ตัวอย่างประเภทกีฬาไทย

สกา

กีฬาระดับเทวดา และกษัตริย์ การประลองฝีมือที่ซับซ้อนและลึกซึ้ง ดั่งโบราณว่า เล่นสกาไม่ต่างจากฝึกฝนแก้ปัญหาชีวิตผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายนั่งคนละด้านของกระดาน คว่ำตัวสกา 2 ตัวไว้ที่มุมขวาสุด เรียกว่าเกิดหรือเจ้าเมือง ตัวสกาที่เหลือใส่ไว้ในหูช้าง ผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายผลัดกันทอดบาสก์ทั้ง 2 ลูก แล้วนับแต้มลูกบาสก์ 2 ลูกรวมกัน ใครได้แต้มสูงกว่ามีสิทธิ์เริ่มทอดเดินก่อน เรียกว่า"ฉ่าง" เริ่มเดินด้วยการทอดลูกบาศก์โดยใช้กระบอกทอดเทลงที่เติ่งหรือโก่งโค้งลูกบาสก์จะลงไปตั้งที่กระดานสกา จากนั้นจึงเดินสกาตามแต้มหน้าลูกบาศก์ที่ทอดได้ ถ้าฝ่ายใดลงตัวสกายังไม่หมดทุกตัว แล้วทำการ "เกิด" จะถือว่ายังไม่ได้เกิด และถูกปรับแพ้ เรียกว่า"แพ้ปอด" ในกระดานนั้น

อุปกรณ์สกา กระดาน ตัวสกา ลูกบาศก์ กระบอกทอด โก่งโค้ง

หมากรุก

การประลองชั้นเชิงบนแผ่นกระดานด้วยสติปัญญา และไหวพริบ เพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ นี่คือศาสตร์และศิลป์ของตำนานการต่อสู้นับพันปีการเล่นหมากรุกจะมีผู้เล่น 2 ฝ่าย เวลาเล่นจะต้องหันหน้าเข้าหากัน วางกระดานหมากรุกไว้ตรงกลาง กระดานมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม ตีตารางเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส 64 ช่อง แต่ละด้านมี 8 ช่อง แต่ละช่องเรียกว่าตา แต่ละฝ่ายตั้งตัวหมากในช่องแรกบนกระดานตรงด้านหน้าของตัวเอง เรียงจากซ้ายไปขวา ตาละ 1 ตัว เริ่มจาก เรือ ม้า โคน เม็ด ขุน โคน ม้า เรือ จากนั้นเว้นขึ้นไป 1 แถว เอาเบี้ยวางลงในแถวที่ 3 โดยเรียงตาละ 1 ตัว จนครบ 8 ตา เมื่อตั้งหมากเรียบร้อยก็เริ่มเล่นได้ โดยมีการเสี่ยง ผู้ชนะการเสี่ยงจะเป็นผู้เริ่มเดินก่อน แล้วผลัดกันเดินสลับกันไป หมากของแต่ละฝ่ายมี 16 ตัว แบ่งเป็น 6 พวก มีลักษณะและจำนวนดังนี้

เบี้ย รูปกลมแป้นเล็กๆ มี 8 ตัว

เรือ รูปกลมแป้นเหมือนกัน แต่ใหญ่กว่าเบี้ย มี 2 ตัว

ม้า รูปหัวม้า มี 2 ตัว

โคน รูปกลมสูง มี 2 ตัว

เม็ด รูปคล้ายโคน แต่เล็กกว่าและเตี้ยกว่า มี 1 ตัว

ขุน รูปทรงสูง ขนาดใหญ่ที่สุด มี 1 ตัว

หมากฮอส

การประลองของปัญญาชน ที่ต้องชิงไหวชิงพริบ บนแผ่นกระดานของการทดสอบความสามารถของตนเอง

กระดานหมากฮอสเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสเรียบ แบ่งแต่ละด้านออกเป็น 8 ช่องเท่าๆกัน จะได้ตารางย่อย 64 ช่อง กำหนดเป็นช่องสีเข้ม 32 ช่อง และช่องสีอ่อน 32 ช่องสลับกัน ผู้เล่น 2 ฝ่ายจะมีหมากฝ่ายละ 8 ตัว และมีสีต่างกัน เช่น ขาว และดำ เวลาตั้งกระดานให้วางตัวหมากอยู่บน 2 แถวแรกใกล้ตัวผู้เล่นแต่ละฝ่าย แถวละ 4 ตัว โดยวางฉพาะบนตาสีเดียวกัน ตัวหมากที่ใช้เดินบนกระดาน เมื่อเริ่มเล่นเรียกว่า"เบี้ย" จะเดินได้ครั้งละ 1 ตาโดยเฉียงไปข้างหน้าครั้งละ 1 ตา สลับกันเดินเพื่อบุกไปกินตัวหมากของฝ่ายตรงข้าม แล้วเดินไปจนสุดกระดานของฝ่ายตรงข้ามเพื่อเข้าฮอส ฮอลจะได้รับสิทธิ์พิเศษในการเดินกี่ตาก็ได้ในแนวเฉียง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ฝ่ายใดที่สามารถกินหมากคู่ต่อสู้จนหมดกระดาน หรือไม่สามารถเดินหมากในกระดานได้เป็นฝ่ายชนะ

ว่าวไทย

ศิลปะการเล่นกับสายลมบนฟ้า เพียงโครงไม้ไผ่ กระดาษสาและด้ายป่าน อาศัยจังหวะของสายลมกับความชำนาญ เกิดเป็นศิลปะการแข่งขันบนสนามท้องฟ้า

ว่าวที่ใช้แข่งขันคือว่าวจุฬา ที่มีขนาดดอกตั้งแต่ 80 นิ้วขึ้นไป บางตัวยาวถึง 2 เมตร ส่วนว่าวปักเป้าจะมีขนาดเพียง 34.5 นิ้ว ถือว่าว่าวจุฬาได้เปรียบว่าวปักเป้าทั้งขนาดรูปร่างและอาวุธ จึงมีกติกาว่าต้องต่อให้ว่าวปักเป้า 2 ต่อ 1 เวลาแข่งขันว่าวจุฬาจะอยู่เหนือลม มีเส้นกั้นเขตระหว่าง 2 ฝ่าย และห้ามผู้เล่นของแต่ละฝ่ายล้ำแดนกัน ขณะแข่งขันมีการไขว่คว้าโฉบเฉี่ยวกัน ต่อเมื่อสายป่านตัดกันกับคู่ต่อสู้จนขาดและตกลงพื้นดิน กลับขึ้นท้องฟ้าอีกไม่ได้ หรือตกในเขตของคู่ต่อสู้ก็นับว่าแพ้ด้วยเช่นกัน

เรือพาย

กีฬาที่รวมใจให้เป็นหนึ่งเดียวด้วยความปราดเปรียว และประสานจังหวะการพายของทุกคน พาเรือพายสู่จุดหมายด้วยพลังสามัคคี

การแข่งขันเรือพายต้องมีฝีพายตั้งแต่ 2-3 คนขึ้นไป 5 คน 10 คน ไปจนถึง 30 คน แต่ไม่เกิน 50 คน ก่อนจะถึงเวลาแข่งขัน เรือพายทุกลำต้องจับสลากเพื่อประกบคู่แข่งขันมหดทุกลำ โดยให้ผู้แทนจับสลากก่อนตามกติกา ในใบสลากบอกชื่อเรือพาย บอกเที่ยวแข่งขัน บอกสายน้ำตะวันตก ตะวันออก เมื่อจับสลากได้แล้วกรรมการจะประกาศให้เรือพายทราบทันที ตัวอย่างเช่น เรือยาวชื่อนั้นอยู่สายน้ำตะวันออก คู่กับเรือยาวชื่อนั้นอยู่สายน้ำตะวันตก เที่ยวแข่งขันที่เท่านั้น ทำแบบนี้ทุกลำจนหมดเรือยาวที่ขึ้นทะเบียนไว้เป็นรอบ แข่งขันรอบที่ 1 ส่วนเรือพายที่เข้ารอบที่ 2-3 ปฎิบัติตามแบบเดียวกันจนเหลือเรือพายที่เข้ารอบชิงชนะที่ 1-2-3 ต้องจับสลากสายน้ำตะวันตก ตะวันออกอีกเป็นครั้งสุดท้าย จุดปล่อยเรือพายและจุดเส้นชัยสุดท้าย ให้กรรมการตัดสินแพ้ชนะ ในระหว่างจุดปล่อยเรือพายจนถึงจุดเส้นชัย มีทุ่นเครื่องหมายกันคู่แข่งขันเรือพายออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ถ้าเรือลำใดวิ่งออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ ถือว่าผิดกติกา ต้องปรับให้แพ้ฟาวส์ แม้จะชนะก็ตาม


ตะกร้อลอดห่วง

กีฬาแห่งน้ำใจและไมตรี ไม่มีแบ่งเพศแบ่งวัยและฝีมือ เล่นที่ไหน เมื่อไหร่ กับใครก็ได้ ขอให้มีลูกหวายกลมๆ เพียงลูกเดียว

ตะกร้อลอดห่วง เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตะกร้อลอดบ่วงหรือตะกร้อห่วงชัย เป็นกีฬาที่มีห่วงอยู่เบื้องสูง ผู้เล่นจะเตะตะกร้อให้โด่งขึ้นไปเข้าห่วง สนามที่ใช้ในการแข่งขันเป็นพื้นราบกว้าง 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 16 เมตร อยู่กลางแจ้ง จะแขวนห่วงชัยประกอบด้วยวงกลม 3 ห่วง ขนาดเท่ากัน เส้นผ่าศูนย์กลางปากห่วงกว้าง 45 เซนติเมตร แขวนสูงจากพื้น 5.75 เมตร มีผู้เล่น 1 ชุด มีจำนวนไม่ต่ำกว่า 6 คนและไม่เกิน 7 คน ต้องเตะให้ตะกร้อเข้าห่วงชัยให้มากที่สุดในเวลา 40 นาที ซึ่งใช้ท่าเตะ 30 ท่า แต่ละท่ามีคะแนนมากน้อยตามความยากง่ายของท่าเตะ

กระบี่กระบอง

กีฬาที่มาจากศิลปะการต่อสู้ของไทย ไม่มีชาติใดเหมือน ได้รวมอาวุธหลายชนิเข้าไว้ด้วยกัน ช่วยพัฒนาทักษะรอบด้าน

ชื่อกระบี่กระบองใช่จะมีอาวุธเพียง 2 อย่างเท่านั้น แต่กีฬาประเภทนี้ได้รวมอาวุธที่น่าสนใจมากมายนอกเหนือจากกระบี่กระบอง อาทิ ดาบ ง้าว พลอง ดั้ง เขน โล่ และไม้สั้น การเล่นกีฬาชนิดนี้จะต้องเป็นคู่กันเพื่อแข่งขันกับคู่อื่น กรรมการจะมีหลักเกณฑ์การตัดสินการแข่งขัน 4 ประเภท ได้แก่ การแต่งกายจะเป็นแบบนักรบโบราณหรือชาวบ้านก็ได้ แต่ต้องสวมมงคลทุกครั้ง ท่ารำต้องรำท่าเดียวไม่ต่ำกว่า 2 ท่า ลีลาท่ารำต้องเข้ากับจังหวะดนตรีและเหมาะสมกับอาวุธที่ใช้ การเดินแปลงคือการเดินเข้าหากันก่อนเริ่มต่อสู้ และสุดท้ายคือการต่อสู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการต่อสู่ป้องกันตัว มีเหตุผลสมจริงในแต่ละท่าที่ใช้ และไม่เป็นการอนาจาร กำหนดเวลาแสดงคู่ละประมาณ 7 นาที

ฟันดาบ

กีฬาของชายชาญทหารไทย ใช้เหตุผลและหลักวิชาการป้องกันตัว ต๋อสู้ แข่งขัน เพื่อชิงชัย ด้วยท่วงท่าอันสง่าและสวยงาม

กีฬาฟันดาบ แบ่งเป็นกระบี่ชาย-หญิง ดาบสองมือชาย-หญิง และกระบี่ผสมดาบ 2 มือ(เฉพาะประเภททีม) กระบี่ทำด้วยหวายกลมและมีกระบังมือ ส่วนดาบ 2 มือนั้นเวลาแข่งขันต้องหุ้นนวมด้วย สนามแข่งขันเป็นรูปวงกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 เมตร แข่งขันกันเป็นยก ยกละ 4 นาที ยกเว้นกระบี่หญิงใช้เวลา 3 นาที การได้แต้มเสียแต้มนั้นดูจากการฟันถูกคู่ต่อสู้ การออกนอกเขตสนามหรืออาวุธหลุดมือ 2 ครั้ง ในยกเดียวกันจะเสีย 1 แต้ม

มวยไทย

ภูมิปัญญาไทยที่สร้างความตื่นใจไปทั่วโลก บ่งบอกถึงการต่อสู้ที่มีพิษสงรอบตัวของบรรพบุรุษไทย ที่ได้นำศิลปะการใช้ส่วนต่างๆของร่างกาย ให้เป็นอาวุธที่ทั้งรุนแรงและสวยงาม

มวยไทยเป็นการต่อสู้และการป้องกันตัวด้วยมือเปล่า นักมวยต้องสวมนวมที่มือ สวมกางเกงขาสั้นและใส่กระจับ ส่วนผู้ใดจะสวมปลอกรัดข้อเท้า และมีเครื่องลางของขลังผูกไว้ที่แขนท่อนบนก็ได้ ในการแข่งขันมีผู้ตัดสินชี้ขาดอยู่บนเวที 1 คน มีผู้ตัดสินให้คะแนนอยู่ข้างเวที 2 คนผู้จับเวลา 1 คน และแพทย์ประจำเวที 1 คน จำนวนยกในการแข่งขัน 5 ยก ยกละ 3 นาที พักระหว่างยก 2 นาที อวัยวะที่ใช้ในการแข่งขันได้คือ หมัด เท้า เข่า ศอก ศรีษะ เข้าต่อสู้ทำอันตรายฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันก็ปิดป้องตัวเองด้วย

วิ่งกระสอบ

ความสนุกสนานที่มาเป็นกระสอบ กีฬากลางแจ้งง่ายๆ ที่บรรพชนไทยคิดไว้ เมื่อหลายร้อยปีมาแล้ว

การวิ่งกระสอบ เป็นกีฬาพื้นเมืองของภาคกลาง โดยผู้เล่นใช้ 2 มือจับปากกระสอบให้เปิดกว้างแล้วก้าวเท้าทั้ง 2 ข้างสวมเข้าไปในกระสอบ แล้วนอนหงายเรียงแถวกันด้านหลังเส้นเริ่ม เป็นระยะห่างกันประมาณ 2 เมตร ให้ศรีษะจรดเส้นเริ่ม คือหันศรีษะไปทางเส้นชัยนั่นเอง เมื่อได้ยินสัญญาณเริ่มก็ลุกขึ้น แล้วกลับหลังหันวิ่งแข่งกันไปยังเส้นชัย ผู้ที่วิ่งถึงเส้นชัยก่อนเป็นผู้ชนะ

ชักเย่อ

กีฬาที่ผนึกความสามัคคี ออกแรงดึงเชือกพร้อมๆกัน ให้อีกฝ่ายหนึ่งก้าวล้ำมาในแดนของเรา นั่นคือชัยชนะของความสามัคคีแบ่งผู้เล่นออกเป็น 2 ฝ่ายๆละกี่คนก็ได้ ตามแต่จะตกลงกัน เมื่อแบ่งพวกได้แล้วก็ขีดเส้นแบ่งแดน หัวแถวของทั้งสองฝ่ายเหยียดแขนจับเชือก ยึดแนวขนานกับพื้นทั้งสองมือ เชือกจะขนานกับพื้นและเส้นแบ่งแดน ผู้เล่นแต่ละฝ่ายจับเชือกจากหัวแถวเรียงต่อๆกัน เมื่อเริ่มเล่นต่างฝ่ายต่างต้องพยายามดึงให้ฝ่ายตรงข้ามหลุดล้ำเลยเข้ามาในแดนตน ฝ่ายใดหลุดล้ำถือเป็นฝ่ายแพ้

วิ่งเปรี้ยว

กีฬาที่ใช้ความเร็ว ประสานความสามัคคี ชนะคู่ต่อสู้ หลบหลีกหากเพลี่ยงพล้ำ ก้าวล้ำหากชัยชนะอยู่แค่เอื้อม

ผู้เล่นมีจำนวนตั้งแต่ 4 คนขึ้นไป โดยแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายเท่าๆกัน สถานที่เล่นมักจะใช้ลานกว้าง และมีต้นไม้ 2 ต้นเป็นหลักแข่งกัน ซึ่งแต่ละฝ่ายจะต้องจัดแถวประจำที่หลักของตน เมื่อเริ่มเล่นคนที่อยู่หัวแถวจะต้องวิ่งไปอ้อมหลักของฝ่ายตรงข้าม จากนั้นวกกลับมาส่งผ้าให้กับผู้เล่นฝ่ายตนถัดไปที่หลักเป็นผู้วิ่งคนต่อไป ผู้เล่นของแต่ละฝ่ายต้องพยายามวิ่งกวดให้ทันและใช้ผ้าไล่ตีฝ่ายตรงข้าม หากฝ่ายใดไล่ตีได้ทัน ถือว่าเป็นผู้ชนะ