เกี่ยวกับศูนย์ฯ

ประวัติความเป็นมา

ศูนย์ปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์คลองจั่น เป็นลักษณะโครงการเลี้ยงตัวเอง ภายใต้ส่วนราชการในสังกัดคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีจุดกำเนิดมาจากผลการฝึกภาคปฏิบัติของนักศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ซึ่งสำรวจชุมชนพบปัญหา และความต้องการด้านสวัสดิการสังคมต่างๆ โดยเฉพาะสถานรับเลี้ยงเด็กกลางวัน ณ สโมสรเยาวชนคลองจั่นในปี พ.ศ. 2512 จากนั้นกรมประชาสงเคราะห์ได้มอบที่ดินจำนวน 1 ไร่ 40 ตารางวา ของกรมประชาสงเคราะห์เดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณที่ทำการสำนักงานการเคหะแห่งชาติ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้บริจาคเงินจำนวน 300,000 บาท ( สามแสนบาทถ้วน ) เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์ปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์คลองจั่น และได้เปิดดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 เป็นต้นมา ซึ่งในสมัยนั้นผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ และผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งของรัฐบาล คือ ศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ และคณบดีคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ คือ ศาสตราจารย์ นวลนาฎ อมาตยกุล

อาคารศูนย์ปฏิบัติการสังคมสงเคราะห์คลองจั่น ระยะเริ่มแรกมีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวประกอบด้วยห้องกิจกรรม 2 ห้อง ห้องอาหาร ห้องครัว ห้องเก็บของ และห้องน้ำ ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากชาวชุมชน ต่อเติมห้องธุรการ ห้องอาบน้ำ และห้องน้ำเด็กเพิ่มขึ้น ในปีการศึกษา 2534 ได้จัดตั้งมุมหนังสือ " ห้องสมุด ศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ " เพื่อส่งเสริมความรู้ในการบริการสังคมแก่ผู้ปกครองและนักศึกษา กิจกรรมพื้นฐานที่สำคัญ คือ โครงการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบิดามารดา โดยผ่านทางสมาคมผู้ปกครองและเด็กชุมชนคลองจั่น ซึ่งจะมีการจัดกิจกรรมในเทศกาลต่างๆ เป็นประจำทุกปี โดยส่งเสริมให้นักศึกษาและเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่จัดขึ้นตามหลักสูตรการฝึกภาคปฏิบัติและกิจกรรมพิเศษอื่นๆตามความสนใจของนักศึกษาและความต้องการของชุมชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนเป็นวิถีทางหนึ่งที่จะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การพัฒนาครอบครัว และสังคมไทยในอนาคต