กำเนิดชุมชนตะกร้าหวายมหาสอน

ความเป็นมากลุ่มจักสานหวาย ตำบลมหาสอน

ตำบลมหาสอน อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี การจักสานของตำบลมหาสอนมีประวัติมานานกว่า 150 ปี แล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำการเกษตร และทำประมง เมื่อเสร็จจากการทำนา ทำสวน ก็จะทำเครื่องจักสาน ทำจากไม้ไผ่ที่มีอยู่มากมายในตำบลมหาสอนเป็นของใช้ เช่น กระบุง ตะกร้า กระดัง ไช ลอบดักปลา และอื่น ๆ ส่วนผู้ที่มีฝีมือประณีตก็จะนำหวายหอม หรือหวายหิน มาผ่าเป็นเส้นแล้วนำมา " ดึงเลียด " ให้เป็นเส้นเล็ก ๆแล้วนำมาสานร่วมกับไม่ไผ่เพื่อให้เกิดลวดลายที่สวยงาม ใช้ใส่ของไปวัดหรืองานบุญต่าง ๆ การจักสานในตำบลมหาสอน เริ่มทำขึ้นมาตั้งแต่สมัยปูย่าตายาย และมีการสืบทอดมาถึงลูกถึงหลานจนเป็นที่แพร่หลาย และนำมาใช้กันทั่วไปตลอดทั้งลำน้ำบางขาม จะมีตะกร้าหวายใช้ใส่ของไปงานบุญกันทุกครัวเรือน ลวดลายก็จะนำมาจากลายผ้ามัดหมี่ และคิดกันเอง เช่น ลายดาวล้อมเดือน ลายไทยลายพิกุล ลายดอกทานตะวัน ลายดาวกระจาย ลายจามจุรี ลายดอกมะลิ ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น ส่วนรูปแบบถ้าเป็นโบราณก็จะเรียก ตะกว้าขาแมงมุม หรือ หกงวง ต่อมาจึงตัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย มีทรงรูปไข่ ทรงสี่เหลี่ยม ทรงหกมุม ทรงแปดมุม ทรงกลม ทรงปั้นน้ำ และอีกมากมายหลายรูปแบบแต่ละลายจะมีความสวยงามและประณีต ควรแก่การอนุรักษ์ไว้คู่กับชาวมหาสอน และลำน้ำบางขามตลอดไป