แหล่งเรียนรู้ หมายถึง แหล่งข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศ และประสบการณ์ ที่สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้เรียนใฝ่เรียน ใฝ่รู้ แสวงหาความรู้และเรียนรู้ด้วยตนเองตามอัธยาศัย อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ และเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ...แหล่งสร้างเสริมความรู้ ความคิด วิทยาการและประสบการณ์ ประกอบไปด้วย 4 ประเภทแหล่งเรียนรู้

แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคลหรือปราชญ์ชาวบ้าน

แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคลหรือปราชญ์ชาวบ้าน (Local Wisdom) หมายถึง บุคคลทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาชีพ บางท่านอาจเป็นผู้มีทักษะ ความชำนาญ ในแต่ละสาขาวิชาชีพ บางท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้าน บางท่านเป็นอดีตข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน บางท่านเป็นผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่น และบุคลากรในสถานศึกษาเอง ก็มีทั้งความชำนาญ ความรู้หรืออาชีพเสริมรายได้ที่ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู นักการภารโรง ตลอดจนผู้เรียน รุ่นพี่หรือผู้เรียนชั้นที่โตกว่า ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยง บูรณาการ ในการศึกษาได้

แหล่งการเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี

แหล่งการเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี คือ ประเภทกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และความเชื่อ ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น

แหล่งการเรียนรู้สถานที่

แหล่งการเรียนรู้สถานที่ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วทั้งในสถานศึกษาและท้องถิ่น เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น

แหล่งการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น

แหล่งการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ สถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน สถาบันทางศาสนา พิพิธภัณฑ์ สถานที่ราชการ ห้องสมุดตลาด ร้านค้า ห้างร้าน บริษัท ธนาคาร โรงมหรสพ โรงงานอุตสาหกรรม ถนน สะพาน เขื่อน ฝายทดน้ำ สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามบิน เป็นต้น

ประเภทของแหล่งการเรียนรู้

ในการแบ่งประเภทของแหล่งการเรียนรู้นั้น พระพุทธทาสภิกขุ (อ้างใน สุมน อมรวิวัฒน์ 2548 : ออนไลน์) ได้แสดงธรรมเรื่อง “โรงเรียนที่ท่านยังไม่รู้จัก”มีความตอนหนึ่งว่า โรงเรียนมีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ตำหูตำตาของท่านทั้งหลายแต่ท่านก็ไม่รู้จัก การเรียนรู้จากธรรมชาติช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความเป็นจริงของชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการต่อสู้ดิ้นรน มีปัญหา มีสุนทรียภาพ มีคุณค่า ทั้งความจริง ความงามและความดี ในทางตรงกันข้าม ธรรมชาติก็มีทั้งความเสื่อมสลาย และความโหดร้าย ทำลายล้าง มนุษย์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ และอยู่ร่วมกับธรรมชาติ ด้วยการอนุรักษ์ และยอมรับคุณค่าของธรรมชาติ ปรับตนเองได้ในความเปลี่ยนแปลง และทำอย่างไรจึงจะให้เด็กรู้ ด้วยตนเองมากขึ้น นั่นคือ ต้องสร้างแหล่งการเรียนรู้ให้เขา ต้องสอนให้เขารู้จักใช้ แหล่งการเรียนรู้ แหล่งการเรียนรู้แบ่งได้ 4 ประเภทด้วยกัน คือ

1. ประเภทบุคคล

2. ประเภทสถานที่

3. ประเภทวัฒนธรรมประเพณี

4. ประเภทสื่อ วัสดุอุปกรณ์ และเทคโนโลยี


สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2546 : 8-9) ได้จำแนกประเภทของแหล่งการเรียนรู้ไว้ 2 แบบ คือ

1. จัดตามลักษณะของแหล่งการเรียนรู้

1.1 แหล่งการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะหาความรู้ได้จากสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ป่าไม้ ลำธาร กรวด หิน ทราย ชายทะเล เป็นต้น

1.2 แหล่งการเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อสืบทอดศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนเทคโนโลยีทางการศึกษาที่อำนวยความสะดวกแก่มนุษย์ เช่น โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดประชาชน สถาบันการศึกษา สวนสาธารณะ ตลาด บ้านเรือน ที่อยู่อาศัย สถานประกอบการ เป็นต้น

1.3 บุคคล เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ถ่ายทอดความรู้ความสามารถ คุณธรรม จริยธรรม การสืบสานวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งด้านประกอบอาชีพ ตลอดจนนักคิด นักประดิษฐ์ และผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

2. จัดตามแหล่งที่ตั้งของแหล่งการเรียนรู้

2.1 แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน เดิมมีแหล่งการเรียนรู้หลัก คือ ครู อาจารย์ ต่อมามีการพัฒนาเป็นห้องปฏิบัติการต่างๆ เช่น ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ ห้องโสตทัศนศึกษา ห้องจริยธรรม ห้องศิลปะ ตลอดจนอาคารสถานที่และสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน เช่น ห้องอาหาร สนาม ห้องน้ำ สวนดอกไม้ สวนสมุนไพร แหล่งน้ำในโรงเรียน เป็นต้น

2.2 แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่นครอบคลุมทั้งด้านสถานที่และบุคคล ซึ่งอาจอยู่ในท้องถิ่นใกล้เคียงโรงเรียน ท้องถิ่นที่โรงเรียนพาผู้เรียนไปเรียนรู้ เช่น แม่น้ำ ภูเขา ชายทะเล สวนสาธารณะ สวนสัตว์ ทุ่งนา สวนผัก สวนผลไม้ วัด ตลาด ร้านอาหาร ห้องสมุดประชาชน สถานีตำรวจ สถานีอนามัย ดนตรีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นเมือง แหล่งทอผ้า เทคโนโลยีชาวบ้าน เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน แหล่งข้อมูลข่าวสารต่างๆ


สุวิทย์ มูลคำ (2545 : 19) ได้จำแนกแหล่งการเรียนรู้ไว้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

1. แหล่งการเรียนรู้ที่เป็นบุคคลหรือปราชญ์ชาวบ้าน (Local Wisdom) ประกอบด้วยบุคคลทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษา ซึ่งมีความเชี่ยวชาญหลากหลายสาขาวิชาชีพ บางท่านอาจเป็นผู้มีทักษะ ความชำนาญ ในแต่ละสาขาวิชาชีพ บางท่านเป็นปราชญ์ชาวบ้าน บางท่านเป็นอดีตข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะด้าน บางท่านเป็นผู้นำทางศาสนาในท้องถิ่น และบุคลากรในสถานศึกษาเอง ก็มีทั้งความชำนาญ ความรู้หรืออาชีพเสริมรายได้ที่ทำอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร ครู นักการภารโรง ตลอดจนผู้เรียน รุ่นพี่หรือผู้เรียนชั้นที่โตกว่า ซึ่งสามารถนำมาเชื่อมโยง บูรณาการในการศึกษาได้

2. แหล่งการเรียนรู้ประเภทสถานที่ เป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้วทั้งในสถานศึกษาและท้องถิ่น เป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งอาจเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มีอยู่ตามธรรมชาติแล้ว หรือเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่มนุษย์สร้างขึ้น

กระทรวงศึกษาธิการ (2545 : 43) ได้แบ่งประเภทของแหล่งการเรียนรู้ไว้ 2 ประเภท คือ

1. แหล่งการเรียนรู้ในโรงเรียน ได้แก่ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดหมวดวิชา ห้องสมุดเคลื่อนที่ มุมหนังสือในห้องเรียน ห้องพิพิธภัณฑ์ ห้องมัลติมีเดียห้องคอมพิวเตอร์ ห้องอินเตอร์เน็ต ศูนย์วิชาการ ศูนย์โสตทัศนศึกษา ศูนย์สื่อการเรียนการสอน ศูนย์พัฒนากิจกรรมการเรียนการสอน สวนพฤกษศาสตร์ สวนวรรณคดีสวนสมุนไพร สวนสุขภาพ สวนหนังสือ สวนธรรมะ เป็นต้น

2. แหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น เช่นห้องสมุดประชาชน ห้องพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ศูนย์กีฬา วัด ครอบครัว ท้องถิ่น สถานประกอบการ องค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

สุมน อมรวิวัฒน์ (2544 : 25) จำแนกประเภทแหล่งการเรียนรู้ไว้ 4 ประเภท คือ

1. แหล่งการเรียนรู้ประเภทบุคคล ได้แก่ บุคคลทั่วไป ที่อยู่ในท้องถิ่นซึ่งสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับผู้เรียนได้ เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ช่างฝีมือ พ่อค้า นักธุรกิจ พนักงานบริษัท ข้าราชการ ภิกษุสงฆ์ ศิลปิน นักกีฬา เป็นต้น

2. แหล่งการเรียนรู้ประเภทสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ สถานที่สำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน สถาบันทางศาสนา พิพิธภัณฑ์ สถานที่ราชการ ห้องสมุดตลาด ร้านค้า ห้างร้าน บริษัท ธนาคาร โรงมหรสพ โรงงานอุตสาหกรรม ถนน สะพาน เขื่อน ฝายทดน้ำ สวนสาธารณะ สนามกีฬา สนามบิน เป็นต้น

3. แหล่งการเรียนรู้ประเภททรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ภูเขา ป่าไม้ พืช ดิน หิน แร่ ทะเล เกาะ แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง น้ำตก ทุ่งนา สัตว์ป่า สัตว์น้ำ เป็นต้น

4. แหล่งการเรียนรู้ประเภทกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และความเชื่อ ได้แก่ ขนบธรรมเนียมประเพณีพื้นบ้าน การละเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน วรรณกรรมท้องถิ่น ศิลปะพื้นบ้าน ดนตรีพื้นบ้าน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เป็นต้น


ที่มา : พันธ์ประภา พูนสิน

ความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้

การเพิ่มศักยภาพของผู้เรียน ให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีวิตอย่างมีความสุขได้บนพื้นฐานของความเป็นไทยและ ความเป็นสากลเป็นการเรียนรู้คู่ขนานระหว่างความรู้สากลกับความรู้ท้องถิ่น เพราะท้องถิ่นเป็นระบบความรู้ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยผ่านมิติสัมพันธ์การสั่งสมและถ่ายทอดผ่านรุ่นสู่รุ่น ส่วนใหญ่เป็นชิ้นงาน เครื่องดนตรี เครื่องใช้ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย การละเล่น ของเล่น และความรู้ที่อยู่ในตัวของบุคคลที่เป็น ข้อควรปฏิบัติ บทสวด ภาษาเขียน นิทาน คำกลอน บทเพลง ตำรายาของปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มี ความเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และเทคโนโลยีพื้นบ้าน สอดคล้องกับสังคมการดำรงชีวิตของผู้เรียน ถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบคู่ขนานระหว่างความรู้ท้องถิ่นสู่สากล

เจเดด (Jedede 1995: 97-137) ได้เสนอว่ารูปแบบของการเรียนรู้คู่ขนาน ระหว่างความรู้สากล แหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญา ส่งผลต่อการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ที่มีความจำระยะยาวของผู้เรียน ทำให้สนใจ ใฝ่รู้ รักการเรียนรู้ แสวงหาความรู้ และสามารถนำความรู้ท้องถิ่นไปปรับประยุกต์สู่สากล

ซินเวลี่และคอร์ซิงเลีย (Sinvely และCorsinglia 2001d:a6-34) กล่าวถึง กระบวนการผสมผสานความรู้ท้องถิ่นเข้ากับความรู้สากลในการจัดการเรียนการสอน โดยยึดแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น เป็นแกนหลักเสริมการเรียนรู้ทำให้เกิดการยอมรับ พูดคุยและรับฟังความเหมือนความต่างระหว่างวัฒนธรรม โครงสร้าง รูปแบบการคิดโดยที่วัฒนธรรมเดิมไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างตัวเองทั้งหมด ก่อนที่จะรับวัฒนธรรมใหม่เข้าไป

แอพเพิล (Apple 1990: 50-67) การนำวิทยาการพื้นบ้านมาใช้ในการเรียน การสอนจะช่วยให้เกิดความเจริญงอกงามทางสติปัญญา ผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในท้องถิ่นอย่างปกติสุข บนพื้นฐานของกระบวนการเรียนรู้ตามสภาพภูมิศาสตร์ นิเวศวิทยา ความเชื่อ ปรัชญา วิถีท้องถิ่น และวิถีแห่งการดำรงชีวิต

กิ่งแก้ว อารีรักษ์ (2548:118) ให้ความสำคัญของการศึกษาโดยใช้แหล่งเรียนรู้ ไว้ดังนี้

1. กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยอาศัยการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อที่หลากหลาย

2. ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ให้ลึกซึ้งขึ้น โดยใช้เวลาในการรวบรวมข้อมูลสะท้อนความคิดเห็นจากแหล่งการเรียนรู้

3. กระตุ้นมุ่งเน้นลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งผลักดันให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพิ่มมากขึ้น สามารถสร้างผลผลิตในการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงขึ้น

4. เสริมสร้างการเรียนรู้ จนเกิดทักษะการแสวงหาข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ โดยอาศัยการสร้างความตระหนักเชิงมโนทัศน์เกี่ยวกับธรรมชาติและความแตกต่างของข้อมูล

5. แหล่งการเรียนรู้เสริมสร้างการพัฒนาการคิด เช่น การแก้ปัญหา การให้เหตุผล และการประเมินอย่างมีวิจารญาณ โดยอาศัยกระบวนการวิจัยอิสระ

6. เปลี่ยนเจตคติของครูและผู้เรียนที่มีต่อเนื้อหารายวิชา และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

7. พัฒนาทักษะการวิจัยและความเชื่อมั่นในตนเองในการค้นหาข้อมูล

8. เพิ่มผลสัมฤทธิ์ด้านวิชาการ ในด้านเนื้อหา เจตคติ และการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดยอาศัยแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายในการเรียนรู้

นเรนทร์ คำมา (2548 : ออนไลน์) ได้กล่าว ถึงความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้ไว้ดังนี้

1. เป็นแหล่งที่รวบรวมขององค์ความรู้อันหลากหลาย พร้อมที่จะให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า ด้วยกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่แตกต่างกันของแต่ละบุคคล และเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต

2. เป็นแหล่งเชื่อมโยงให้สถานศึกษาและท้องถิ่นมีความใกล้ชิดกัน ทำให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาแก่บุตรหลาน

3. เป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีความสุข เกิดความสนุกสนานและมีความสนใจที่จะเรียนรู้ไม่เกิดความเบื่อหน่าย

4. ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้จากการที่ได้คิดเอง ปฏิบัติเอง และสร้างความรู้ ด้วยตนเอง ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าร่วม กิจกรรมและทำงานร่วมกับผู้อื่นได้

5. ทำให้ผู้เรียนได้รับการปลูกฝังให้รู้และรักท้องถิ่นของตน มองเห็นคุณค่าและตระหนักถึงปัญหาในท้องถิ่น พร้อมที่จะเป็นสมาชิกที่ดีของท้องถิ่นทั้งปัจจุบันและอนาคต

ประเวศ วะสี (2536:1) กล่าวว่า ท้องถิ่นมีแหล่งการเรียนรู้ และผู้รู้ด้านต่างๆมากมาย มากกว่าที่ครูสอนท่องหนังสือ ถ้าเปิดโรงเรียนสู่ท้องถิ่นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากครูในท้องถิ่น จะมีครูมากมายหลากหลายเป็นครูที่รู้จริงทำจริง จะทำให้การเรียนรู้ไปสู่การปฏิบัติจริง การเรียนสนุกไม่น่าเบื่อ ที่สำคัญเป็นการปรับระบบที่มีคุณค่า เดิมการศึกษามองข้ามคุณค่าเหล่านี้ เมื่อผู้รู้ในท้องถิ่นเหล่านี้เป็นครูได้ จะเป็น การยกระดับคุณค่า ศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจของท้องถิ่นอย่างแรง เป็นการถักทอ ทางสังคม

แหล่งการเรียนรู้มีบทบาทในการให้การศึกษาแก่ผู้เรียน ทั้งในระบบและ นอกระบบ (กรมสามัญศึกษา 2544 : 7) ดังนี้

1. แหล่งการเรียนรู้สามารถตอบสนองการเรียนรู้ที่เป็นกระบวนการ (Process Of Learning) การเรียนรู้โดยการปฏิบัติจริง (Learning By Doing) ทั้งจากท้องถิ่น ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ตนเองมีอยู่แล้ว

2. เป็นแหล่งกิจกรรม แหล่งทัศนศึกษา แหล่งฝึกงาน และแหล่งประกอบอาชีพของผู้เรียน

3. เป็นแหล่งสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นโดยตรง

4. เป็นห้องเรียนธรรมชาติ เป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย และฝึกอบรม

5. เป็นองค์กรเปิด ผู้สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเต็มที่และทั่วถึง

6. สามารถเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้เรียนในเชิงรุก เข้าสู่กลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึงประหยัดและสะดวก

7. มีการเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน

8. มีสื่อประเภทต่างๆ ประกอบด้วย สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเลกทรอนิกส์ เพื่อเสริมกิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาอาชีพ

สรุปความสำคัญของแหล่งการเรียนรู้ได้ว่า แหล่งการเรียนรู้ช่วยเชื่อมโยงเรื่องราวในท้องถิ่นสู่การเรียนรู้สากล พัฒนาคุณลักษณะและความคิด ความเข้าใจในคุณค่า และทัศนคติ ค่านิยม ใฝ่รู้ ใฝ่เรียน รักการเรียนรู้ มีทักษะการแสวงหาความรู้ สามารถจัดการความรู้ ซึ่งมีความสำคัญและมีความหมายอย่างมากสำหรับผู้เรียน ดังนี้

1. ผู้เรียนได้เรียนรู้จากสภาพชีวิตจริง สามารถนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ช่วยให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน ครอบครัว ท้องถิ่น

2. ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิต ทำให้เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของสิ่งที่เรียน

3. ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ท้องถิ่นสู่ความรู้สากลสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไปสู่สิ่งที่อยู่ไกลตัวได้อย่างเป็นรูปธรรม

4. เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง

5. มีส่วนร่วมในองค์กร ท้องถิ่น บุคคล และครอบครัวในการพัฒนาท้องถิ่น

6. ได้เรียนรู้จากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้ลงมือปฏิบัติจริง ส่งผลให้ เกิดทักษะการแสวงหาความรู้ เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้


ที่มา : http://punaoy.blogspot.com

แหล่งเรียนรู้ยุคใหม่ กับการขับเคลื่อนเมืองแห่งความรู้

หลายคนพยายามหาคำตอบว่าเมืองแห่งความรู้ควรเป็นอย่างไร แต่กลับพบว่าไม่มีคำตอบที่แน่นอนตายตัว ขึ้นอยู่กับบริบทของเมืองและความต้องการของคนในเมืองเป็นสำคัญ.....

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมคลิก!


ที่มา : สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน)