สารทเขมร (แซนโฎนตา)...ประเพณีเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรษ

หากใครได้มีโอกาสเดินทางผ่านเข้ามาในตัวอำเภอขุขันธ์ในช่วงปลายเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม อาจจะคุ้นเคยกับความคึกคักของบ้านเมืองในห้วงเวลานั้นเป็นอย่างดี บางท่านอาจได้ชมขบวนแห่อันยาวเหยียด อันประกอบด้วยขบวนช้างสุดยิ่งใหญ่ บุรุษนุ่ง
ผ้าขาวม้าถือตุงเดินนำหน้านางรำที่ฟ้อนเอวอ่อนประกอบเสียงเพลงไปตลอดเส้นทาง สลับกับรถบรรทุกอาหารคาวหวาน ข้าวต้มมัด
ผลหมากรากไม้ ปิ้งไก่ หัวหมู ถนนทั้งสองข้างทางเต็มไปด้วยกล้วย กล้วย แล้วก็กล้วย! ใบหน้าของชาวบ้านชาวเมืองเต็มไปด้วยความสุข เช่นเดียวกันสีสันของเสื้อผ้าที่หลายคนอาจจะร้องเอ๊ะ! ทำไมใส่เสื้อสีดำเหมือนๆ กันหมด แต่หากสังเกตดีๆ ลายปักบนเสื้อนั้นไม่เหมือนกันแม้แต่ตัวเดียว แถมเป็นงานแฮนด์เมค เรียกว่าลายนี้มีตัวเดียวในโลก โอ้โห...เกริ่นมาขนาดนี้ ต้องอยากรู้แล้วแน่ๆ ว่าเอ๊ะ...นี่คืองานอะไร?

ภาพจากเว็บไซต์เน็ตประชารัฐ

ต้องขอนำพาทุกท่านมาทำความรู้จักกับอำเภอขุขันธ์ก่อน…

กล่าวโดยย่อ อำเภอขุขันธ์ เป็นอำเภอที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ชนชาวเขมรเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทยในท้องที่ชายแดนแถบเทือกเขา พนมดงรัก หมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวน หัวหน้าชาวเขมรป่าดงนามว่าตากะจะ อาสาจับช้างเผือกของพระเจ้าเอกทัศที่หลงเตลิดมาแถบเทือกเขาพนมดงรัก ประกอบกับความดีความชอบด้านการช่วยรบรากับข้าศึกต่างเมือง ทำให้ตากะจะได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน” และยกฐานะหมู่บ้านปราสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนเป็น “อำเภอขุขันธ์”

ภาพจากเว็บไซต์
สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์

อนุสาวรีย์ตากะจะ

บริเวณอนุสาวรีย์พระยาไกรภักดีศรีนครลำดวน (ตากะจะ)

พ.ศ. 2459 ตรงกับวันที่ วันที่ 19 พฤษภาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ผู้ว่าราชการเมือง เรียกว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัด” เมืองขุขันธ์จึงเปลี่ยนนามจากเดิมเป็น จังหวัดขุขันธ์ ต่อมาได้มีการย้ายศาลากลางเมืองไปยังอำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอขุขันธ์ กลายเป็นเมืองหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษนับแต่บัดนั้น เป็นต้นมา


ภาพจากเว็บไซต์สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์>>

ความเชื่อหนึ่งของชาวไทยเชื้อสายเขมรในอำเภอขุขันธ์ คือการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ด้วยการจัดสำรับเครื่องเซ่นไหว้ ประกอบพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี เรียกว่า สารทเขมร หรือ ประเพณีแซนโฎนตา ภาษาเขมรเรียกว่า บนผจุมเบนฑ์ แห่บายเบญฑะโบร (บายตะเบ๊ดตะโบร)

ดังนั้น ในช่วงก่อนวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ประมาณ 1 สัปดาห์ อำเภอขุขันธ์จึงจัดงานประเพณีแซนโฎนตาขึ้น เพื่อรำลึกถึงคุณความดีของท่านเจ้าเมือง (ตากะจะ) และบรรพบุรุษของลูกหลานชาวเมืองขุขันธ์อย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี

การจำลองพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของคณะครู กศน.อำเภอขุขันธ์

ครู กศน.อำเภอขุขันธ์ สาธิตการห่อข้าวต้มใบมะพร้าว

จากพิธีเซ่นไหว้ที่ทำกันในบ้าน กลายเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ เป็นรากฐานของเศรษฐกิจและสังคมของจังหวัดศรีสะเกษ ได้อย่างไร?
หากย้อนกลับไปอ่านย่อหน้าแรก ท่านจะได้เห็นถึงวิถีชีวิตที่สะท้อนอยู่ในนั้น...
ขบวนแห่แซนโฎนตา หรือขบวนแห่เครื่องเซ่นไหว้บรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมรในอำเภอขุขันธ์ ได้หลอมรวมทั้งวัฒนธรรม นวัตกรรม ที่สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับชาวอำเภอขุขันธ์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นข้าวต้มใบมะพร้าวที่เป็นเอกลักษณ์ ใบมะพร้าวกับข้าวเหนียวร้อนๆ ส่งกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย หรือจะเป็นกล้วยที่ขายเต็มสองข้างทาง เพราะชาวบ้านต้องนำกล้วยไปทำข้าวต้มและขนมหวาน อำเภอขุขันธ์จึงให้กล้วยเป็นผลไม้ตามประเพณี มีการประกวดกล้วยงามเมืองขุขันธ์ บ้านใครปลูกกล้วยสวยก็เตรียมส่งประกวดได้เลย

ในบริเวณอนุสาวรีย์ตากะจะและถนนเส้นหน้าที่ว่าการอำเภอขุขันธ์ จะเป็นถนนสายวัฒนธรรม ให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้เรียนรู้วิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายเขมรผ่านนิทรรศการ ไม่ว่าจะเป็นห้องสมุดประชาชนอำเภอขุขันธ์ ที่จัดนิทรรศการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านการทำข้าวต้มทางมะพร้าว นิทรรศการประวัติเมืองขุขันธ์ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่นำผลิตภัณฑ์ของดีเมืองขุขันธ์มาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อเก็บ ตะกร้าทางมะพร้าวบ้านโนนสำราญ ผอบใบตาลบ้านหนองก๊อก หมอนใบเตยบ้านตาทึง ครุน้อยบ้านสะอาง เรียกได้ว่า อยากช้อปผลิตภัณฑ์ OTOP ขึ้นชื่อจากผู้ผลิต สามารถเที่ยวชมได้ตลอดทั้งสัปดาห์ของการจัดงาน

ส่วนภาคกลางคืนในวันจัดงานประเพณี มีการแสดงแสง สี เสียง ประวัติเมืองขุขันธ์ นักแสดงก็ไม่ใช่ใครที่ไหน คนขุขันธ์บ้านเรานี่เอง ตั้งแต่นายอำเภอ ปลัด นายกองค์การบริหารส่วนตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ครู นักเรียน นักศึกษา เรียกได้ว่าเป็นการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วน เพื่อให้ชาวโลกรู้ว่า ขุขันธ์มีดี สมกับคำขวัญประจำอำเภอที่ว่า
“ขุขันธ์เมืองเก่า ชนทุกเผ่าสามัคคี บารมีพระแก้วเนรมิตวัดลำภูคู่หลวงพ่อโตวัดเขียน กระอูบ เกวียน ครุน้อย เครื่องจักสาน
ปราสาทโบราณเป็นศรี ประเพณีแซนโฎนตา”

ภาพจากเพจ ที่นี่อำเภอขุขันธ์

คลิปจากคุณสุเพียร คำวงศ์

ภาพจากเพจ ที่นี่อำเภอขุขันธ์

ตำแหน่งที่ตั้ง : ตำบลห้วยเหนือ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

การเดินทาง : ใช้เส้นทาง ถนนศรีสะเกษ - ขุขันธ์




เนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว/

เว็บไซต์สภาวัฒนธรรมเมืองขุขันธ์