ทรงผนวช

เมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ 14 พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หลังจากนั้นได้เสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร ผนวชจนออกพรรษาแล้วจึงทรงลาผนวช รวมเป็นระยะเวลาประมาณ 7 เดือน เมื่อพระองค์ทรงพระเจริญวัยขึ้นแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็กและให้ทรงศึกษาวิชาการต่างๆ สำหรับพระราชกุมาร

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงศีล

เมื่อพระองค์พระชนมายุ 20 พรรษา เมื่อวันพุธที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2367 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) วัดมหาธาตุ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับพระนามฉายาว่า “วชิรญาณโณ” แปลเป็นภาษาไทยว่า ผู้มีญาณแข็งแกร่งประดุจดังเพชร โดยเสด็จไปจำพรรษา ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร) แต่เมื่อทรงผนวชได้เพียง 15 วัน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต โดยมิได้ทรงมอบราชสมบัติแก่พระองค์ใด ที่ประชุมพระบรมวงศานุวงศ์และเสนาบดีจึงหารือกัน ซึ่งตามราชประเพณีการสืบสันตติวงศ์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมควรได้รับราชสมบัติ เพราะเป็นพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ประสูติแต่พระอัครมเหสี แต่ที่ประชุมเห็นว่าผู้ที่เหมาะสมในขณะนั้นคือพระเจ้า ลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ ซึ่งเป็นพระเชษฐาต่างพระมารดาที่มีพระชนมายุมากกว่าถึง 17 พรรษา และทรงมีประสบการณ์ด้านการปกครอง การสงครามและด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการค้ากับต่างประเทศ ขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์จักรี

เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎ ทรงทราบผลการประชุมและทรงพิจารณาเห็นว่า ถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้นพระราชวงศ์คงแตกสามัคคีและอาจเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง จึงทรงตัดสินพระทัยผนวชต่อไป ซึ่งเป็นส่งผลดี ดังนี้ 1) ทำให้พระองค์ได้ศึกษาพระพุทธศาสนาให้รอบรู้อย่างถ่องแท้ ทรงตั้งคณะสงฆ์นิกายใหม่ คือ ธรรมยุติกนิกาย เพื่อแก้ไขการปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยให้สมบูรณ์และเคร่งครัดในพระธรรมวินัย ทรงแสดงพระธรรมเทศนามุ่งให้คนทั้งหลายรู้หลักของพระพุทธศาสนาและปฏิบัติได้จริง 2) ขณะที่ทรงผนวช มหาอำนาจตะวันตกกำลังขยายอิทธิพลเข้ามา พระองค์ตระหนักถึงความจำเป็นในการเรียนภาษาต่างประเทศซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่การศึกษาวิทยาการสมัยใหม่ ทรงศึกษาภาษาอังกฤษอย่างเชี่ยวชาญและใช้ศึกษาความรู้แขนงต่างๆ 3) พระองค์ได้เสด็จธุดงค์ไปตามหัวเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ทำให้ทอดพระเนตรเห็นสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชน

ต่อมา พ.ศ. 2379 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์แล้วเชิญพระองค์เสด็จมาครองตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหารเป็นพระองค์แรก ทรงอยู่ในสมณเพศยาวนานถึง 27 พรรษา ตลอดจนสิ้นแผ่นดินรัชกาลที่ 3