัจจุบัน โดยชาวบ้านยังเชื่อว่าการรักษารูปแบบนี้จะทำให้ไม่ต้องถอนฟัน ไม่เสียฟัน ไม่เสียเงินมากมาย และไม่เจ็บปวดด้วย ถือว่าเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่สวนทางกับกระแสโลกปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็มีการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านแม่เลียบ หมู่ที่ 2 ตำบลโชคชัย อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย

การเดินทาง : ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 1173 ถนนแม่เลียบ-เชียงราย

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย : นางขวัญลักษณ์ คุณยศยิ่ง ครู กศน.ตำบลโชคชัย

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย : นางสาวพรลภัส โนวิชัย ครู กศน.ตำบลโชคชัย