ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 

            ศาสตร์พระราชาของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็คือ องค์ความรู้ที่ว่าด้วยเรื่อง“การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ครอบคลุมในทุกมิติ ด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม พระราชประสงค์ของพระองค์ คือ การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และด้านจิตใจของประชาชนคนไทยเป็นสำคัญ 

        เป้าหมายในการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การพัฒนาที่ยั่งยืน  เพื่อปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของคน โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ให้คนมีความสุข โดยต้องคำนึงเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ความเชื่อทางศาสนา เชื้อชาติ และภูมิหลังทางเศรษฐกิจ สังคม แม้ว่าวิธีการพัฒนามีหลากหลาย แต่ที่สำคัญคือนักพัฒนาจะต้องมีความรัก ความห่วงใย ความรับผิดชอบ และการเคารพในเพื่อนมนุษย์ จะเห็นได้ว่าการพัฒนาเกี่ยวข้องกับมนุษยชาติและเป็นเรื่องของจิตใจ”พระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากหนังสือพระมหากษัตริย์นักพัฒนาเพื่อประโยชน์สุขสู่ปวงประชา  พ.ศ. 2554

นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานภาครัฐได้ให้ความหมายใกล้เคียงกัน แต่อาจสอดแทรกบทบาท ภารกิจ ของแต่ละหน่วยงานให้สอดรับกับบริบทศาสตร์พระราชา ทั้งด้านการปกครอง การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร การป่าไม้และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

แต่ที่ให้นิยามความหมายในเรื่องนี้ได้กระจ่างชัด คือ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ผู้สนองงานใต้เบื้องพระยุคลบาทมายาวนานกว่า 40 ปี โดยสรุปสาระสำคัญ ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ไว้ 7 ประการ

1. หลักการทรงงานเพื่อการพัฒนาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรียกว่า “ยุทธศาสตร์ในการพัฒนา” โดยใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นเครื่องมือหลักซึ่งสามารถนำมาใช้ยุติความขัดแย้งในสังคมได้

2. จากคำกล่าวที่ว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม” อาจกล่าวได้ว่า พระองค์ทรงให้ความรับผิดชอบในการปกครองด้วยหลักธรรม ประกอบด้วย ความดี และความถูกต้อง โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

3. อำนาจของพระมหากษัตริย์ ประกอบด้วย 1) อำนาจในการแนะนำ 2) อำนาจในการให้คำปรึกษา 3) อำนาจในการตักเตือน

4. ให้มองโครงการในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่มีกว่า 3,000 – 4,000 โครงการ เป็นบทเรียนหรือแนวคิด (lesson) มากกว่าเป็นเพียงการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นการสานต่อแนวคิดการพัฒนาของพระองค์

5. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงใช้หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ cost effectiveness เป็นหลักการทรงงาน ไม่ใช่ cost benefit เพราะความคุ้มค่าไม่อาจสามารถประเมินค่าเป็นตัวเงินได้ สอดคล้องกับแนวคิด ขาดทุนคือกำไร

6. แนวทางการพัฒนาเริ่มต้นที่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยปัจจัยของการพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นปัจจัยความสำเร็จ ซึ่งปัจจัยการพัฒนาแต่ละข้อมีจุดเชื่อมโยงกัน

7. เทคนิคการเรียนรู้การทรงงานของ ดร.สุเมธฯ คือ มองทุกอย่างที่ทรงทำ จดทุกอย่างที่ทรงพูด และสรุปทุกอย่างที่ทรงคิด