อาชีพท้องถิ่น

วิถีชีวิตของชาวบ้านตำบลนามะเขือก็ไม่แต่ต่างจากพื้นที่ทั่วไปที่ทำการเกษตร ทำนาทำไร่ ทำสวน ชาวตำบลนามะเขือส่วนใหญ่จะทำไร่ ทำนากัน สำหรับการทำนาในตำบลนามะเขือทุกพื้นที่จะเริ่มทำนากันตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงกรกฎาคมของทุกปี ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน พื้นที่ตำบลนามะเขืออยู่ติดกับอำเภอเมืองนครพนมจึงถือว่าใกล้แม่น้ำโขงทำให้มีความชุ่มชื่นจากอิทธิพลแม่น้ำโขง เมื่อ 3 เดือนผ่านไปข้าวที่ปักดำหรือหว่านเอาไว้จะสุกงอมเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนนาปรัง สามารถทำได้ตลอดปีเพราะพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกเป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อข้าวเจริญเติบโตครบกำหนดอายุก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้


เมื่อสมัยก่อนชาวบ้านนิยมทำการปลูกข้าวโดยการ ดำนา แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีเจริญมากขึ้นทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป การทำนาก็เปลี่ยนเริ่มมีการหว่านข้าวมากขึ้นเหมือนกับพื้นที่ทางภาคกลางที่นิยมทำนาตลอดทั้งปีที่มีการหว่านข้าวกันเป็นเสียส่วนใหญ่


ลักษณะทางภูมิศาสตร์ของตำบลนามะเขือ เป็นที่ราบลุ่ม เหมาะแก่การทำนา หลักๆ ชาวบ้านตำบลนามะเขือจะทำทั้งนาดำ และนาหว่าน โดยสาเหตุที่มีทั้ง 2 วิธีเนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านภูมิประเทศและปัจจัยด้านภูมิอากาศ หากปีไหนฝนดี น้ำมาไว ฝนไม่ทิ้งช่วง ชาวบ้านจะเลือกวิธีการทำนาเป็นนาหว่าน เพราะประหยัดและทันต่อการได้น้ำของต้นข้าว หากปีไหนน้ำมาช้า ฝนทิ้งช่วง ชาวบ้านจะทำการปลูกกล้าไว้ก่อน พอน้ำมาหรือฝนเริ่มตกบ่อย ปริมาณน้ำในทุ่งนาเพียงพอ ก็จะถอนกล้าที่ปลูกไว้ไปดำตามพื้นที่ๆ ได้เตรียมไว้ ข้าวที่นิยมส่วนใหญ่คือข้าวเหนียว กข.6 เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่บริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก และข้าวหอมมะลิรองลงมา

ที่มา : https://farmermee.com/วิธีการปลูก-ดูแลรักษา-นา/ สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม2565

เรียบเรียงโดย : ว่าที่ร้อยโทธนกฤต ปัตโชติชัย ครู กศน.ตำบล