พระราชทานกำเนิด “โครงการพระดาบส” แสงทองที่ทอสู่พื้นดิน 

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้งถึงเหตุที่ทำให้ราษฎรจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในวงจรแห่งทุกข์เข็ญ โดยเฉพาะผู้ยากไร้ ขาดโอกาสเล่าเรียน ไม่มีอาชีพ ไม่สามารถเลี้ยงตนเองได้ ทรงมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของราษฎรเสมอมา พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของมูลนิธิพระดาบส ถ่ายทอดพระราชกระแสพระราชทานในเรื่องนี้เมื่อ พ.ศ. 2518 ความตอนหนึ่งว่า

   “…ขณะนี้ ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหา ไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่างๆ ได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้ วิชาชีพที่เขาปรารถนา ย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…”

“ช่องทางช่วยเหลือ” ในยุคสมัยนั้นไม่สามารถจัดผ่านระบบการศึกษาปกติได้เพราะโรงเรียนวิชาชีพ เช่น โรงเรียนอาชีวศึกษาโรงเรียนการช่าง วิทยาลัยเทคนิค สถาบันเทคโนโลยีต่างๆ ล้วนมีข้อกำหนดคุณสมบัติของผู้เรียน เช่น กำหนดพื้นฐานความรู้ อายุ เป็นต้นส่วนการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ก็มีเพียงแก้ไขปัญหาผู้ใหญ่ไม่รู้หนังสือให้อ่านออกเขียนได้และเป็นพลเมืองดี ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องอาชีพการงาน พล.ต.ต. สุชาติ ซึ่งถวายงานด้านวิทยุสื่อสารเล่าว่า วันหนึ่งเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ กลับจากการพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วันที่ 18 ตุลาคมพ.ศ. 2518 – ผู้เขียน) ได้มีพระราชกระแสรับสั่งถึงพระราชดำริในการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสที่ใฝ่รู้อยากเรียนวิชาชีพว่าถ้าเขาพอใจจะเรียนให้นำมาฝึกอบรมโดยไม่จำกัดพื้นฐานความรู้ไม่จำกัดเพศ วัย ศาสนา ใช้วิธีเลี้ยงในบ้านให้เขากินฟรี อยู่ฟรี สอนฟรี เจ็บป่วยมีหมอหลวงรักษาให้ มีโอกาสก็อบรมไป สอนไป จนกระทั่งเขามีความรู้พอไปประกอบอาชีพได้  

“…ท่านรับสั่งกับผมว่า ผมมีความรู้ทางนี้ ท่านบอกให้ทดลองหลักสูตรช่างวิทยุก่อน แล้วมีการเฝ้า มีการรับสั่งมา ผมทำเป็นหลักสูตรเรียกว่าแบบโรงเรียนอาชีวะเลยพอเสนอขึ้นไป ท่านบอกว่า ทำอะไรเพ้อเจ้อใหญ่โต อันนี้เป็นการศึกษานอกระบบ ไม่ใช่ศึกษาแบบโรงเรียนสามัญ… ให้ใช้เป็นวิธีการศึกษานอกระบบ ครูบาอาจารย์ท่านจะมาสอนเมื่อไหร่ มีเวลาว่างเมื่อไรท่านก็มาสอน สิ่งสำคัญอย่าไปเก็บค่าเล่าเรียนเขาเพราะเด็กพวกนี้ไม่มีสตางค์ ให้ทำเป็น non – commercial ไม่ใช่ธุรกิจ…”  

“…ขณะนี้ยังมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่มีความตั้งใจจริง มีศรัทธาขวนขวายหาความรู้เป็นวิชาชีพใส่ตน แต่ประสบปัญหา ไม่มีความรู้พื้นฐาน และไม่มีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะเข้าศึกษาต่อในสถาบันการศึกษาวิชาชีพระดับต่าง ๆ ได้ หากมีช่องทางช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ ให้มีความรู้ วิชาชีพที่เขาย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้…”

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระราชทานแก่พล.ต.ต.สุชาติ เผือกสกนธ์ เลขาธิการคนแรกของ “มูลนิธิพระดาบส” พ.ศ. 2518


        ด้วยความใส่พระราชหฤทัยอย่างจริงจังในการพระราชทานโอกาสครั้งที่สองของชีวิตในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2518 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาร่างโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิชาช่างประกอบด้วย หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ เป็นประธาน ดร. เชาวน์ ณศีลวันต์ คุณหญิง สมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย และ นายพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ เป็นกรรมการ โดยให้จัดตั้งในรูปแบบ โรงเรียนช่างแบบนอกระบบ non – formal education หลักสูตรเน้นภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบปกติมีโอกาสเรียนวิชาช่างในระดับที่ใช้ประกอบอาชีพได้ ผู้เรียนจบไม่จำเป็นต้องได้รับคุณวุฒิเช่นเดียวกับของรัฐ ขอให้ประกอบอาชีพได้จริงและอบรมให้เป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว

       โรงเรียนช่างแบบนอกระบบนี้ เป็นมิติใหม่นอกระบบการศึกษาปกติของประเทศไทยไม่เคยจัดตั้งมาก่อน ในยุคนั้นเอกชนใดจะจัดการให้การศึกษาแก่นักเรียนเกินกว่า 7 คนขึ้นไปต้องขออนุญาตจัดตั้งเป็นโรงเรียนราษฎร์ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2497  ในความควบคุมของกระทรวงศึกษาธิการคณะทำงานถวายความเห็นว่าควรจัดตั้งเป็น โรงเรียนอาชีวะ หลักสูตรพิเศษในมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งเป็นมูลนิธิเพื่อการศึกษา ชื่อโรงเรียนราชศิลป์ หรืออานันทอุปถัมภ์ หรืออานันทานุสรณ์ เปิดสอนวิชาช่างวิทยุและไฟฟ้า รับนักเรียน มศ.๓ ราว 20 คน แบ่งการสอนเป็นรอบ รอบละ 6 – 7 คน ผู้สมัครเรียนต้องตั้งใจ เต็มใจ สนใจอาชีพอย่างแท้จริงและไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน 

      การนี้ ยังไม่ต้องพระราชประสงค์ เพราะโรงเรียนนอกระบบตามพระราชดำริจะแตกต่างจากโรงเรียนในระบบโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ให้โอกาสอย่างเต็มที่แก่ผู้ด้อยโอกาส ไม่กำหนดพื้นความรู้ขั้นต่ำ เพศ วัย และศาสนา รวมทั้งให้อยู่ประจำในโรงเรียนจนกว่าจะเรียนจบ โดยไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน ที่พัก และอาหารวิธีการและกระบวนการสั่งสอนก็แตกต่างจากโรงเรียนในระบบ โดยจะใช้การประสิทธิ์ประสาทศิลปวิทยาแบบ พระดาบสในสมัยโบราณ พระดาบสเป็นผู้ทรงศีลถึงพร้อมด้วยความรู้และเมตตาที่จะถ่ายทอดให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ศิษย์ต้องมีความพอใจอยากเรียน อ่อนน้อม และเต็มใจปรนนิบัติท่าน เกิดสัมพันธภาพงดงามระหว่างครูและศิษย์ และเป็นหนทางที่ศิษย์จะได้เรียนรู้การงานอาชีพควบคู่ไปกับความดีงาม ทรงเชื่อว่าในบ้านเมืองเรามีผู้ทรงความรู้และมีจิตใจดีอยู่มากที่จะทำหน้าที่พระดาบสเพื่อให้ศิษย์มีวิชาชีพเลี้ยงตนได้และเป็นผู้มีศีลธรรม มีนำใจช่วยเหลือส่วนรวมได้ โรงเรียนช่างแบบนอกระบบนี้เป็นนวัตกรรมการศึกษาของไทยที่ก้าวล้ำไปกว่าภาครัฐและยังไม่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้งขึ้นเป็น “โรงเรียน” ทรงแก้ไขอุปสรรคโดยการจัดตั้งเป็น “โครงการทดลอง” เล็กๆ เสียก่อน สอนผู้เรียนไม่เกิน  คน ไม่ขัดต่อข้อกฎหมาย เรียกโครงการ 


รูปปั้นพระดาบสพระราชทาน

พระดาบสในความอุปถัมภ์ของมูลนิธิอานันทมหิดล พระราชทานเงินที่มีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๔๘ พรรษา วันที่ ๕ ธันวาคมพ.ศ. ๒๕๑๘ จำนวน ๒,๕๗๒,๐๐๐ บาทเพื่อใช้ในการดำเนินโครงการ


ดร. เชาวน์ ณศีลวันต์ องคมนตรี ถ่ายทอดพระราชกระแสเกี่ยวกับโครงการนี้ว่า ไม่จำกัดเฉพาะอาชีพช่าง  

 

“…อยากให้ใครเข้ามาเรียนอะไรก็ได้ ในที่สุดจะให้เป็นมหาวิทยาลัยแต่ตอนต้นจะให้เป็น pilot project เล็กๆก่อน…”


          สำนักพระราชวังเช่าที่ดินบริเวณหัวมุมถนนสามเสนตัดกับถนนศรีอยุธยา จำนวน 1 ไร่ 242.87 ตารางวา จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในอัตราปีละ 185 บาท เพื่อเป็นที่ตั้งสำนักพระดาบส ในบริเวณมีบ้านไม้เก่า 2 หลัง เลขที่ 384 และ 386 ถนนสามเสน เดิมเป็นบ้านพักผู้แทนราษฎร อยู่ในสภาพทรุดโทรม น้ำท่วมขัง ต้องซ่อมแซมบูรณะใหม่ จัดเป็นอาศรมมีที่พัก ที่สอน ที่เรียนปรับปรุงโรงรถให้เป็นห้องปฏิบัติการ ปีแรก มีผู้มาสมัครเรียน 12 คน แต่บางคนไม่ได้ตั้งใจจริง คณะทำงานพิจารณาร่างโครงการจัดตั้งโรงเรียนวิชาช่างคัดเลือกไว้ 6 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกชาวนา มีภูมิลำเนาอยู่ในต่างจังหวัด ความรูพื้้นฐาน ป.7 – ม.5 อายุ 16 – 33 ปี เข้าเรียนหลักสูตรช่างไฟฟ้า – วิทยุเบื้องต้น เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2519 ต่อมาขยายเป็นช่างวิทยุชั้นสูง พ.ต.อ. เฉลิม สุขนพรัตน์ ผู้ชำนาญการช่างวิทยุ เกษียณราชการจากกรมตำรวจทำหน้าที่พระดาบส ต่อมาได้ถึงแก่กรรม พล.ต.ต.

สุชาติ เผือกสกนธ์ จึงเข้ามารับหน้าที่แทน มีพระดาบสอาสาร่วมอีก 4 คน ล้วนเต็มใจเป็นอาสาสมัครไม่รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนอื่นใด พล.ต.ต. สุชาติ ได้เล่าต่อถึงเหตุผลที่ทรงเลือกวิธีการถ่ายทอดศิลปวิทยาแบบพระดาบสว่า

 

“…ใช้หลักการอย่างที่พระองค์รับสั่งว่าสอนแบบที่เหมือนกับสอนคนในบ้าน ท่านรับสั่งว่าในปัจจุบันครูกับนักเรียนมันห่างกันนักเรียนมักถือว่าครูเป็นลูกจ้าง คือการปฏิบัติตนระหว่างลูกศิษย์กับครูไม่เคารพกันที่เราใช้วิธีการนี้มันก็จะทำให้ช่องว่างระหว่างครูบาอาจารย์กับนักเรียนมันใกล้เข้ามาเด็กไม่ต้องไปหาวิชาที่อื่น เรียนกันอยู่ในบ้านเรียนกันอยู่ในครอบครัว…”

บทพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เรื่อง  “โรงเรียนพระดาบส”  พ.ศ. 2520 สะท้อนผลการดำเนินงานส่วนหนึ่ง ดังนี้ 

“…เท่าที่ได้เปิดสอนตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2519 (เป็นเวลาเกือบสองปีแล้ว) โดยมีนักเรียนรุ่นแรก 6 คน นับว่าได้ผลดีมากกล่าวคือ เดิมกำหนดไว้ว่านักเรียนจะมีความรู้ในการสร้างซ่อมแซมเครื่องรับวิทยุได้ในเวลา 1 ปี เมื่อปฏิบัติจริงๆ แล้วใช้เวลาเพียง 9 เดือน และทางโรงเรียนจึงได้เปิดรับงานซ่อมเครื่องไฟฟ้า วิทยุ ติดตั้งไฟไฟอาคาร เป็นการหารายได้แก่นักเรียนในรูปสหกรณ์ด้วย เมื่อจบหลักสูตรข้างต้นโดยขยายเปิดสอนความรู้ที่สูงขึ้น

          รวมทั้งเปิดรับนักเรียนใหม่ในขั้นต้นและเปิดวิชาอื่นคือ ช่างเครื่องยนต์และช่างประปา เท่าที่แล้วมานั้น นักเรียนทุกคนเคารพรักเชื่อฟังอาจารย์ มีน้ำใจในการปรนนิบัติรับใช้ และมีศีลธรรมเป็นพลเมืองดีของชาติ สำหรับค่าใช้จ่ายในโครงการนั้นนอกจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานแล้ว บริษัท ห้างร้านและเอกชนได้บริจาคสิ่งของเครื่องมือ เครื่องใช้ และแรงงานโดยเสด็จฯ มากมาย ตามพระราชดำริอันมีมาแต่แรกนั้น ‘ดาบส’ จะไม่สอนเฉพาะวิชาช่างวิทยุช่างเครื่องเท่านั้น ต่อไปเมื่อมีโอกาส จะมี ‘ดาบส’ ที่ชำนาญในวิชาแขนงอื่นๆ เช่น วิชาศิลปะ วิชาภาษาต่างประเทศ วิชาประวัติศาสตร์ ฯลฯ ซึ่งจะเปิดสอนตามความเหมาะสม…” 

            ศิษย์รุ่นแรกเรียนจบช่างวิทยุชั้นสูงรวม 5 คน ได้แก่ นายสุรพล พรหมประกาศ นายพิพิธ ทองจันทร์ พลทหาร โสภณ โฆษิตาภา นายพะเยาว์ บำรุงชล และ นายปฏิคม พ่วงพี ออกไปประกอบอาชีพได้จริง เมื่อการฝึกอบรมได้ผลดีจึงขยายเปิดสอนหลักสูตรช่างเครื่องยนต์ 1 ปี (พ.ศ. 2521) และหลักสูตรเตรียมช่าง 3 เดือน (พ.ศ. 2522) ในช่วง 5 ปีแรก (พ.ศ. 2519 – 2524) ทำการฝึกอบรมศิษย์ 71 คน เรียนสำเร็จ 46 คน หรือร้อยละ 65 นำความรู้ไปประกอบอาชีพได้เป็นข้อบ่งชี้ถึงความสำเร็จของโครงการพระดาบสในระดับหนึ่ง ควรกล่าวในที่นี้ว่าในช่วงนี้ภาครัฐได้เริ่มต้นพัฒนาการศึกษาสายอาชีพของประชาชนวัยแรงงานและกลุ่มเยาวชนนอกโรงเรียน พัฒนารากฐาน “การศึกษาผู้ใหญ่” จัดตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน เมื่อ พ.ศ. 2522 และออกระเบียบกรมการศึกษานอกโรงเรียน ว่าด้วยการดำเนินงานโรงเรียนผู้ใหญ่ พ.ศ. 2524 เป็นฉบับแรก จึงเกิดโรงเรียนผู้ใหญ่สายอาชีพขึ้น การสอนในโครงการพระดาบสสอดคล้องกับ “กลุ่มผู้สนใจ” ตามระบบการศึกษานอกโรงเรียนของทางราชการ ต่อมาเมื่อมีการออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการจัดการศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. 2531 โครงการพระดาบสได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็น โรงเรียนผู้ใหญ่พระดาบส เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2532 รับศิษย์รุ่นละประมาณ 30 คน เป็นอันสิ้นสุดโครงการทดลองอันยาวนานถึง 14 ปี อย่างเป็นทางการเป็นการรับรองสัมฤทธิผลแห่งนวัตกรรมการศึกษานี้ ต่อมาโรงเรียนจึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียนพระดาบส ในพุทธศักราช 2550 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ดำเนินการขอจัดตั้งมูลนิธิพระดาบส เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างมั่นคงต่อไปโดยได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2533 และมีพระมหากรุณาธิคุณดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงช่วยเหลือดูแลโครงการพระดาบสมาตั้งแต่ พ.ศ.2520 ทรงดำรงตำแหน่งรองประธานกิตติมศักดิ์ หม่อมหลวงจิรายุ นพวงศ์ องคมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการ ประกอบด้วย พล.อ.อ.กำธน สินธวานนท์ คุณหญิงวัลลีย์ พงษ์พานิชนายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา นายแก้วขวัญวัชโรทัย และ พล.ต.ต. สุชาติ เผือกสกนธ์ 

การจัดการศึกษาในรูปแบบนี้ได้รับความศรัทธาจากหน่วยงานต่างๆ การรถไฟแห่งประเทศไทยขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต อัญเชิญแนวพระราชดำริไปประยุกต์ใช้จัดตั้ง โรงเรียนช่างฝีมือพระดาบสการรถไฟ เพื่อช่วยเหลือครอบครัวพนักงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานของการรถไฟ 

รับบุตรพนักงานรถไฟอายุ 1618 ปี เข้าเรียนตั้งแต่ พ.ศ. 2534 รวม 8 รุ่น เรียนจบราว 500 คน บรรจุเข้าเป็นช่างระดับ 2 ของการรถไฟ เงินเดือน 4,880 บาท เป็นการแตกกิ่งต่อยอดที่ยังประโยชน์แก่สังคมไทย นอกจากนี้ยังทรงกระจายโอกาสโดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โครงการฝึกช่างเกษตรชาวบ้าน จัดทีมเคลื่อนที่ถ่ายทอด

ความรู้ด้านการซ่อมเครื่องยนต์การเกษตรและจักรยานยนต์ให้แก่เกษตรกรที่ไม่มีโอกาสมาเรียนที่โรงเรียนพระดาบสอีกด้วย 

      โรงเรียนพระดาบสที่มีรากฐานจากโครงการพระดาบส ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างมีเอกลักษณ์ตามแนวพระราชดำริตลอด 4 ทศวรรษ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โครงการลูกพระดาบส ที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อ พ.ศ. 2541 และโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อพ.ศ. 2553 ที่จังหวัดยะลา ก่อเกิดคุณูปการแก่ผู้ด้อยโอกาสและบ้านเมืองของเราอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันนี้มีศิษย์เรียนจบแล้วทั้งสิ้นจากทั้ง 2 โรงเรียน รวม 2,116 คน ส่วนใหญ่มีงานทำประกอบอาชีพได้จริง และรู้จักดำรงวิถีชีวิตที่ดี ต่อมาใน พ.ศ. 2558 มีผู้สมัครเข้ารับพระราชทานโอกาสครั้งที่สองของชีวิตรวมทั้ง 2 โรงเรียนจำนวนทั้งสิ้น 805 คน แต่สามารถรับไว้ได้เพียง 240 คน หรือร้อยละ 30 เท่านั้น แสดงว่ายังมีความต้องการอยู่มาก น่าที่องค์กรหรือผู้มีจิตศรัทธาจะใช้เป็น “ต้นแบบ” ดำเนินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ช่วยกันกระจายโอกาสนี้ให้แผ่กว้างครอบคลุมแผ่นดินไทย ดังตัวอย่างที่ทรงทำให้ดูแล้ว

    เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระอัจฉริยภาพในการพัฒนาพสกนิกรกลุ่มต่าง ๆ อย่างเหมาะสมเต็มศักยภาพ และตรงตามความต้องการของเขา เช่น พระราชทานทุนอานันทมหิดล แก่นักเรียนไทยที่มีความสามารถทางวิชาการยอดเยี่ยมและมีคุณธรรมสูง ให้มีโอกาสไปศึกษาจนถึงขั้นสูงสุดในต่างประเทศเพื่อให้เป็นผู้ชำนาญการพิเศษในสาขานั้น ๆ นำความรู้กลับมาทำคุณประโยชน์ ช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า และได้พระราชทานโรงเรียนพระดาบส ให้แก่ผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส ที่แสวงหาอาชีพเลี้ยงตนเอง เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีและทัดเทียมกัน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ เป็นต้นเป็นพระมหากรุณาธิคุณที่ขจัดปัดเป่าความมืดมนแห่งชีวิตของผู้ด้อยโอกาสปลุกประกายความหวัง ให้มีทางเดินชีวิตใหม่มีอนาคตสดใส เปรียบประดุจแสงทองที่ทอสู่พื้นดินยามรุ่งอรุณ