โคมล้านนา คุณค่าแห่งล้านนาไทย

ประเภทกลุ่มข้อมูล

อาชีพท้องถิ่น : โคมล้านนา คุณค่าแห่งล้านนาไทย

ประวัติและที่มา

ชุมชนบ้านหก ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นอีกหนึ่งชุมชนในการทำโคมล้านนา ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เดิมชาวบ้านจะใช้โคมล้านนาในงานประเพณียี่เป็ง โดยมีความเชื่อว่า การจุดโคมไฟ จะนำความเจริญและความสุขมาให้กับคนในครอบครัว หากเกิดในชาติหน้าจะเป็นบุคคลที่มีความฉลาดเฉลียว เปรียบดั่งแสงของเปลวไฟที่ลุกโชติช่วง โคมล้านนามีหลากหลายรูปแบบ ตามแต่ละภูมิปัญญาของท้องถิ่น แต่โคมล้านนารูปโคมรังมดส้ม(รูปทรงแปดเหลี่ยม) จะมีคนนิยมจำนวนมาก มีจุดมุ่งหมาย 4 ประการคือ ประการแรกเพื่อความสวยงาม ประการที่สอง เพื่อเป็นพุทธบูชา ประการที่สามเพื่อความสว่างให้กับตัวอาคารบ้านเรือน และประการที่สี่เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่เจ้าของบ้าน ปัจจุบันโคมไฟแบบล้านนาถูกนำมาใช้ประดับตกแต่งอาคารบ้านเรือน รีสอร์ทสถานที่ต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงามตลอดทั้งปีไม่จำกัดเฉพาะในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่งเท่านั้

ขั้นตอนกระบวนการผลิต

ขั้นตอนที่ 1 นำตอกมาหักเป็นรูป 8 เหลี่ยมจำนวน 4 เส้น มาประกบกันโดยใช้กาวร้อนติดตามเหลี่ยมแล้วใช้ที่หนีบกระดาษหรือที่หนีบผ้าสแตนเลสหนีบไว้เพื่อให้ได้ตามรูปทรง แล้วนำไปตากแดดทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีค่อยแกะที่หนีบออก

ขั้นตอนที่ 2 เมื่อโครงแห้งแล้วนำกระดาษสามาติดตามรูปทรงของโคม

ขั้นตอนที่ 3 เสร็จแล้วนำกระดาษทองมาติดตามรอยของไม้และเส้นของโคมที่เราได้ตัดเป็นลวดลายเพื่อความสวยงาม

ขั้นตอนที่ 4 ติดหางโคมที่เราได้เตรียมไว้

ขั้นตอนที่ 5 โคมเสร็จสมบูรณ์

สถานที่ตั้ง : วัดบ้านหก หมู่ 4 ตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

การเดินทาง : ใช้เส้นทางถนนสายเทิง-เชียงของ ขับผ่านโรงเรียนบุญเรืองวิทยาคม ข้ามสะพานลำห้วยภูแกง เจอสามแยกบริษัทกรีนวิงมาร์เก็ตติ้ง จำกัด สาขาบุญเรือง ขับตรงไปอีกประมาณ 500 เมตร วัดบ้านหกจะอยู่ทางอยู่ซ้ายมือ


ผู้ให้ข้อมูล นางเรืองศรี สู่โนนทอง วิทยากรการทำโคมล้านนา

ผู้เรียบเรียง โดย นางสาวรำไพพรรณ ยอดสุวรรณ

ภาพถ่าย/ประกอบ โดย นางสาวรำไพพรรณ ยอดสุวรรณ