หัตกรรมจักสาน บนพื้นฐาน

ความพอเพียง

หัตกรรมจักสาน บนพื้นฐานความพอเพียง

ภูมิปัญญาท้องถิ่น

แหล่งเรียนรู้ชุมชนการจักสานจากไม้ไผ่ บ้านหนองพลอง หมู่ที่ 3 ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลงจังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านหนองพลอง ประกอบอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ทำไร่ ทำนา และทำสวน เมื่อเสร็จจากการ ทำไร่ ทำนา และทำสวน ชาวบ้านที่นี่ก็จะรวมกลุ่มหันมาทำงานจักสาน งานจักสาน เป็นหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำเพื่อใช้ในครัวเรือนมาแต่โบราณ ถึงปัจจุบันถึงแม้ว่าทุกวันนี้งานจักสาน หรือเครื่องจักสานจะมีอยู่น้อยแต่ก็ยังคงมีอยู่ทั่วไปทุกภาคในประเทศไทยนอกเหนือจากประโยชน์ใช้สอยแล้วงานจักสานยังสะท้อนวัฒนธรรมสะท้อนความคิดสร้างสรรและภูมิปัญญาของชาวบ้านได้อีกด้วย

งานจักสานจากไม้ไผ่เกิดขึ้นโดยการใช้ไม้ไผ่ นำมา จัก ผ่า ฉีดให้เป็นเส้นบางๆ แล้วนำมาขัดสาน สอดไขว้ ขึ้นโครงเป็นรูปทรงทำเป็นภาชนะ เป็นเครื่องมือเครื่องใช้จัดเป็นงานศิลปหัตถกรรม และหัตถกรรมพื้นบ้านที่มีความผูกพันและอยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน แสดงได้ถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาบรรพบุรุษที่มีการสืบทอดกันมาแต่โบราณมีอยู่ทุกภาคของประเทศด้วยเป็นทั้งหัตถกรรมที่เป็นของใช้ในครัวเรือนและชีวิตประจำวันจนถึงอาชีพที่เป็นแหล่งรายได้อีกด้วย การสร้างสรรค์งานจักสานไม้ไผ่ต้องใช้ทั้งภูมิปัญญาความประณีตความละเอียดอ่อน และทักษะฝีมือเชิงช่าง ตั้งแต่การรู้จักคุณสมบัติของไม้ไผ่ แต่ละชนิด ที่มีความเหมาะสมกับการนำมาใช้ประโยชน์ ในการจักสาน การเตรียมเส้นเพื่อการสานที่เหมาะสมกับการสร้างผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด และแต่ละรูปแบบ และที่สำคัญคือการสานขึ้นรูปจนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องจักสานไม้ไผ่ที่นำไปใช้ประโยชน์ใช้สอยตามที่ต้องการ งานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่จึงยังคงเป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่ยังคงมีอยู่สืบทอดกันต่อมานับจากอดีตตกาลจนถึงปัจจุบัน การสร้างงานจักสานนอกจากต้องใช้ความประณีตพิถีพิถันในจักสานแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือลวดลาย ของงานจักสานนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างมูลค่าให้กับงานจักสานแต่ละชิ้น โดยลายสาน ทั่วไป คือ ลายขัด และลายสอง เป็นลายเริ่มแรก เมื่อผู้สานเริ่มหัดสานจากนั้นจึงมีการพัฒนา ลวดลายขึ้น จากลายดั้งเดิม เช่น ลายลบน้ำ ลายดีหล่มเป็นต้น จากความเชื่อในอดีตกับวิถีชีวิตของชาวไทย ต้นไผ่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในด้านงานหัตถกรรมจักสาน เพื่อทำมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อประโยชน์ใช้สอย

งานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ นิยมจักสาน เพื่อมาใช้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทต่างๆ เป็นเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น กระบุง ตะแกรง กระด้ง ฝาชี เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร ตะกร้า เข่งใส่ผลไม้ เครื่องมือที่ใช้จับสัตว์น้ำ ลอบ ไซ เป็นต้น เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านอย่างง่าย ที่สามารถทำใช้ได้เอง หรือสามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพง ภูมิปัญญาด้านงานหัตถกรรมจักสานของไทยถือเป็นสมบัติล้ำค่า ที่ได้รับสืบทอดต่อกันมา สร้างรายได้ให้กับชุมชนมาหลายชั่วอายุคน แม้ยุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่งานจักสานก็ได้มีการพัฒนาขึ้นให้เข้ากับความต้องการของตลาด ตลอดมา จากการปรับตัวหลายๆ อย่าง นำไปสู่กระบวนการจัดการอาชีพหัตถกรรมจักสานที่ยั่งยืน และถือได้ว่าอาชีพหัตถกรรมจักสานนี้เป็นอาชีพที่ไม่มีวันตาย ยังคงสร้างคนสร้างงานและอยู่คู่กับประเทศได้อีกนานแสนนาน

แหล่งเรียนรู้ชุมชนการจักสานจากไม้ไผ่ โดย คุณพ่อสำลี สีสาวแห ร่วมกับ กศน.อำเภอห้วยแถลง ใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักศึกษาและประชาชนผู้สนใจ สำหรับผู้ทีสนใจงานจักสาน สามารถไปเรียนรู้ได้ที่ บ้านปรางค์ หมู่ที่ 3 ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้เขียน : นางสาวจิรัตชยานัน จรรยาพิทักษ์ ครู กศน.ตำบลหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้ให้สัมภาษณ์ : นายสำลี สีสาวแห ภูมิปัญญาชาวบ้าน บ้านหนองพลอง หมู่ที่ 3 ตำบลหินดาด

อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา