แหล่งท่องเที่ยว

แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม

วัดถ้ำชาละวัน

สถานที่ตั้ง หมู่ 1 บ้านคลองโนน ตำบลคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

เชื่อว่าหลายๆคน คงไม่มีใครไม่รู้จัก “ชาละวัน” ตำนานจระเข้ยักษ์ใหญ่แห่งลุ่มแม่น้ำน่านเก่า(แม่น้ำพิจิตรเก่าในปัจจุบัน) ที่ตามตำนานได้กล่าวขานว่า เป็นจระเข้าที่ดุร้าย ถูกตายายเก็บเอามาเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นไข่ในสระน้ำแห่งหนึ่ง ตายายเฝ้าทะนุทะนอมฟูมฟักเลี้ยงดูเหมือนดั่งลูกน้อยของตัว ต่อมาจากเจ้าจระเข้ตัวน้อย ได้เจริญเติบโตใหญ่ขึ้น สระน้ำที่เคยเลี้ยง ก็ดูเมือนจะเล็กลง ตายายจึงจึงนำไปเลี้ยงไว้ในสระใกล้บ้าน หาปลามาให้เป็นประจำ ต่อมาตายายหาปลามาให้เป็นอาหารไม่พออิ่ม จระเข้ตัวนั้นจึงกินตายายเป็นอาหารเสียแทน เมื่อขาดคนเลี้ยงดูให้อาหาร จระเข้ใหญ่จึงออกจากสระไปอาศัยอยู่ในแม่น้ำน่านเก่า ซึ่งอยู่ห่างจากสระตายายไม่ไกลนัก แต่ด้วยเจ้าจระเข้ใหญ่ได้เคยลิ้มเนื้อมนุษย์แล้ว จึงเที่ยวอาละวาดกัดกินคนทั้งบนบกและในน้ำ ไม่มีเว้นแต่ละวัน จึงถูกขนานนามว่า “ไอ้ตาละวัน” ตามสำเนียงภาษาพูดของชาวบ้านที่เรียกตามความดุร้ายที่มันทำร้ายคน ไม่เว้นแต่ละวัน ต่อมาก็เรียกเพี้ยนเสียงเป็น “ไอ้ชาละวัน” แล้วคุณเชื่อหรือไม่ว่า สถานที่เหล่านี้ มีอยู่จริง ที่บ้านคลองโนน ตำบลคลองคะเชนทร อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร

วัดถ้ำชาละวัน ตั้งอยู่ในเขตหมู่ที่ 1 ตำบลคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย โดยมีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ 18 ไร่ 3 งาน 99 ตารางวา มีอาณาเขตติดต่อ ทิศเหนือ ติดต่อกับ ลำน้ำพิจิตรเก่า พื้นที่ตั้งเป็นราบลุ่ม เป็นป่า วัดแห่งนี้ในระยะแรกเริ่มนั้นใช้ชื่อว่า วัดถ้ำดงชาลวัน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดถ้ำชาละวัน จัดตั้งขึ้นเป็นวัดเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2542 เป็นที่รู้จักกันดีในนามของสำนักวิปัสสนา วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ถ้ำ เรียกกันว่า ถ้ำชาละวัน อันเป็นถ้ำของชาละวันในตำนานเรื่อง ไกรทอง เป็นที่มาของชื่อวัด ปัจจุบันยังมีถ้ำพอให้เห็นเป็นเค้าเท่านั้น หมู่บ้านอันเป็นที่ตั้งของถ้ำเรียกกันว่า บ้านชาละวัน(ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นบ้านคลองโนน)

วัดถ้ำชาละวันนั้นเป็นวัดที่เก่าแก่วัดหนึ่ง สังเกตได้จากโบราณสถานของวัด ซึ่งมีซากอิฐหลงเหลืออยู่ เข้าใจว่า เป็นฐานของเจดีย์ ถูกทับถมเป็นเนินดิน เมื่อขุดลงไปจะพบอิฐเรียงเป็นชั้น แต่ปัจจุบันก็ถูกขุดค้นไปเสียมากแล้ว วัดนี้ได้เคยเป็นวัดร้างมา 50 ปีเศษ เพิ่งจะมีพะสงฆ์เข้าไปสร้างกุฏิอยู่ และสร้างเป็นสำนักวิปัสสนา

ในบริเวณวัดถ้าชาละวัน ยังมีวัดร้างเก่าแก่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำนานเก่าอีก 2 วัด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดนี้สักเท่าใดนัก คือ วัดป่าเลไลก์ และวัดมหาภูติ วัดป่าเลไลก์นั้นตั้งอยู่ใกล้กับสระไข่ ส่วนวัดมหาภูติตั้งอยู่ใกล้กับสระตายาย วัดทั้งสองนี้มีเนินดินอยู่ เข้าใจว่าเป็นฐานเจดีย์หรือโบสถ์วิหาร และมีซากอิฐอยู่ด้วย คาดว่าน่าจะเป็นวัดเก่าแก่เช่นเดียวกับวัดถ้ำชาละวันแห่งนี้ และจากวิถีชาวบ้านที่ยึดติดกับแม่น้ำ ทำให้ยิ่งน่าเชื่อได้ว่าวัดถ้ำชาละวัน วัดป่าเลไลก์ วัดมหาภูติคงเป็นวัดเก่าแก่รุ่นเดียวเมืองพิจิตรเก่า

วิหารหลวงพ่อทอง เป็นวิหารที่มีมาแต่เดิม จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้นได้บอกว่า วัดแห่งนี้เคยเป็นวัดร้างไม่มีภิกษุจำพรรษา เมื่อเจ้าของที่ดินได้ยกที่ดินผืนนี้ได้มาพิจารณาแล้วบริเวณนี้เป็นวัดเดิม น่าจะให้เป็นที่สร้างวัดต่อไป พระภิกษุในวัดได้เล่าให้ฟังว่า มีประชาชนที่มาทำบุญหลายคนที่มีสภาวะทางจิตแข็ง (ภาวะจิตในทางพระพุทธศาสนา) ได้เคยเห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่อยู่ในบริเวณนี้ แต่ไม่สามารถดึงเอาพระพุทธรูปที่เห็นขึ้นมาได้ ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลที่เคยได้มีผู้เขียนไว้ในเอกสารที่เกี่ยวกับกับจังหวัดพิจิตร ซึ่งได้กล่าวถึงวัดถ้ำชาละวันนี้ว่า เป็นวัดที่สร้างมาแต่โบราณ และสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นวัดเก่าแก่มาก อันเนื่องมาจาก พบเนินดินสูงภายในบริเวณวัดที่คาดว่าน่าจะเป็นฐานเจดีย์เก่า

สิ่งที่น่าสนใจของวัดถ้ำชาละวัน แม้ว่าวัดถ้ำชาละวันนี้จะมีการสร้างเสนาสนะค่อนข้างน้อย แต่สิ่งที่น่าสนใจของวัดยังคงมีอยู่ นั้นก็คือ ประวัติความเป็นมาของการตั้งวัด และบริเวณที่ตั้งวัดซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับความเป็นมา หรือวรรณคดี "ไกรทอง" อันเป็นบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และยังเป็นตำนานพื้นบ้านของชาวพิจิตรด้วย

ผู้เขียน นางสาวศิริเพ็ญ ฟูพงษ์ ครู กศน.ตำบลคลองคะเชนทร์ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร