การทำสวนปาล์มน้ำมัน


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

พฤกษศาสตร์ทั่วไป

วงศ์ (Family): Palmae หรือ Recaceae

จีนัส (Genus): Elaeis

สปีชีส์ (Species): guineensis

ชื่อสามัญ (Common name): oilpalm

ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): Elaeis guineensis Jacq.

หลักในการเลือกใช้พันธุ์ปาล์ม

พันธุ์ปาล์มน้ำมันที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันแบ่งได้เป็น 3 ชนิด ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างของพันธุ์เหล่านี้ โดยพิจารณาความหนากะลาของผลปาล์มเป็นสำคัญ


1. พันธุ์ดูรา (Dura) เป็นพันธุ์ที่มีกะลาหนาประมาณ 2 ถึง 8 มิลลิเมตร มีชั้นเปลือกนอกที่ให้น้ำมัน (Mesocarp) ประมาณ 35 ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผลปาล์ม พันธุ์ดูราเป็นพันธุ์ที่มีกะลาหนามาก ๆ เรียกว่ามาโครคายา (Macrocarya) คือมีกะลาหนาประมาณ 6 ถึง 8 มิลลิเมตร และมักจะพบมากในแถบตะวันออกไกล เช่น พันธุ์เดลีดูรา (Deli Dura) ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ปัจจุบันพันธุ์ดูรามักใช้เป็นต้นแม่สำหรับปรับปรุงพันธุ์เพื่อผลิตลูกผสมเป็นการค้า


2. พันธุ์ฟิสิเฟอรา (Pisifera) เป็นพันธุ์ที่มีกะลาบางมาก หรือบางครั้งไม่มีกะลา เมล็ดในและผลมีขนาดเล็ก ช่อดอกตัวเมียมักเป็นหมัน ผลผลิตแต่ละทะลายต่อต้นมีปริมาณต่ำ จึงไม่เหมาะที่จะปลูกเพื่อเป็นการค้าและนิยมใช้พันธุ์ฟิสิเฟอราเป็นต้นพ่อสำหรับผลิตพันธุ์ลูกผสม


3. พันธุ์เทเนอรา (Tenera) เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์แม่ดูราและพันธุ์พ่อฟิสิเฟอรา เป็นพันธุ์ที่มีกะลาบาง ประมาณ 0.5 ถึง 4 มิลลิเมตร มีปริมาณของ Mesocarp 60 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักผลผลผลิตต่อทะลายสูง ในปัจจุบันจึงนิยมปลูกเป็นการค้า


การปลูก

การเตรียมพื้นที่ปลูก

1. การบุกเบิกพื้นที่และการปรับสภาพพื้นที่สำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน เริ่มต้นจากการโค่นต้นไม้ขนาดใหญ่และเคลื่อนย้ายมากองรวมกัน จากนั้นปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แล้วจึงทำการเผา และไถพื้นที่และปรับสภาพพื้นที่

2. การทำถนนและทางระบายน้ำ และการสร้างถนนในสวนปาล์มน้ำ นับว่ามีความจำเป็นมากในการปลูกและการขนส่งหลังจากทำการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ลักษณะถนน มี 2 แบบ คือ ถนนใหญ่ ถือเป็นเส้นทางการขนส่งผลผลิต มีความกว้างของถนน ประมาณ 6 เมตร จะมีจำนวนกี่สายก็ขึ้นอยู่กับขนาดของแปลง ลักษณะภูมิประเทศ และเงินทุน ส่วนอีกแบบหนึ่ง เรียกว่าถนนย่อยหรือถนนเข้าแปลง เป็นถนนที่เชื่อมกับถนนใหญ่ ควรมีขนาดความกว้าง ประมาณ 4 เมตร ระยะห่างของถนนย่อยควรห่างกัน ประมาณ 500 เมตร ในขณะที่ถนนใหญ่แต่ละเส้นควรอยู่ห่างกัน ประมาณ 1 กิโลเมตร หากพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมีสภาพเป็นพื้นที่ลุ่มการทำร่องระบายน้ำก็นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

3. การวางแนวในการปลูกปาล์มน้ำมัน หลังการเตรียมพื้นที่เสร็จเรียบร้อยแล้วจะต้องทำการวางสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งปกติการปลูกปาล์มน้ำมันนิยมปลูกเป็นลักษณะของสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะในการปลูกตั้งแต่ 8 x 8 เมตร ถึง 10 x 10 เมตร

4. การปลูกพืชคลุมดิน ในขณะที่ต้นปาล์มน้ำมันมีขนาดเล็ก ระยะห่างระหว่างต้นขนาดพื้นที่เหลือมาก จึงมีปัญหาที่ตามมาคือการแก่งแย่งของวัชพืชการปลูกพืชคลุมดินจึงนับว่ามีความจำเป็นเพราะนอกเหนือจากจะเป็นการป้องกันการขึ้นแข่งขันของวัชพืชแล้วยังสามารถรักษาความชุ่มชื้นของดินให้คงอยู่ได้ระยะเวลานาน และเป็นป้องกันการพังทะลายของหน้าดินในกรณีที่พื้นที่เป็นที่ลาดชัน รวมไปถึงการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดินโดยการเพิ่มอินทรียวัตถุและการตรึงไนโตรเจนจากอากาศ การปลูกพืชคลุมดิน ควรมีระยะห่างจากแถวปาล์มอย่างน้อย 1.5 เมตร และชนิดของพืชคลุมที่ใช้ เช่น Calogoponium Mucunoides, Pueraria Phaseoloides, Centrocema Pubescens โดยแนะนำให้ปลูกร่วมกันทั้ง 3 ชนิด คือ การเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกควรเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธันวาคม และเริ่มต้นการปลูกปาล์มน้ำมันตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนกรกฎาคม เพื่อที่จะให้เสร็จเรียบร้อยก่อนฤดูฝนในแต่ละปี (ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ; กรมวิชาการเกษตร)

วิธีการปลูก

ระบบการปลูกปาล์มน้ำมันที่นิยมปลูก คือ ปลูกแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ระยะ 9 x 9 x 9 เมตร โดยปลูกปาล์มน้ำมันในช่วงฤดูฝน (ไม่ควรปลูกช่วงปลายฤดูฝนต่อเนื่องถึงฤดูแล้ง) หรือหลังจากปลูกต้นกล้าแล้วจะต้องมีฝนตกอีกอย่างน้อยประมาณ 3 เดือนจึงจะเข้าฤดูแล้ง การปลูกปาล์มน้ำมันจะต้องใช้ต้นกล้าพันธุ์ดีมีอายุประมาณ 8 ถึง 14 เดือน จำนวน 22 ถึง 25 ต้นต่อไร่

ระยะปลูก

ระยะปลูกที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ลูกผสมที่ได้จากพ่อพันธุ์กลุ่มต่างๆ

การเก็บเกี่ยว

การเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันสดรวมถึงการรวมผลปาล์มส่งโรงงาน มีขั้นตอนโดยทั่วไปดังนี้

1. ลำดับแรกจะต้องแต่งช่อทางลำเลียงแถวปาล์มน้ำมันในแต่ละแปลงให้เรียบร้อยและมีความสะดวกกับการลำเลียง และตรวจสอบทะลายปาล์มที่ตัดแล้วให้เรียบร้อยเพื่อรอรวบรวมต่อไป

2. คัดเลือกทะลายปาล์มน้ำมันสุกโดยยึดมาตรฐานจากการสังเกตสีของผลปาล์มน้ำมัน ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นสีส้มและจำนวนผลที่สุกจะร่วงหล่นลงบนดินประมาณ 10 ถึง 12 ผล ผลดังกล่าวให้ถือเป็นผลปาล์มสุกที่สามารถใช้ได้

3. หากปรากฏว่าทะลายปาล์มสุกที่จะตัดมีขนาดใหญ่ ที่ติดแน่นกับลำต้นมากไม่สะดวกกับการใช้เสียมแทงเพราะจะทำ ให้ผลร่วงมาก ก็ใช้มีดขอหรือมีดด้ามยาวธรรมดา ตัดแชะขั้วทะลายกันเสียก่อน แล้วจึงใช้เสียมแทงทะลายกันเสียก่อน แล้วจึงใช้เสียมแทงทะลายปาล์มก็จะหลุดออกคอต้นปาล์มได้ง่ายขึ้น

4. ให้ตัดแต่งขั้วทะลายปาล์มที่ตัดออกมาแล้วให้สั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสะดวกในการขนส่ง หรือเมื่อถึงโรงงาน ทางโรงงานก็สามารถรบรรจุปาล์มลงในถังต้นลูกปาล์มได้สะดวก

5.รวบรวมผลปาล์มทั้งที่เป็นทะลายย่อยและลูกร่วงนำมารวมไว้เป็นกองในพื้นที่ว่างบริเวณโคนต้นและเก็บผลปาล์มที่ร่วงใส่ตะกร้าหรือเข่งเตรียมไว้ ในกรณีต้นปาล์มมีอายุน้อย ทางใบปาล์มอาจเก็บยาก

6. สำหรับทางใบปาล์มที่กองไว้หลังจากตัดแล้วอย่าให้กีดขวางทางเดิน หรือวางปิดกั้นทางระบายน้ำเพราะอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง หรือทางระบายน้ำที่ขังตามทางเดิน

7. รวบรวมผลปาล์มน้ำมันทั้งทะลายสดและผลปาล์มร่วงไปยังศูนย์รวมผลปาล์มในกองที่เป็นกองย่อย เช่น ในการกระบะบรรทุกที่ลากด้วยแทรกเตอร์หรือรถอีแต๋น

8. การเก็บเกี่ยวผลปาล์ม เจ้าของสวนปาล์มน้ำมันจะต้องสนับสนุนให้ผู้เก็บเกี่ยวร่วมทำงานกันเป็นทีม ในทีมก็แยกให้เข้าคู่กัน 2 คน โดยคนหนึ่งทำหน้าที่ตัดหรือแทงผลปาล์มและอีกคนหนึ่งก็เก็บรวมรวมผลปาล์ม

9. การเก็บรวมรวมผลปาล์ม การเก็บพยายามลดจำนวนครั้งในการถ่ายเทเป็นกองย่อย ๆ เมื่อผลปาล์มชอกช้ำมีบาดแผล จะทำให้ปริมาณของกรดไขมันอิสระจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นการส่งปาล์มออกจากสวนปาล์มเองก็ควรมีการตรวจสอบโดยการลงทะเบียนผลปาล์ม และการบรรทุกควรจะมีตาข่ายคลุมเพื่อไม่ให้ผลปาล์มร่วงระหว่างทางขณะขนส่ง

ข้อควรปฏิบัติในการเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมัน

ข้อควรปฏิบัติในการเก็บเกี่ยว มีดังนี้

1. ตัดทะลายปาล์มน้ำมันอยู่ในระยะสุกพอดี คือทะลายปาล์มเริ่มมีผลร่วง แต่ไม่ควรตัดทะลายปาล์ม

ที่ยังดิบอยู่ เพราะในผลปาล์มดิบยังมีสภาพเป็นน้ำและมีแป้งอยู่ ยังไม่แปรสภาพเป็นน้ำมัน ส่วนทะลายที่สุกเกินไปจะมีกรดไขมันอิสระสูง และผลปาล์มสดอาจมีสารบางชนิดอยู่ อาจเป็นอันตรายกับผู้บริโภคได้

2. รอบของการเก็บเกี่ยว จะอยู่ในช่วงที่ผลปาล์มน้ำมันออกชุก ควรจะอยู่ในช่วง 7 ถึง 10 วัน

3. ผลปาล์มที่เป็นลูกร่วงที่อยู่บริเวณโคนปาล์มน้ำมัน และที่ค้างในกาบต้นควรเก็บออกมาให้หมด

4. ก้านทะลายของปาล์มน้ำมันควรตัดให้สั้นและต้องให้ติดกับทะลาย

5. พยายามให้ทะลายปาล์มน้ำมันชอกช้ำน้อยที่สุด

ข้อควรคำนึง

1. ผลปาล์มน้ำมันที่ตัดแล้ว ควรจะดำเนินการจัดส่งให้ถึงโรงงานภายใน 24 ชั่วโมง

2. ทะลายปาล์มสุกที่จัดว่าได้มาตรฐาน คือ ผลปาล์มชั้นนอกสุดของทะลายหลุดร่วงจากทะลาย

3. ผลปาล์มหากมีจำนวนเต็มทะลาย แสดงเห็นได้ชัดว่าได้รับการดูแลรักษาอย่างดี

4. ไม่ควรให้มีทะลายปาล์มน้ำมันที่มีอาการชอกช้ำและเสียหายอย่างรุนแรง

5. ไม่ควรให้มีทะลายปาล์มน้ำมันที่เป็นโรคใด ๆ หรือเน่าเสีย

6. ไม่ควรให้มีทะลายที่สัตว์กินหรือทำความเสียหายแก่ผลปาล์ม

7. ไม่ควรให้มีสิ่งสกปรกเจือปน เช่น ดิน หิน ทราย ไม้กาบหุ้มทะลาย เป็นต้น

8. ไม่ควรให้มีทะลายปาล์มน้ำมันเปล่า ๆ เจือปนด้วย

9. ความยาวของก้านทะลายควรไว้ ควรให้มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว

มาตรฐานในการเก็บเกี่ยวปาล์มน้ำมัน

มาตรฐานในการเก็บเกี่ยว มีดังนี้

1. จะต้องไม่ตัดผลปาล์มดิบไปขายเพราะจะขายได้ในราคาไม่เต็มที่

2. จะต้องไม่ปล่อยให้ผลปาล์มน้ำมันสุกอยู่บนต้นนานเกินไป

3. จะต้องเก็บผลปาล์มที่ร่วงลงบนพื้นให้หมด

4. จะต้องไม่ทำให้ผลปาล์มน้ำมันที่เก็บเกี่ยวแล้วมีบาดแผล

5. จะต้องคัดเลือกทะลายปาล์มน้ำมันที่สมบูรณ์ ส่วนทะลายที่มีจำนวนน้อยให้ทิ้งทะลายไปเลย

6. การตัดขั้วทะลายปาล์มน้ำมันจะต้องตัดให้มีขนาดสั้นที่สุดเท่าที่จะทำได้

7. จะต้องทำความสะอาดผลปาล์มน้ำมันที่เปื้อนดิน อย่าให้มีเศษหินดินปนไปด้วย

8. เมื่อตัดผลปาล์มน้ำมันแล้ว จะต้องรีบส่งผลปาล์มไปยังโรงงาน ภายใน 24 ชั่วโมง