น้ำตกภูแกง

ประเภทแหล่งท่องเที่ยว : แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

รายละเอียดของแหล่งท่องเที่ยว

ชุมชนตำบลบุญเรือง เป็นชุมชนเก่าแก่มีอายุมากกว่า 300 ปี นับตั้งแต่กลุ่มราษฎรผู้ก่อตั้งหมู่บ้านและชุมชนตำบลบุญเรือง ได้อพยพมากจากอำเภอสา จังหวัดน่าน ได้เดินทางมาพบน้ำลำห้วยภูแกง (มีเถาวัลย์ป่าชื่อ ปูแกง จำนวนมาก) และสภาพป่า ดินอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การทำการเกษตรจึงได้ประกอบวิธี จุดบั้งไฟขึ้นโดยนำบั้งไฟพาดบ่าองค์พระพุทธรูปเก่าแก่วัดร้างแห่งหนึ่งริมน้ำลำห้วยภูแกง ตั้งจิตอธิฐานว่าถ้าบริเวณป่าและแหล่งน้ำแห่งนี้สมควรจะสร้างบ้านสร้างเรือน น้ำการเกษตรจะสมบูรณ์รุ่งเรืองขึ้น ขอให้บั้งไฟกระบองนี้ขึ้น จึงได้จุดบั้งไฟๆก็ขึ้นจนสุดสายตา นายเรือง เรืองวิลัย กับพวกจึงได้เดินทางกลับไปปรึกษาและขออนุญาตเจ้าเมืองน่าน นำราษฎรจากอำเภอสา อำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน มาตั้งบ้านสร้างเมืองขึ้นจนก้าวหน้าเป็นชุมชนตำบลบุญเรือง มีพ่อเฒ่าแสน คำครุฑ เป็นกำนันตั้งแต่ปี พ.ศ.2374 เป็นต้นมา

น้ำตกภูแกง เดินทางด้วยเท้าหรือรถจักรยานยนต์ จากพุทธอุทยานพระธาตุภูแสงธรรม ประมาณ 600 เมตร จะถึงน้ำตกแรกเรียกว่า“วังผาจ้อม” มีลักษณะมีน้ำไหลลงมาจากหน้าผาไม่สูงนักตกลงมามีแอ่งน้ำเล็กๆ เดินทางต่อไปอีกประมาณ 200 เมตร จะถึงน้ำตกที่สอง เรียกว่า “วังมน” มีลักษณะน้ำไหลวนเป็นวงกลมก่อนที่น้ำจะตกลงไปยังชั้นล่าง เดินทางต่อไปอีก 50 เมตร จะถึงน้ำตกที่สาม เรียกว่า “ตาดเก๊าไฮ” สมัยก่อนจะมีต้นไทรขึ้นปกคลุมบริเวณนั้น ชาวบ้านภาคเหนือเรียกว่า “เก๊าไฮ” น้ำตกมีลักษณะลานน้ำใสๆไหลตกลงมา ชั้นล่าง เดินทางต่อไปอีก 50 เมตร จะถึงน้ำตกที่สี่ เรียกว่า “ตาดลำไย” มีลักษณะเป็นน้ำตกลงมาจากก้อนหินสองชั้นตกลงสู่ลานกว้าง มีหาดทรายเล็กๆให้นักท่องเที่ยวได้นั่งพัก เดินทางอีก 100 เมตรสู่น้ำตกชั้นสุดท้าย เรียกว่า “ตาดหมอก” ลักษณะน้ำตกมีสี่ชั้นแยกเป็นสองทางตกลงมาจากก้อนหินสู่แอ่งน้ำ น้ำใสจนเห็นตัวปลา มีหมอกควันคละคลุ้งสวยงามเป็นอย่างมาก

การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและภาครัฐ

เทศบาลตำบลบุญเรือง มีลักษณะเป็นชุมชนชนบท มีอัตลักษณ์ของ ชุมชนด้านการเกษตร พื้นที่ธรรมชาติและวัฒนธรรมของชุมชนบุญเรือง ได้แก่ พื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่น้ำตกภูแกงและพื้นที่ริมลำห้วยภูแกง พื้นที่วิถีชีวิตทางวัฒนธรรมสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น พื้นที่ทางศาสนา สำหรับพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมและเอื้อต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม คือ ริมลำห้วยภูแกง บริเวณด้านล่างของ น้ำตกภูแกง สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน ในการพัฒนาพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรม สำหรับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชนบุญเรือง ประกอบด้วย ด้านกายภาพ ด้านการเงิน ด้านการลงทุน ด้านการศึกษาและการฝึกอบรม และด้านการสร้างความตกลงร่วมกันของชุมชน ส่วนแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนของชุมชนบุญเรือง โดยใช้ศักยภาพเชิงพื้นที่เป็นกลยุทธ์หลัก ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่ริมน้ำ การพัฒนาเส้นทาง ท่องเที่ยวในชุมชน และการพัฒนาศูนย์บริการนักท่องเที่ยว

สถานที่ตั้ง : ตั้งอยู่ในพื้นที่ระหว่างเขตติดต่อบ้านบุญเรืองเหนือ หมู่ 1 และ บ้าน ภูแกงหมู่ 10


การเดินทาง : ใช้เส้นทางถนนสายเทิง-เชียงของ ขับผ่านโรงเรียนบุญเรืองวิทยาคม ข้ามสะพานลำห้วยภูแกง เจอสามแยกบริษัทกรีนวิง

มาร์เก็ตติ้ง จำกัด สาขาบุญเรือง ให้กลับรถไปทางอำเภอเทิง ประมาณ 300 เมตร ข้ามสะพานลำห้วยภูแกง ทางซ้ายมือจะมี

ป้ายบอกน้ำตกภูแกง เดินทางเข้าไปประมาณ 600 เมตร โดยผ่านพุทธอุทยานพระธาตุภูแสงธรรมขึ้นไป

ขอบคุณข้อมูลจาก เทศบาลตำบลบุญเรือง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

http://www.boonrueng.net

ผู้ให้ข้อมูล นายสุรัตน์ สมรูป ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านบ้านภูแกง หมู่ 10

นายอนุพงศ์ ช่างประดิษฐ์ ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้านบ้านบุญเรืองเหนือ หมู่ 1


ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวรำไพพรรณ ยอดสุวรรณ

ภาพถ่าย/ประกอบ โดย นางสาวรำไพพรรณ ยอดสุวรรณ