ประวัติความเป็นมา

        จากหลักฐานจารึกหลักที่ 3 (ศิลาจารึกนครชุม) พ.ศ. 1900 กล่าวถึงเหตุการณ์ที่ พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) เสด็จไป พระบรมธาตุ เมืองนครชุมว่า “หากเอาพระศรีรัตนมหาธาตุอันนี้มาสถาปนาในเมืองนครชุม” เมืองนครชุมน่าจะเป็นเมืองใหญ่และมี ความสำคัญในสมัยสุโขทัย แต่มาหมดอำนาจและเป็นเมืองเล็กๆ ในสมัยอยุธยา ส่วนเมืองชากังราวยังคงมีอำนาจอยู่ในฝั่งตะวันออก และเรียกชื่อเมืองว่า กำแพงเพชรในสมัยอยุธยา เพราะหลังจากพระมหาธรรมราชาลิไทสวรรคต (พ.ศ. 1913 – 1914) เมืองต่าง ๆ ในแคว้นสุโขทัยแตกแยก บางเมืองหันมาเป็นพันธมิตรกับอยุธยา ชื่อเมืองกำแพงเพชรปรากฏ ในศิลาจารึกหลักที่ 38 หรือจารึก กฎหมายลักษณะโจรกล่าวพระนามจักรพรรดิราชได้ขึ้นเสวยราชสมบัติที่เมืองกำแพงเพชร เมื่อ พ.ศ. 1940 เชื่อกันว่ากษัตริย์อยุธยา ต้องการให้ศูนย์กลางของอำนาจจากเมืองนครชุมเดิม ย้ายมาอยู่ที่เมืองชากังราวหรือกำแพงเพชรนั่นเอง และภายหลังการ เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พ.ศ. 2530 เมืองกำแพงเพชร ได้ลดบทบาทลงและคงจะร้างไปในที่สุด

       อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปี พ.ศ.2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงความงดงามอลังการของศิลปกรรมไทยในยุคแรกๆ ผลงานทาง ศิลปกรรมที่เป็นเลิศนี้ปรากฏอยู่เป็นจำนวนมากในอุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอุทยานอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2534

การจัดตั้งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

       กรมศิลปากรได้ดำเนินการคุ้มครองป้องกันโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรและเมือนครชุม โดยการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อ พ.ศ. 2478 และ พ.ศ. 2480 ต่อมาได้ประกาศขึ้นทะเบียนกำหนดขอบเขตอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2511 ในส่วนของการขุดแต่ง บูรณะ และพัฒนาโบราณสถาน ได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2508 จนถึง พ.ศ. 2525 กรมศิลปากรจึงได้บรรจุงานปรับปรุงโบราณสถานเมืองกำแพงเพชรในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 5 (2525 – 2529) โดยใช้ชื่อ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร มุ่งเน้นการอนุรักษ์และพัฒนากลุ่มโบราณสถานทั้งภายในเมืองเนื้อที่ 503 ไร่ และเขตอรัญญิก เนื้อที่ 1,611 ไร่ เพื่อป้องกันมิให้ถูกทำลายหรือเสื่อมค่า พัฒนาโบราณสถาน และบริเวณเพื่อให้เป็นแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เกิดความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ของชาติ กรมศิลปากรได้ดำเนินการเปิดอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชรอย่างเป็นทางการเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 18 เมษายน พุทธศักราช 2524 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นองค์ประธาน

โบราณสถานอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร 

        ยังเป็นงานสถาปัตยกรรมที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งในด้านการใช้วัสดุศิลาแลงเป็นวัสดุก่อสร้าง รูปแบบทางศิลปกรรมเป็นของแท้ดั้งเดิมที่แสดงถึงฝีมือและความเชื่อของบรรพชนในอดีต ตลอดจนโบราณสถานรวมกลุ่มหนาแน่นในบริเวณป่าธรรมชาติ ซึ่งยังคงบรรยากาศพุทธสถานเขตอรัญวาสีดังเช่นในอดีต ดังนั้นคณะกรรมการมรดกโลกแห่งอนุสัญญาคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและฑรรมชาติของโลก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองสุโขทัยและเมืองบริวารคือ เมืองศรีสัชนาลัย และเมืองกำแพงเพชรเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมในปีพุทธศักราช 2534

โบราณสถานของเมืองกำแพงเพชร 

       เกือบทั้งหมดเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์ โดยมีอายุไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ 19 หรือสมัยของพระมหาธรรมราชาลิไท พุทธศาสนาในสมัยนั้นมีพระสงฆ์สองฝ่ายคือ ฝ่ายคามวาสีหรือวัดที่อยู่ในเมือง และอรัญวาสีหรือฝ่ายที่อยู่นอกเมือง

วัดพระแก้ว 

       เป็นพระอารามหลวงที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุกรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา เป็นวัดที่มีเฉพาะเขตพุทธาวาสไม่มีพระภิกษุจำพรรษา สิ่งก่อสร้างภายในวัดเรียงเป็นแนวยาวตามแกนตะวันออก-ตะวันตกขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้ ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีใหญ่ บนฐานยังมีโกลนศิลาแลงพระพุทธรูปประธาน ถัดมาเป็นเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ฐานมีสิงห์ล้อมรอบ วิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นสามองค์ และตอนท้ายสุดเป็นเจดีย์ทรงระฆังประดับช้างปูนปั้นที่ฐานโดยรอบเอกสารตำนานโบราณกล่าวถึงพระแก้วมรกตและพระพุทธสิหิงค์ ได้เคยประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชรซึ่งน่าจะประดิษฐานที่วักพระแก้วแห่งนี้

วัดพระธาตุ 

       ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว เจดีย์ประธานภายในวัดเป็นแบบเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังสูงใหญ่ก่อด้วยอิฐ องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันหลายชั้น องค์ระฆังค่อนข้างเล็กอันเป็นรูปแบบเฉพาะของเมืองกำแพงเพชร ด้านหน้าเจดีย์ประธานเป็นฐานวิหารศิลาแลงและมีเจดีย์รายอยู่บริเวณมุมด้านหน้าข้างวิหารข้างละองค์

วังโบราณหรือสระมน 

       อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระแก้ว ติดกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ บริเวณประตูสะพานโคม มีคันดินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบ กึ่งกลางมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยม จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบฐานอาคาร เศษกระเบื้องมุงหลังคา เศษภาชนะดินเผา และหลักฐานที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้อีกจำนวนมาก

ศาลพระอิศวร 

       เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดูเพียงแห่งเดียวในเมืองกำแพงเพชร เหลือเฉพาะฐานของอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง เดิมประดิษฐานเทวรูปพระอิศวรสำริดซึ่งมีจารึกที่ฐานว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช ได้สร้างเทวรูปองค์นี้เมื่อ พ.ศ. 2053 ตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 กรุงศรีอยุธยา จารึกยังได้กล่าวถึงการซ่อมแซมถนน คลองส่งน้ำ และการซ่อมแซมพระธาตุทั้งในเมืองและนอกเมือง

วัดพระนอน 

         เป็นวัดขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศเหนือ หรือบริเวณที่เรียกว่าอรัญญิก สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ภายในวัดใช้ศิลาแลงแทบทั้งสิ้น หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำและศาลาพัก ภายในวัดตอนหน้าวัดเป็นฐานอุโบสถเสาแปดเหลี่ยม ถัดไปเป็นวิหารซึ่งเดิมประดิษฐานพระนอนเป็นประธาน เสาวิหารใช้ศิลาแรงแท่งเดียวตลอดที่มีขนาดสูงใหญ่ ปักเรียงรายอยู่ภายในอาคาร โครงหลังคาเดิมเป็นเครื่องไม้ สังเกตได้จากช่องสี่เหลี่ยมตามหัวเสาสำหรับสอดหัวขื่อหัวคาน ผนังวิหารเรียงศิลาแลงเป็นผนังช่องลูกกรมหรือช่องลม ถัดจากวิหารไปทางด้านหลังเป็นเจดีย์ประธานทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม นอกจากสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกจำนวนมากมายในวัดนี้

วัดพระสี่อิริยาบถ 

       อยู่ทางเหนือของวัดพระนอน ถัดขึ้นไปประมาณ 100 เมตร หน้าวัดมีบ่อน้ำ ห้องน้ำ และศาลาพักเช่นเดียวกับวัดพระนอน สิ่งก่อสร้างสำคัญภายในวัดคือ วิหารที่สร้างบนฐานทักษิณขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ตอนหน้าวัด ด้านหลังวิหารสร้างเป็นมณฑป ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะมณฑปแบบจตุรมุข กึ่งกลางทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมรับส่วนยอดหลังคา จากนั้นทำเป็นมุมยื่นออกมาทั้ง 4 ด้าน ผนังแต่ละด้านของแท่งสี่เหลี่ยมก่อให้เว้าเข้าไป และประดิษฐานพระพุทธรูปแตกต่างกันออกไปในแต่ละด้าน คือ เดิน นั่ง ยืน นอน ปัจจุบันเหลือพระยืนขนาดใหญ่ทางด้านทิศใต้ พระพักตร์เป็นลักษณะศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร คือ พระนลาฏกว้าง พระหนุเสี้ยม

วัดช้างรอบ 

        ตั้งอยู่บนยอดเนินสูงสุดของเขตอรัญญิก สิ่งสำคัญของวัดแห่งนี้คือ เจดีย์ประธานทรงระฆังขนาดใหญ่ ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว ฐานสี่เหลี่ยมด้านล่างสูงใหญ่ มีบันไดอยู่ที่กลางด้านทั้งสี่เพื่อขึ้นไปถึงลานด้านบน หรือลานทักษิณ ฐานล่างประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน 68 เชือก ตัวช้างทำลายปูนปั้นที่แผงคอ โคนขา และข้อขา ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลายปูนปั้นนูนสูงรูปพันธุ์พฤกษา เจดีย์ด้านบนเหลือเฉพาะฐานแปดเหลี่ยม และหน้ากระดานกลม ซึ่งพบหลักฐานว่ามีการประดับลายปูนปั้นเล่าเรื่องพุทธประวัติ และประดับรูปเทวดา นางฟ้า กินนร กินรี และหงส์ ด้านหน้าเจดีย์ประธานทีฐานวิหารขนาดใหญ่และถัดไปเป็นสระน้ำที่ขุดลงไปในชั้นศิลาแลง

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร รหัสไปรษณีย์ 62000 หมายเลขโทรศัพท์ : (055) 711921 เปิดทำการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อัตราค่าธรรมเนียมเข้าชม : ชาวไทย 10 บาท : ชาวต่างประเทศ 40 บาท


วัดกลางนคร 

วัดพระแก้ว

วัดพระธาตุ