ความเชื่อเกี่ยวกับ

บุญบั้งไฟ

ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นหนึ่งในจารีตเดือนหกของฮีตสิบสองคลองสิบสี่ ที่ชาวอีสานยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาลอันสำคัญที่ขาดเสียไม่ได้ เพราะบรรพบุรุษได้สืบทอดประเพณีนี้และร่วมกันอนุรักษ์ สืบสานต่อกันมาไว้ให้ลูกหลาน เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความรักความสามัคคีที่ดีต่อกันของคนในชุมชน แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้กับสภาพอากาศอันแห้งแล้งของท้องถิ่นอีสาน เพื่อความอยู่รอดเพราะชาวอีสานมีความเชื่อว่าหากปีไหนไม่มีงานบุญบั้งไฟ ฝนจะไม่ต้องตกตามฤดูกาลนั้นเอง

ความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีบุญบั้งไฟ จุดประสงค์หลักใหญ่ก็เพื่อขอฝนให้ตกต้องตามฤดูกาล จะได้มีน้ำในการทำนาและดำรงชีพ ทำให้พืชพันธุ์ ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์ ชาวอีสานก็จะได้มีกินดีอยู่ดีและมีรายได้จากความอุดมสมบูรณ์นั้น นอกจากนี้ยังคงมีความเชื่อดังนี้


5 ความเชื่อเกี่ยวกับบุญบั้งไฟ

1.เพื่อการบูชาพระยาแถน เทพเจ้าแห่งฝนให้ท่านบันดาลให้ฝนตกลงมา

2.เพื่อบูชาอารักษ์มเหศักดิ์หลักเมือง เพื่อขอฝนเช่นเดียวกันและยังขอให้ท่านอำนวยความสมบูรณ์พูนสุขให้กับท้องถิ่นนั้นๆด้วย ซึ่งจะเห็นได้จากก่อนจุดบั้งไฟก็จะนำบั้งไฟไปคารวะเจ้าพ่อหลักเมืองเสียก่อน

3.เพื่อสักการะแก่พระพุทธศาสนา โดยเชื่อว่าเพื่อเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรืออีกนัยหนึ่งเดือนหกเป็นเดือนที่ตรงกับเดือนที่เป็นวันวิสาขบูชา ซึ่งถือเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพาน และเป็นวันถวายพระเพลิงพระพุทธเจ้า (ตรงกับ วันแรม ๘ ค่ำ เดือน 6 ) เมื่อถึงวันสำคัญเช่นนี้เหล่าพุทธศาสนิกชนต่างพากันจัดสักการะบูชาถวายความเคารพต่อพระพุทธเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน ดังนั้นการทำบุญบั้งไฟก็เหมือนกับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระพุทธเจ้า

4.เพื่อเสี่ยงทายดินฟ้าอากาศและพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ถ้าบั้งไฟขึ้นสูง ปีนั้นฝนฟ้า พืชพันธุ์ ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ถ้าบั้งไฟไม่ขึ้นหรือแตกเสียก่อน ปีนั้นก็จะขาดแคลนน้ำ เป็นต้น

5.เพื่อประสานความสามัคคีระหว่างกันของคนในชุมชน งานบุญบังไฟเป็นการรวบรวมผู้คนให้มาชุมนุมกันและร่วมมือกันทำกิจกรรม เพื่อประสานความสามัคคีและร่วมสนุกสนานรื่นเริงกันก่อนที่ลงมือทำนา

ปัจจุบันถึงแม้จะมีวิวัฒนาการทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ที่สามารถสร้างฝนเทียมได้แล้วก็ตาม แต่ลูกหลานของชาวอีสานก็ยังมีการสืบทอดประเพณีบุญบั้งไฟนี้อยู่ และในปัจจุบันงานประเพณีบุญบั้งไฟก็มีจัดแทบทุกจังหวัดในภาคอีสาน ซึ่งการจัดงานก็ตามแต่ความสะดวกของแต่ละท้องถิ่น บางแห่งก็จัดกันตามที่ว่าการอำเภอหรือจัดตามหมู่บ้าน ซึ่งนิยมจัดกันในเดือน ๖-๗ อาทิ จังหวัดร้อยเอ็ด ยโสธร อุดรธานี หนองคาย มุกดาการ และ ขอนแก่น เป็นต้น โดยเฉพาะจังหวัดยโสธร ซึ่งจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี จนสามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนให้กับชุมชนได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ปีนี้เป็นที่น่าเสียดายที่จะไม่มีงานประเพณีบุญบั้งไฟ เนื่องจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาดอยู่ซึ่งการรวมตัวกันเยอะๆเพื่อจัดงานบุญบั้งไฟคงจะไม่เหมาะสมเพราะอาจจะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในวงกว้างได้นั้นเอง