ประเด็นท้าทาย ข้อตกลงในการปฏิบัติงานฯ (PA) ปีงบประมาณ 2566

ประเด็นท้าทาย เรื่อง การพัฒนาบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ Pre-A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1-3 และ ระดับ A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3

1. สภาพปัญหาการจัดการเรียนรู้และการจัดการศึกษา

      การจัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษในระดับประถมศึกษาตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการนั้น เป้าหมายที่สำคัญคือนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในห้องเรียนปกติเมื่อจบการศึกษาในระดับประถมศึกษาแล้ว นักเรียนควรมีระดับภาษาอังกฤษในระดับ A1 ตามกรอบมาตรฐาน CEFR โดยนโยบายดังกล่าวเป็นกรอบการดำเนินงานให้หน่วยงานการศึกษาทุกสังกัดร่วมกันขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย

                ในส่วนของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 นั้นปรากฏว่า โรงเรียนส่วนใหญ่จัดการเรียนรู้ภาษาอังกฤษโดยใช้บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานของสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. ซึ่งพบปัญหา คือ บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษดังกล่าวไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นบนกรอบมาตรฐาน CEFR แต่เป็นการนำบัญชีคำศัพท์จากหนังสือแบบเรียนหลายๆ เล่มมาประกอบกัน ส่งผลให้ได้บัญชีคำศัพท์ที่มีระดับภาษาหลากหลาย เป็นคำศัพท์ที่มีความถี่ในการใช้งานต่ำ (Low Frequency) ทำให้เมื่อนักเรียนเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษจากบัญชีคำศัพท์ดังกล่าว นักเรียนจะได้เรียนรู้คำศัพท์ที่ไม่ตรงกับระดับภาษาที่กระทรวงศึกษาธิการคาดหวัง และส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การทดสอบระดับชาติต่ำในระยะยาว เนื่องจากระดับภาษาในบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานของสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. ไม่สอดคล้องกับระดับภาษาในแบบทดสอบการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับชาติ วิชาภาษาอังกฤษ ที่คำศัพท์กว่าร้อยละ 80 อยู่ในระดับ A1 (Meekaeo, 2022[1])

      ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงมีความประสงค์ที่จะพัฒนาบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ Pre-A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1-3 และ ระดับ A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาบุรีรัมย์ เขต 3 มีบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานที่มีมาตรฐานสำหรับสถานศึกษานำไปใช้จัดการเรียนรู้ มีรายละเอียดดังนี้

                 1. บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ Pre-A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1-3

                 เป็นบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีความถี่ในการใช้งานสูง (High Frequency) จาก Cambridge English Qualifications Pre-A1 Starters Wordlist For Exams โดยนำมาจัดหมวดหมู่และแยกระดับชั้น 3 ระดับ สำหรับนักเรียชั้นประถมศึกษาปีที่ 1, 2, และ 3

                 2. บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6

                 เป็นบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีความถี่ในการใช้งานสูง (High Frequency) จาก The Oxford 3000 ระดับ A1 โดยนำมาจัดหมวดหมู่และแยกระดับชั้น 3 ระดับ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ปีที่ 4, 5, และ 6

      โดยประเด็นท้าทายนี้มีกลุ่มเป้าหมาย คือ โรงเรียนในสังกัดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 จากจำนวน ทั้งสิ้น 214 โรงเรียน นำบัญชีคำศัพท์ระดับ Pre-A1 และ ระดับ A1 ไปใช้จัดการเรียนรู้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งจะส่งผลให้นักเรียนที่ได้เรียนรู้คำศัพท์จากบัญชีคำศัพท์ดังกล่าวมีความรู้พื้นฐานด้านคำศัพท์ภาษาอังกฤษตรงตามกรอบมาตรฐาน CEFR ตรงตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และส่งผลให้เกิดการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาอังกฤษในระยะยาวต่อไป

 

2. วิธีการดำเนินการให้บรรลุผล

               ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย ข้าพเจ้าได้ดำเนินการ 3 ระยะ ดังนี้

   ระยะที่ 1 ศึกษาบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน

1. รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานที่มีอยู่ในระบบการศึกษา ได้แก่ บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ของสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. และบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่มีความถี่ในการงานสูง (High Frequency) The Oxford 3000 ระดับ A1 ของมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และ Cambridge English Qualifications Pre-A1 Starters Wordlist For Exams ระดับ Pre-A1 ของมหาวิทยาแคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร

2. เปรียบเทียบระดับภาษาในบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานของสถาบันภาษาอังกฤษ สพฐ. กับกรอบมาตรฐาน CEFR โดยใช้โปรแกรมออนไลน์
The Oxford Text Checker (บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษ The Oxford 3000 ระดับ A1 ของมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด และ Cambridge English Qualifications Pre-A1 Starters Wordlist For Exams ระดับ Pre-A1 ของมหาวิทยาแคมบริดจ์ ประเทศสหราชอาณาจักร ไม่ได้นำมาเปรียบเทียบกับกรอบมาตรฐาน CEFR เนื่องจากถูกแบ่งเป็นระดับตามกรอบมาตรฐาน CEFR อยู่แล้ว)

3. เลือกบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่เหมาะสมตามกรอบมาตรฐาน CEFR และนำมาจัดทำเป็นบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ Pre-A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 และระดับ A1 สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6


ระยะที่ 2 นำบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐานไปใช้

  1. ประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษานำไปใช้จัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ตามบริบทของแต่ละสถานศึกษา

   2. นิเทศ กำกับ ติดตาม การนำไปใช้ในภาพรวมเพื่อกระตุ้นให้ครูผู้สอนนำใช้จัดการเรียนการสอน


ระยะที่ 3 จัดกิจกรรมส่งเสริมการใช้บัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน

1. วางแผนการดำเนินงานกิจกรรมแข่งขันทักษะภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนที่เน้นการนำบัญชีคำศัพท์พื้นฐานมาใช้ในการแข่งขัน ได้แก่

       1.1 Crossword ระดับชั้น ป.4-6

       1.2 Crossword ระดับชั้น ม.1-3

       1.3 Spelling Bee ระดับชั้น ป.1-3

       1.4 Spelling Bee ระดับชั้น ป.4-6

       1.5 Spelling Bee ระดับชั้น ม.1-3

       1.6 Pictorial Writing ระดับชั้น ป.4-6

       1.7 Pictorial Writing ระดับชั้น ม.1-3

       1.8 English Quiz ระดับชั้น ป.4-6

       1.9 English Quiz ระดับชั้น ม.1-3

2. ประกาศแนวทางการจัดการแข่งขันเพื่อให้ครูผู้สอนได้เตรียมความพร้อมและกระตุ้นให้ครูผู้สอนนำบัญชีคำศัพท์พื้นฐานไปใช้จัดการเรียนการสอน

3. จัดการแข่งขันในระดับเขตพื้นที่การศึกษา

4. ประกาศผลการแข่งขันและยกย่องเชิดชูเกียรติผู้เข้าร่วมแข่งขันและครูผู้ฝึกสอน

 

3. ผลลัพธ์การพัฒนาที่คาดหวัง

3.1 เชิงปริมาณ

              สถานศึกษาร้อยละ 80 ขึ้นไป (171 โรงเรียนขึ้นไป) นำบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ Pre-A1 และ ระดับ A1 ไปใช้จัดการเรียนรู้แก่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6

3.2 เชิงคุณภาพ

               สถานศึกษานำบัญชีคำศัพท์ภาษาอังกฤษพื้นฐาน ระดับ Pre-A1 และ ระดับ A1 ไปใช้จัดการเรียนรู้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ส่งผลให้นักเรียนได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษตามกรอบมาตรฐาน CEFR และอย่างมีคุณภาพตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน



[1] Meekaeo, Pisit. (2022). ‘Is It Appropriate to Implement the Oxford 3000 in the Classroom Setting of Sixth Graders and Why?’, THAILAND TESOL 2022, 21 January 2022. Online: Khon Khan University.


ผลการดำเนินงาน

รายงานผล PA 2566-Pisit.pdf