ท่าพระเมืองดีสังคมดีต้องมีศีลธรรม

“วัดเทพปูรณารามตั้งมาเป็นร้อย ๆ ปีแล้ว ช่วงนั้นขาดเจ้าอาวาสหลวงตาอยู่วัดท่าพระหงส์เทศประดิษฐ์ ได้มาอยู่วัดนี้โดยมาบวชนาคตอนนั้นหลวงตามาบวชใหม่ได้พรรษาแรก ประเพณีวัฒนธรรมแถวนี้เขามักจะบวชนาคเดือนหก มีบุญเบิกบ้านเดือนเจ็ด ส่วนเดือนหกจะมีประเพณีบุญบั้งไฟ บวชนาค ถึงเดือนบุญบั้งไฟ บุญเบิกบ้าน บุญซำฮะช่วงเดือนเจ็ด บุญนี้จะทำทุกบ้านโดยบุญซำฮะจะทำอยู่กลางบ้านสวดมนต์กลางบ้านสามวันสามคืน ช่วงเช้าจะตักบาตร เอาหินเอาทรายไปโปรยตามมุมวัดต่าง ๆ นี่คือประเพณีบุญเบิกบ้านบุญบั้งไฟ”

“ก่อนจะถึงบุญบั้งไฟจะมีบุญแก้งฟ้า เป็นบุญใหญ่พอสมควรในสมัยก่อน ตอนบ่าย ๆ มีมวย กลางวันมีพระเทศน์ แห่ดินมาเข้าวัดก่อเจดีย์ทราย สงกรานต์อัญเชิญพระลงมากราบไหว้ สรงน้ำ จนถึงเดือนหก โดยคนสมัยก่อนเข้าวัดฟังธรรมเยอะ จะเข้าวัดแถวบ้านที่ตนเองสะดวก เมื่อก่อนคนเข้าวัดช่วงเข้าพรรษาประมาณ ๕๐ คน ตอนนี้ไม่ถึง ๔๐ คนคนไม่ค่อยเข้าวัด แต่เข้ามาฟังธรรมบ้าง ในสมัยก่อนมีวัดท่าพระเนาว์ วัดหนองบัวดีหมี ต่อมาก็มาเกิดวัดท่าพระหงส์เทศประดิษฐ์ พ.ศ.๒๔๙๗ หรือเรียกว่าวัดใหม่ เนื่องจากตั้งใหม่ ในปี พ.ศ.๒๔๙๗”หลวงตาเล่า ถึงประเพณีวัฒนธรรมของชาวท่าพระสมัยก่อน

หากพูดถึงประเพณีสำคัญในสมัยก่อนที่ทำให้ชาวบ้านมีกิจกรรมทำร่วมกัน หลวงตาบอกว่า ประเพณีสำคัญในสมัยก่อนคือ สงกรานต์ แห่เทียนเข้าพรรษา ตั้งบาตรเทโว ประเพณีเหล่านี้ต้องทำเป็นประจำ ที่ขาดไม่ได้คือ วันสำคัญ ได้แก่ มาฆบูชา วิสาขบูชา อาสาฬหบูชา ออกพรรษา และมีประเพณีหนึ่งที่ตอนนี้ไม่มีแล้วนั่นคือ ประเพณีงานเฮือนดี หรือ งานศพ หากมีคนตายจะไปเก็บศพไว้ไม่ทำเอิกเกริกแบบทุกวันนี้แต่ให้คนไปอ่านหนังสือผูก ต้องมีผู้เฒ่าผู้แก่นำหนังสือใบลานไปอ่านให้ฟัง ช่วงระยะเวลาที่เผาศพแล้วสวดมนต์สามคืน เพื่อจะอยู่เป็นเพื่อนของลูกหลานจะได้ไม่ว้าเหว่จนเกินไป หลังจากเผาแล้วจะเก็บไว้สามคืนแล้วค่อยไปเก็บกระดูก แล้วมาทำบุญต่อ แต่ทุกวันนี้เมื่อเสียชีวิตแล้วจะรีบเผาภายในสองสามวัน เพื่อความสะดวกและปรหยัด

“สมัยก่อนหลวงตาไปบิณฑบาต โดยการเดินเป็นแถวกลับไปได้ข้าวเหนียว ข้าวเจ้าผสมกัน เมื่อก่อนไม่นิยมใส่อาหาร แต่จะนำอาหารตามหลังมาแบ่งถวาย ชาวบ้านเมื่อก่อนมาวัดจะนำอาหารประเภท น้ำพริก แจ่ว ปลาร้าที่หาได้ ผักลวก เป็นเมนูง่าย ๆ ไม่ได้มีปิ่นโต ใช้วิธีใส่ถ้วยมาถึงวัดแล้วก็นำมารวมกัน ได้อะไรก็เอามาแบ่งกัน ตักใส่เท่า ๆ กัน สมัย ๖๐ สิบปีก่อนปิ่นโตหายาก มีแต่เอาถ้วย เอาจานมา ใส่อาหารแบ่งใส่ถาด ”หลวงตายังบอกอีกว่า การสัญจรไปมาถนนมิตรภาพเมื่อก่อนลำบากมาก ต้องรอรถเป็นเวลานานส่วนใหญ่ต้องเดิน ขี่เกวียน ขี่ม้าเพราะรถหายาก มีเพียงรถเมล์สีขาววิ่งจากขอนแก่นมาตำบลโนนสมบูรณ์ และรถเมล์สีเขียวจากท่าพระไปขอนแก่นเท่านั้น

อีกทั้งคนในหมู่บ้านนิยมเรียนหนังสือบางส่วน บ้านหนองบัวดีหมีค่อนข้างจะอยู่ใกล้ความเจริญ ความสะดวก จึงมีคนเรียนหนังสือมาก ถ้าเป็นสมัยหลวงตาเป็นเด็กหาคนที่ได้ไปเรียนหนังสือยาก เพราะคนที่ได้ไปเรียนหนังสือคือคนที่มีฐานะดี เป็นลูกข้าราชการ เมื่อเริ่มมีการขยายการศึกษา ทุกคนก็สามารถเรียนได้ เมื่อก่อนเรียนจบแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เป็นเพราะประเพณี ธรรมเนียม ถูกสอนว่า เรียนไปทำไม ทำไร่ทำนาดีกว่า เพราะไม่ได้ไปเป็นครูกับเขาหรอก

พอคิดกันแบบนี้ทำให้เด็กก็ไม่อยากไปเรียน ต้องเรียนอยู่วัด แต่ก่อนคนมาเรียนอยู่วัดตามจำนวนหมู่บ้านพอเข้าโรงเรียนอายุ ๘ ปีก็มาเรียนวัดเพราะยังไม่มีอาคารของหลวง ต่อมาทางราชการค่อยมาเปิดสถานศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๕ คนก็เริ่มออกจากวัดไปเรียนตามโรงเรียนระยะหนึ่งเรียกเด็กมาสอนเรียกว่าเรียนธรรมศึกษา ปกติพระเณรจะสอนกันอยู่แล้ว เรื่องธรรมะ บาลี ธรรมะสี่วิชาบาลีสามวิชา พอเปิดโอกาสให้โยมมาเรียนบ้างเกี่ยวกับความรู้ทางศาสนาจึงเปิด โดยบอกนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ มาเรียนเข้าสอบพร้อมกันที่สนามหลวงแผนกธรรม โดยในส่วนของโยมจะมีอยู่สามวิชาพระเณรจะมีสี่วิชา ทั้งตรีโทเอก มีเด็กมาสอบเยอะ แต่ได้เลิกไปเพราะไม่มีคนมาเรียน ทุกวันนี้พระก็ไปอบรมเป็นครั้งคราว ทำให้ไม่ได้ความรู้ วิชาของโยม คือ พุทธประวัติ ธรรมะ วินัย กะทู้ เรียงความ พุทธศาสนา สารวิธีที่เรียน พระเณรก็เรียนสี่ข้อนี้เด็กมาเรียนก็จะยกเว้นวินัยอย่างเดียว โยมจะสอบสามวัน พระจะสอบสี่วัน สมัยนี้พระจบปริญญาตรีเยอะสมัยก่อนไม่มีแบบนี้เมื่อถามถึงกิจกรรมว่าในสมัยก่อนชาวบ้านมาทำอะไรที่วัด หลวงตาบอกว่า “สมัยก่อนชาวบ้านมาทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น หัดร้องสรภัญญะ สวดมนต์ไหว้พระ มารวมกันถอนหญ้าที่วัด ทำความสะอาดวัด บุญกฐินก็มาทำอยู่วัด เมื่อก่อนวัดเป็นศูนย์รวมของการทำกิจกรรมทุกอย่าง นอกจากประเพณีต่าง ๆ แล้วก็มีบุญเป็นครั้งคราวต้องมารวมกันอยู่วัด แม้แต่เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านก็มาเลือกอยู่วัด เพราะพื้นที่กว้าง สะดวกสบาย” หลวงตากล่าว

นอกจากหลวงตาจะเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้านหนองบัวดีหมีแล้ว ปัจจุบันหลวงตายังเขียนกลอนสรภัญญะให้เอาไปร้องอีกด้วย “มาอยู่ที่นี่ชาวบ้านต้องการขับร้องสรภัญญะ แต่ไม่มีกลอนจึงให้หลวงตาเขียนให้ หลวงตาจึงเขียนกลอนขึ้น เพราะชอบอยู่แล้ว ตั้งแต่เด็กพี่สาวไปขับร้องสรภัญญะก็ไปฟังด้วย สมัยเป็นเด็กตั้งแต่เรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒ พอมาอยู่ที่นี่เห็นว่ามีการขับร้องสรภัญญะช่วงเข้าพรรษา จึงแต่งได้ก็แต่งให้ แต่งกลอนลำได้ เพราะว่าเรียนหลักสูตร กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และได้สอนเด็กที่สนใจขับร้องสรภัญญะควบคู่ไปด้วย”

นอกจากนี้หลวงตายังทิ้งท้ายกับเราว่า สมัยก่อนกับสมัยนี้วัดกับความสำคัญต่อชาวบ้านมีความแตกต่างอยู่บ้าง คือ คนทุกวันนี้มีภาระหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้เข้าวัดได้เป็นครั้งคราว ต่างจากเมื่อก่อนที่มีเวลามาก มาประชุม มาเรียนอยู่วัด มาทำความสะอาด เรียกว่าชาวบ้านใกล้วัดแต่ตอนนี้ชาวบ้านไกลวัด รวมถึงเด็ก ๆ ด้วย ห่างวัดไปเรื่อย ๆ .

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางสาวณัฐธยาท์ โยหา

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย สำนักเทศบาลท่าพระ