อาชีพเสริม รายได้หลัก...ว่าด้วยเรื่องของผ้าศรีมะเกลือและเสื้อแส่ว

ด้วยความที่เมืองขุขันธ์เป็นเมืองเก่าแก่ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีชนเผ่าต่างๆ อาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข บรรพบุรุษของชาวขุขันธ์ได้สร้างบ้านแปลงเมือง ทั้งยังทิ้งมรดกทางภูมิปัญญาไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ในการดำรงชีวิต หนึ่งในมรดกชิ้นสำคัญของชาวไทยเชื้อสายเขมรในอำเภอขุขันธ์ ก็คือการย้อมผ้าลายลูกแก้วสีมะเกลือและการแส่วผ้า

แม้ว่าอาชีพหลักของคนขุขันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพเกษตรกรรม ทว่าเม็ดเงินที่เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชนส่วนหนึ่งกลับเป็นรายได้จาก “เสื้อเก็บ” หรือ “เสื้อแส่วศรีมะเกลือ” ซึ่งผ้าศรีมะเกลือนี้ เป็นผ้าทอแบรนด์ศรีสะเกษ (ผ้าทอเบญจศรี) ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานที่สุด
ในอดีตชาวขุขันธ์นิยมปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเพื่อนำเส้นไหมมาเป็นวัตถุดิบในการทอผ้า การทอผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือ เป็นการใช้เทคนิคการเพิ่มตะกอให้มากขึ้นกว่าสองตะกอ ลายผ้าที่ได้จะเป็นลายดอกนูนขึ้นมาตลอดทั้งผืน ใช้เส้นยืนและเส้นพุ่งย้อมสีเดียวกัน มีลักษณะการทอแบบยกดอก การตัดเสื้อจากผ้าลายลูกแก้ว (เก็บ) ใช้วิธีตัดอย่างประหยัดที่สุด คือ จะไม่มีเศษผ้าเลย นอกจากที่เป็นคอกลมเท่านั้นที่ต้องคว้านออก นอกนั้นไม่ว่าจะเป็นแผ่นหลังหรือแขนก็ใช้ผ้าสี่เหลี่ยมทั้งสิ้น

ผ้าลายลูกแก้วย้อมมะเกลือและลายแส่วที่เป็นที่นิยมทั่วไป

นำผลมะเกลือมาตำให้ละเอียด นำผ้าไหมมาจุ่มน้ำมะเกลือ นำไปตากแล้วนำมาต้มน้ำมะเกลืออีกครั้ง ขั้นตอนสุดท้ายคือนำไปตากให้แห้ง

เมื่อได้ผ้าศรีมะเกลือแล้วก็นำมาตัดเย็บ เป็นเสื้อ จากนั้นก็จะเย็บปักถักร้อยด้วยเส้นด้ายหรือเส้นไหมหลากสี เป็นลวดลายต่างๆ ลงบนเสื้อ ซึ่งเรียกขั้นตอนนี้ว่า "การแส่วเสื้อ" โดยลายที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอขุขันธ์ ได้แก่ ลายครุน้อยเกวียนน้อย และลายดอกตรอย

ลายครุน้อย/เกวียนน้อย

ลายดอกตรอย

ผ้าศรีมะเกลือ เมื่อนำมาตัดเย็บเป็นเสื้อ เดิมชาวขุขันธ์เรียกว่าเสื้อเก็บ หรือ อาวเก๊บ เดิมสวมใส่ในห้วงประเพณีแซนโฎนตา ประเพณีเซ่นไหว้บูชาบรรพบุรุษของชาวไทยเชื้อสายเขมรที่อาศัยอยู่ในอำเภอขุขันธ์ แต่ปัจจุบันชาวขุขันธ์ นิยมสวมใส่กันทุกเทศกาลเนื่องจากมีการแส่ว (ปัก) ลายที่สวยงาม อาชีพตัดเย็บเสื้อเก็บและแส่วเสื้อ จึงเป็นอาชีพที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอำเภอขุขันธ์อย่างแท้จริง

ตำแหน่งที่ตั้ง : บ้านตรอย หมู่ 5 ตำบลหนองฉลอง อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ

การเดินทาง : ใช้เส้นทาง ถนนหลวงหมายเลข 24 จากแยกโคกตาลอำเภอขุขันธ์ ถึงบ้านตรอยประมาณ 1 กิโลเมตร

ข้อมูลเนื้อหา เรื่องราว เขียนโดย นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นางประไพพักตร์ แท่นแก้ว/

นางสาวปาริสา ศรีมาศ