เนื้อหา

ความเป็นมา

การประดิษฐ์กระทง สมัยก่อนใช้วัสดุพื้นบ้านหรือตามธรรมชาติ เช่น ทำจากใบตอง หยวกกล้วยมาพับตกแต่งประดับด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และวัสดุตามธรรมชาติมาประดิษฐ์ เป็นวัสดุย่อยสลายง่าย แต่ปัจจุบันกลับนิยมใช้วัสดุโฟม ซึ่งย่อยสลายยาก ทำให้แม่น้ำลำคลองสกปรก เน่าเหม็น เกิดมลภาวะเป็นพิษ ต่อมาชาวบ้านได้เริ่มทำกระทงจากวัสดุธรรมชาติ โดยเริ่มจากหาเก็บเปลือกมะพร้าว ตามบ้านชาวบ้านที่ปอกทิ้ง เก็บเปลือกข้าวโพดจากชาวนาที่หักข้าวโพดไปแล้วและดอกกก หรือหญ้ากกซึ่งมักจะออกช่วงหน้าฝน โดยเริ่มเก็บตั้งแต่ช่วงต้นปี พอใกล้จะถึงเทศกาลลอยกระทง ก็จะมานั่งรวมกลุ่มกันทำกระทง โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำบายศรีที่มีอยู่ มาใช้ในการพับกลีบเปลือกข้าวโพด ทำกลีบกระทงแทนใบตองสด ซึ่งมีราคาสูงและพับเปลือกข้าวโพดทำเป็นดอกไม้ ร่วมกับดอกกก ดอกหญ้ามุ้งในท้องนา นำมาตากแห้งแล้วย้อมสี นำมาประกอบกันกับฐานที่ใช้จากเปลือกลูกมะพร้าวแห้ง ตัดเป็นรูปทรงตามต้องการ เช่น ทรงกลม ทรงรี รูปทรงหัวใจ จากนั้นประดับตกแต่งให้มีสีสันที่สดใสสวยงามอีกนิดหน่อย ก็จะออกมากระทงสีสันสดใสสวยงาม จะได้กระทงทรงกลม กระทงรูปดาว รูปหัวใจ ซึ่งตอนนี้มีด้วยกันทั้งหมด 9 แบบ ถ้าจะเน้นความสวยงามสำหรับตั้งโชว์ก็จะเป็นกระทงรูปนกยูงรำแพน กระเช้าหงส์ กระทงนกคู่ ที่มีความสวยงามละเอียดอ่อน ซึ่งวัสดุที่นำมาประดิษฐ์นั้นล้วนใช้วัสดุธรรมชาติทั้งสิ้น

ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “เหตุผลที่เลือกทำกระทงเปลือกข้าวโพดเพราะว่าที่นี่เริ่มต้นคือ วัสดุเหลือใช้จากเปลือกข้าวโพดมีเยอะมาก เพราะที่มีส่วนใหญ่แล้วทำไร่ทำนาแล้วก็ทำข้าวโพด พอเปลือกข้าวโพดมีจำนวนเยอะมากทำให้มีปัญหา ทำให้อากาศเป็นพิษเพราะประชาชนส่วนใหญ่นั้นเผาเปลือกข้าวโพด บางที่ไปสีข้าวโพดที่ริมแม่น้ำแล้วก็ทิ้งลงในน้ำหรือกองไว้ พอลมพัดมาก็ปลิวเป็นอันตรายเวลาสัญจรตามถนน จริง ๆ แล้วการทำกระทงเปลือกข้าวโพดเกิดขึ้นเพราะภูมิปัญญาชาวบ้านที่มีฝีมือจากการทำบายศรีเย็บใบตอง ซึ่งในปัจจุบันนี้ใบตองมีราคาที่แพง และหายาก พอเห็นว่าตัวเปลือกข้าวโพดนี้ลองเอามาคลี่ออกมามันมีลักษณะที่กว้าง แล้วพอพรมน้ำมันมีลักษณะที่ยืดหยุ่น เวลาพับสามารถจับจีบเป็นรูปแบบมากมาย นำดอกไม้ตากแห้งมาย้อมสีตกแต่งก็ออกมาสวย พอผู้สูงอายุเริ่มนำปราชญ์ชุมชนหรือว่าปราชญ์ชาวบ้านมาใช้ทำออกมาในรูปแบบต่าง ๆ จึงมีการถ่ายทอด ซึ่งทุกบ้านนั้นทำข้าวโพดอยู่แล้วมันมีวัสดุอยู่แล้วซึ่งเราก็ได้รับการถ่ายทอดไปทั่วตำบลลานดอกไม้ตกเลย จึงเป็นที่มาของการทำกระทงเปลือกข้าวโพดสร้างรายได้

นางน้ำทิพย์ ภูรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 และเป็นเหรัญญิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตกระทงตำบลลานดอกไม้ตกเล่าว่า “คนทำกระทงเปลือกข้าวโพดคนแรกเลยคือนางทองรวม คุณนาน กับกลุ่มเพื่อนในปี พ.ศ.2538 แต่ก่อนทำกระทงเปลือกข้าวโพดนั้นในอดีตชาวบ้านตำบลลานดอกไม้นั้นไม่ได้ทำกระทงเปลือกข้าวโพดขายเป็นอาชีพ แต่เป็นการทำกระทงถวายวัด ในแต่ละปีชาวบ้านจะช่วยกันทำกระทงใบตองเพื่อขายให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินมาทางเที่ยวชมงานลอยกระทงแล้วนำเงินมาเข้าวัด แต่ด้วยระยะเวลาที่มันน้อยแค่ 2 – 3 วัน มันทำไม่ทันและไม่พอกับนักท่องเที่ยวเพราะกระทงทำจากใบตองสด ด้วยความที่อยากจะหาเงินเข้าวัดเยอะ ๆ ทำกระทงไว้เยอะ ๆ เลยพากันคิดหาวิธีที่จะทำเลยพากันทำกระทงใบตองแห้ง ชาวบ้านได้นำใบตองไปตากแดดให้แห้งแล้วมาทำเป็นกลีบกระทง กับเอาเปลือกมะพร้าวมาทำฐาน ใบตองพอมันแห้งก็เป็นสีนำตาลแล้วมันไม่สวยแต่มันก็ทำได้หลายใบเลยพากันไปเอาดอกหญ้าตากแห้งย้อมสีตกแต่งเอามันก็ทำได้แต่ไม่ค่อยตอบโจทย์ เลยพากันมาเห็นเปลือกข้าวโพดจากที่เกษตรกรเขาเอาข้าวโพดไปสีแล้วเหลือเปลือกมันเลยลองเอามาทำดู แล้วมันสวย โดยใช้เปลือกข้าวโพดและดอกหญ้ามาตกแต่งแตงย้อมสีให้สวยงาม ปรากฏว่าขายดีมาก คนจากต่างจังหวัดเขามาเห็นแล้วเขาซื้อ บางคนซื้อ 3 – 4 กระทง แต่ไม่ได้เอาไปลอยเอากลับไปฝากญาติเพราะมันมีสีสันที่สวยงามเหมือนมันเป็นของที่แปลกใหม่ แล้วต่อมาคนในชุมชนเลยมองเห็นว่ามันน่าจะขายได้ เลยพากันไปเรียนรู้การทำจากนางทองรวมเพื่อทำขาย ส่งไปขายให้กับญาติพี่น้องที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดต่อมาก็มีนักธุรกิจ พวกพ่อค้าคนกลางเขามารับซื้อไปขาย ก็เลยเกิดการเรียนรู้แล้วพากันเริ่มออกแบบ จากที่มันเป็นวงกลมธรรมดาก็พากันคิดหาทำรูปใหม่ ๆ ทำเป็นนกเป็นหัวใจกันจากนั้นก็พากันทำทั้งตำบลเลย แต่ที่เริ่มโด่งดังกันสุด ๆ เลยก็คือปี พ.ศ.2550”

จากข้างต้น สรุปว่า ในอดีตชาวบ้านได้ทำกระทงใบตองขายแต่ไม่พอต่อความต้องการของลูกค้า และวัสดุจากใบตองนั้นอยู่ได้ไม่นานจึงคิดหาวิธีที่จะเก็บไว้ได้นานและทำได้เป็นจำนวนมาก จึงได้ลองทำกระทงจากเปลือกข้าวโพดที่เป็นวัสดุเหลือใช้จากการเก็บเกี่ยวของเกษตรกรแล้วซึ่งทุกบ้านนั้นมี และได้รับการถ่ายทอดภูมิปัญญาของชาวบ้านในการทำบายศรีมาพับกลีบเปลือกข้าวโพดและตกแต่งให้ดูสวยงาม จนสามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านและชุมชน


ความสำคัญ

เอกลักษณ์กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา จึงเป็นที่ต้องการของตลาดและนับเป็นการสืบสานประเพณีไทย โดยใช้กระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาตินั้น จึงถือได้ว่าเป็นกระทงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หากเก็บขึ้นมาก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

แม้ว่ากระทงเปลือกข้าวโพดอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะมีการทำออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2539 แต่ด้วยกระแสตอบรับที่ดีในปีที่ผ่านมา ในปีนี้จึงได้มีพ่อค้า แม่ค้าสนใจทำกระทงเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่ายเป็นจำนวนมาก แหล่งผลิตกระทงเปลือกข้าวโพดก็ต้องเป็นที่จังหวัดกำแพงเพชร เพราะมีการทำไร่ข้าวโพดจำนวนมาก จึงมีเปลือกข้าวโพดที่เป็นขยะทิ้งจำนวนมาก และด้วยเหตุนี้เองจึงได้เป็นที่มาของแนวคิดการนำเปลือกข้าวโพดวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาแปรรูป ที่ผ่านมาไม่ได้เห็นเฉพาะกระทงเท่านั้น แต่มีของแต่งบ้าน ในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำจากเปลือกข้าวโพดออกมาจำหน่าย เช่น ตุ๊กตาเปลือกข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับการสัมภาษณ์ตรงที่ว่า “กระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตองจะเก็บไว้ได้ไม่นานก็เหี่ยวหรือเน่าไม่สวย แถมน้ำหนักของกระทงกาบมะพร้าวก็มีน้ำหนักเบาเวลาลูกค้ามารับใส่ถุงได้หลายอันกระทงทับกันก็ไม่ได้เสียหาย และยังทำได้ตลอดทั้งปีเพราะที่นี่ปลูกข้าวโพดเยอะ พอเอาข้าวโพดไปสีแล้วก็เอาเปลือกมาตากแห้งไม่ต้องทิ้ง”

นางสาวพรพรรณ เพิ่มพิพัฒน์ (คุณแอน) หนึ่งในผู้ผลิตกระทงเปลือกข้าวโพด เล่าว่า สำหรับกระทงเปลือกข้าวโพดของเรามีฐานการผลิตอยู่ที่ บ้านอมฤต ตำบลลานดอกไม้ตก อำเภอโกสัมพีนคร จังหวัดกำแพงเพชร ถือได้ว่าเราเป็นกลุ่มแรกที่เริ่มทำกระทงเปลือกข้าวโพด และทำมานานตั้งแต่ปี 2539 เริ่มแรกขายเฉพาะในพื้นที่ แต่พอทำได้ระยะหนึ่งเริ่มเข้ามาทำตลาดในกรุงเทพฯ ต่อมาได้รับความนิยมมากขึ้น มีการนำเข้ามาขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต และมีผู้ผลิตรายอื่น ๆ ในจังหวัดกำแพงเพชรทำจำหน่าย และส่วนใหญ่เริ่มขายในเว็บไซต์ ปัจจุบันกระทงเปลือกข้าวโพดมีขายทั่วประเทศ โดยดูแบบและสั่งซื้อกันผ่านทางเว็บไซต์ ข้อดีของกระทงเปลือกข้าวโพด คือ ทำจากวัสดุธรรมชาติ ย่อยสลายได้ และสามารถเก็บไว้ได้นาน แต่ถ้าเป็นกระทงใบตอง ขนมปัง หรือวัสดุอื่น ๆ จะเก็บได้ไม่นาน แต่กระทงเปลือกข้าวโพดเก็บได้นาน ไม่เน่าเสียง่าย และที่สำคัญน้ำหนักเบา โดยวัสดุที่นำมาทำกระทง ประกอบด้วย ฐานกระทงจะทำจากเปลือกมะพร้าว กลีบและดอกไม้กลางจะทำจากเปลือกข้าวโพด และหญ้า ซึ่งหญ้าที่ใส่ดอกไม้เป็นหญ้าจริง ที่เราเอามาตากแดด และย้อมสีอีกครั้งหนึ่ง โดยทางกลุ่มจะคัดเลือกเปลือกข้าวโพดที่เป็นข้าวโพดพันธุ์เลี้ยงสัตว์ เพราะมีการปลูกกันมากในพื้นที่ ซึ่งในส่วนของขั้นตอนการทำกระทงเปลือกข้าวโพดไม่ยาก เพราะมีการพับกลีบคล้ายกับกระทงใบตอง ดังนั้น จึงปรับรูปแบบของกระทงใบตองมาใช้กับกระทงเปลือกข้าวโพดได้ สำหรับรูปแบบของกระทงเปลือกข้าวโพด ปัจจุบันจะทำออกมาใน 4 รูปแบบหลัก คือ ทรงกลม ทรงหัวใจ ทรงดาว และทรงเรือ ส่วนรูปแบบอื่น ๆ ก็มีการคิดดัดแปลงขึ้นมาใหม่ เช่น รูปนกยูง เป็นต้น และปัจจุบันเริ่มเห็นกระทงเปลือกข้าวโพดมีสีสันมากขึ้น ซึ่งมาจากการนำเปลือกข้าวโพดมาย้อมสีให้มีสีสันต่าง ๆ แล้วแต่กลุ่มผู้ผลิตว่าจะออกแบบกระทงออกมาอย่างไร