กลุ่มชาติพันธุ์สี่เผ่าไทในจังหวัดศรีสะเกษ : ส่วย (กูย) เขมร ลาว เยอ มีอัตลักษณ์ในการแต่งกายที่โดดเด่น มีภูมิปัญญาในการทอผ้าที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่า ชาวบ้านในสมัยโบราณนิยมเอามีดตัดผ้าเป็นชิ้นแล้ว เย็บผ้าให้ติดกันด้วยมือเพื่อต่อผ้าให้เป็นเสื้อ กางเกง หรือโสร่งสำหรับสวมใส่ โดยคิดค้นวิธีเย็บแบบต่างๆ เพื่อให้เกิดลวดลายสวยงาม เรียกว่า “การแส่วผ้า”

แส่ว เป็นคำภาษาลาวในภาคอีสานของประเทศไทย ในพจนานุกรมภาษาอีสานออนไลน์ของ ดร.ปรีชา พิณทอง ให้คำนิยามคำว่า แส่ว คือ เย็บ ปัก ถัก ร้อย

คำว่า แส่ว ชาวกูย/กวย บางท้องถิ่นที่มีวัฒนธรรมร่วมกับชาวลาวในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษจะออกเสียงว่า แซว ส่วนชาวกูย/กวยที่อาศัยอยู่และมีวัฒนธรรมร่วมกับชาวเขมร จะออกเสียงว่า โตด-เลียย

ส่วนภาษาเขมรโบราณอีสานใต้จะออกเสียงว่า จุล-กบัจ หรือ จุล-รม-เล็จ-กบัจ

การแส่วผ้า เป็นภูมิปัญญาการนำเส้นไหมหรือด้ายนำมาย้อมสีต่างๆ โดยสีที่เป็นเอกลักษณ์คือ สีแดง สีเหลือง และสีขาว นำมาควั่นเข้าด้วยกันให้เป็นเกลียว แล้วนำมาแส่วตะเข็บหรือชายเสื้อด้วยมือ เป็นลวดลายบนผืนผ้าลายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต ความเชื่อ และธรรมชาติรอบตัว ลายแส่วผ้าแรกเริ่ม เช่น ลายดอกพิกุล ลายโซ่ ลายหางตะกวด ลายตีนตะขาบ ลายขามดแดง ส่วนในปัจจุบันมีลายประยุกต์ เช่น ลายเชิงเทียน ลายดอกไม้ เป็นการต่อยอดภูมิปัญญาและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สวยงาม


การแส่วผ้าด้วยลายตีนตะขาบ เป็นการแส่วผ้าด้วยมือของชาว กูย โดยใช้ผ้า 2 ชิ้นมาเย็บติดกันและเกิดเป็นช่องว่างเพื่อระบายอากาศขณะสวมใส่ ใช้ด้ายไหมสีต่างๆ มาตกแต่ง นิยมแส่ว ตะเข็บข้างวงแขน ตะเข็บแขนเสื้อ

ลายเชิงเทียนเป็นลายแสดงอัตลักษณ์ของจังหวัดศรีสะเกษ ลายเชิงเทียนเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางอาชีพ ผ่านพ้นอุปสรรคทั้งปวง สติและปัญญา

ภูมิปัญญาการแส่วผ้าในเขตอำเภอขุขันธ์ เริ่มต้นขึ้นที่บ้านสวงษ์ ตำบลหัวเสือ ชาวบ้านตำบลหัวเสือ ได้ศึกษาเรียนรู้การแส่วผ้าจากบรรพบุรุษตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เริ่มจากปักลายตีนตะขาบที่เป็นลายดั้งเดิมก่อน และในปี พ.ศ. 2554 อำเภอขุขันธ์ ได้ผลักดันให้เสื้อเก็บ หรือ อาวเก๊บ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอ ส่งเสริมให้ประชาชนสวมใส่เสื้อเก็บในห้วงประเพณีแซนโฎนตา (ประเพณีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมร) เสื้อเก็บหรืออาวเก๊บ เริ่มสวมใส่กันอย่างแพร่หลายทั้งในอำเภอขุขันธ์ และอำเภออื่นๆ ในจังหวัดศรีสะเกษ มีการพัฒนาลายแส่วขึ้นมากมาย

นางวีระยา ศรีมาศ

หนึ่งในภูมิปัญญาที่พัฒนาลายแส่ว จนกลายเป็นลายเอกลักษณ์ของอำเภอขุขันธ์ คือคุณวีระยา ศรีมาศ ชาวบ้าน ตรอย หมู่ 5 ตำบลหนองฉลอง ลายที่พัฒนาขึ้นได้แก่ ลายครุน้อยเกวียนน้อย ลายดอกตรอย ลายครุ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างแส่วผ้า และได้รับเชิญเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากจะสร้างรายได้ให้กับตนเองแล้ว ยังเป็นการสืบสานภูมิปัญญา และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนอีกด้วย

ลายครุ



<< ลายครุน้อยเกวียนน้อย



ลายดอกตรอย >>

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านตรอย หมู่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

การเดินทาง : ใช้เส้นทาง ถนนหลวงหมายเลข 24 จากแยกโคกตาลอำเภอขุขันธ์ ถึงบ้านตรอยประมาณ 1 กิโลเมตร

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว/

นางสาวปาริสา ศรีมาศ