กลุ่มสัตว์ที่มีเนื้อเยื่อจริง มีทั้งหมด 8 ไฟลัม คือ

1. ไฟลัมซีเลนเทอราตา ส่วนใหญ่จะอาศัย อยู่ในทะเล เช่น ปะการัง กัลปังหา ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน มีเพียงส่วนน้อยอยู่ในน้ำจืด เช่น ไฮดรา แมงกะพรุนน้ำจืด

ลักษณะที่สำคัญของสัตว์ไฟลัมนี้คือ มีสมมาตรแบบรัศมี (Radial symmetry) มีเนื้อเยื่อ 2 ชั้น คือเนื้อเยื่อชั้นนอก ทำหน้าที่เป็นผิวลำตัว ซึ่งเรียกว่า เอพิเดอร์มิส (Epidermis) และเนื้อเยื่อชั้นใน ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเยื่อบุทางเดินอาหาร เรียกว่า แกสโทรเดอร์มิส (Gastrodermis) ระหว่างเนื้อเยื่อชั้นนอกและเนื้อเยื่อชั้นในมีสารซึ่งมีลักษณะคล้ายวุ้นแทรกอยู่ เรียกว่าชั้นมีโซเกลีย (Mesoglea)

ทางเดินอาหารเป็นแบบถุงไม่สมบูรณ์ มีปากแต่ไม่มีทวารหนักและบริเวณลำตัวจะมีช่องทางเดินอาหารอยู่กลางลำตัว ทำหน้าที่

เป็นทั้งทางเดินอาหารและระบบหมุนเวียน เรียกว่า แกสโทรวาสคูลาร์ คาวิตี (Gastrovascular carvity) มีเข็มพิษหรือเนมาโทซีสต์ (Nematocyst) ซึ่งจะใช้ในการป้องกันและฆ่าเหยื่อ นีมาโทซีสต์มักจะอยู่กันหนาแน่นที่บริเวณหนวด (Tentacle) ซึ่งอยู่รอบปาก มากกว่าบริเวณอื่นๆ ทำให้การหาอาหารและการต่อสู้กับศัตรูมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น

ไม่มีระบบหายใจ ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายโดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไปอาศัยการแพร่ของก๊าซและของเสียต่างๆ

ระหว่างน้ำที่อยู่รอบๆ ตัวกับผิวลำตัวโดยตรงหรือมีเซลล์ชนิดพิเศษ เช่น เซลล์ที่ทำหน้าที่ในการย่อยอาหาร (nutritive cell) ช่วยทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารเพื่อส่งไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายต่อไป ระบบประสาทเป็นแบบข่ายใยประสาท (Nerve net) แผ่กระจายทั่วตัวและหนาแน่นบริเวณหนวด ดังนั้นการนำกระแสประสาทจึงเป็นไปในลักษณะทุกทิศทุกทาง ทำให้กระแสประสาทเคลื่อนที่ไปได้ช้าและมีทิศทางไม่แน่นอนซึ่งแตกต่างจากสัตว์ชั้นสูงอื่นๆ

สัตว์กลุ่มนี้มีรูปร่างเป็น 2 แบบ คือ รูปร่างแบบต้นไม้เรียกว่า โพลิป (Polyp) เช่น ไฮดรา ปะการังดอกไม้ทะเลและรูปร่างคล้ายร่มหรือกระดิ่งคว่ำ เรียกว่าเมดูซา (Medusa) ได้แก่ แมงกะพรุน

การสืบพันธุ์ มีทั้งแบบอาศัยเพศและแบบไม่อาศัยเพศ แบบอาศัยเพศโดยการสร้างเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกัน

ส่วนการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศโดยการแตกหน่อหรือการแบ่งตัว ซีเลนเทอเรตหลายชนิด อาทิเช่น แมงกะพรุน มีการสืบพันธุ์แบบสลับ (Alternative of generation) โดยมีการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ ด้วยการแบ่งตัวหรือแตกหน่อกับการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศด้วยการสร้างเซลล์สืบพันธุ์มาผสมกันสลับกัน

สัตว์กลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ

1. Hydrozoa ส่วนใหญ่มีรูปร่างเป็น Polyp บางช่วงเป็น Medusa อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (Colony) เช่น โอบีเลีย แมงกะพรุนน้ำจืด แมงกระพรุนลอยและไฮดรา

2. Scyphozoa ส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้จะมีรูปร่างเป็นแบบ Medusa ซึ่งมีรูปร่างคล้ายร่มว่ายน้ำได้อิสระ เช่น แมงกะพรุนไฟ แมงกะพรุนจาน

3. Anthozoa ในกลุ่มนี้จะมีรูปร่างเป็นแบบ Polyp เท่านั้น จะดำรงชีวิตอยู่รวมกัน มีการสร้างสารหินปูนเป็นเปลือกหุ้ม เช่น พวกปะการังหรือกัลปังหา

2. ไฟลัมแพลทิเฮลมินเทส หมายถึง หนอนที่มีลำตัวแบน ได้แก่พวกหนอนตัวแบน มีทั้งที่ดำรงชีวิตอย่างอิสระเรียกหนอนตัวแบน และพวกที่เป็นพยาธิในสัตว์อื่นเรียกพยาธิตัวแบน มีเนื้อเยื่อ 3 ชั้น มีทางเดินอาหารแบบไม่สมบูรณ์ ขับถ่ายของเสียโดยใช้ Flame cell ระบบประสาทมีปมประสาทคล้ายสมองและเส้นประสาทตามยาวออกจากสมอง หนอนตัวแบนบางชนิดดำรงชีวิตอิสระ (Free living) เช่น พลานาเรีย (Planaria) สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศโดยการผสมข้ามตัวและแบบไม่อาศัยเพศโดยการงอกใหม่ (Regeneration)

ส่วนหนอนตัวแบนที่ดำรงชีวิตแบบปรสิต (Parasite) เช่น พยาธิตัวตืด พยาธิใบไม้ กลุ่มนี้จะมีคิวทิเคิล (Cuticle) บริเวณ ผิวเพื่อใช้ป้องกันน้ำย่อยจากโฮสต์ สืบพันธุ์ได้ทั้งแบบอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ร่างกายมีสมมาตรแบบซ้ายขวา (Bilateral symmetry)

สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งออกเป็น 3 Class ได้แก่

1. Class Turbellaria เช่น พลานาเรีย ซึ่งดำรงชีพโดยหากินอย่างอิสระ

2. Class Trematoda เช่น พยาธิใบไม้ ซึ่งดำรงชีพโดยการเป็นปรสิต

3. Class Cestoda เช่น พยาธิตัวตืด ซึ่งดำรงชีพโดยเป็นปรสิต

โครงสร้างพลานาเรีย


เฟรมเซลล์ของหนอนตัวแบน



3. ไฟลัมนีมาโทดา เรียกกันทั่วไปว่าหนอนตัวกลม (Round worm) หรือเนมาโทด (Nematode) ลักษณะที่สำคัญมีสมมาตรแบบผ่าซีก (Bilateral symmetry) ลำตัวกลมยาว แหลมหัวแหลมท้าย ไม่มีปล้อง ผิวลำตัวเรียบ มีสารคิวทิเคิลหนาหุ้มตัว ไม่มีระบบหมุนเวียนเลือด แต่ใช้ของเหลวในช่องว่างเทียม ช่วยในการลำเลียงสาร ไม่มีอวัยวะหายใจโดยเฉพาะ พวกที่ดำรงชีวิตแบบปรสิตหายใจแบบไม่ใช้ออกซิเจน แต่พวกที่อยู่อย่างอิสระใช้ผิวหนังเป็นส่วนแลกเปลี่ยนก๊าซกับสิ่งแวดล้อม ระบบขับถ่ายประกอบด้วย เส้นข้างลำตัว (Lateral line) ซึ่งภายในบรรจุท่อขับถ่าย (Excretory canal) ไว้ ทางเดินอาหารสมบูรณ์ประกอบด้วยปากและทวารหนัก ระบบประสาทประกอบด้วยปมประสาทรูปวงแหวน (Nerve ring) อยู่รอบคอหอยและมีแขนงประสาทแยกออกทางด้านท้องและ ทางด้านหลัง มีระบบกล้ามเนื้อยาวตลอดลำตัว (Longitudinal muscle) เป็นสัตว์แยกเพศ ตัวเมียมักมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้เนื่องจาก ตัวเมียต้องทำหน้าที่ในการออกไข่

สามารถแบ่งตามประเภทการดำรงชีวิตได้ 3 ประเภท

1. พยาธิตัวกลมในลำไส้ เช่น พยาธิเส้นด้าย, พยาธิปากขอ, พยาธิไส้เดือนตัวกลม

2. พยาธิตัวกลมในเนื้อเยื่อ เช่น พยาธิโรคเท้าช้าง, พยาธิตัวจี๊ด

3. พยาธิตัวกลมที่เป็นอิสระ เช่น หนอนน้ำส้มสายชู, หนอนในน้ำเน่า, ไส้เดือนฝอ

พยาธิโรคเท้าช้าง

พยาธิตัวจี๊ด

สัตว์ในไฟลัมแอนนีลิดา (ไส้เดือนดิน)


4. ไฟลัมแอนนีลิดา หมายถึงหนอนปล้อง ร่างกายที่ประกอบด้วยปล้อง (segment หรือ somite) แต่ละปล้องคล้ายวงแหวนเรียงต่อกันจนตลอดลำตัวและแสดงการเป็นปล้องทั้งภายในและภายนอก เช่น ลักษณะกล้ามเนื้อ ระบบประสาท ระบบหมุนเวียนโลหิต อวัยวะขับถ่ายตลอดจนอวัยวะสืบพันธุ์ต่างก็จัดเป็นชุดซ้ำๆกันตลอดลำตัวและมีเยื่อกั้น (septum) กั้นระหว่างปล้อง ทำให้ช่องตัวถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆ ด้วย

สัตว์ในไฟลัมนี้แบ่งออกเป็น 4 Class ได้แก่

1. Class Oligochaeta เช่น ไส้เดือนดิน

2. Class Polychaeta เช่น แม่เพรียง ไส้เดือนทะเล

3. Class Hirudinea เช่น ปลิงน้ำจืด ปลิงดูดเลือด ปลิงควาย

ปลิงเข็ม

4. Class Archiannelida เช่น แอนนีลิดที่มีขนาดเล็กมาก เรียกว่า หนอนทะเล

5. ไฟลัมมอลลัสกา หมายถึงลำตัวนิ่ม จึงเรียกสัตว์ลำตัวนิ่ม ซึ่งมักจะมีเปลือก (shell) หุ้มอีกชั้นหนึ่ง เป็นสารพวกแคลเซียมคาร์บอเนต (calcium carbonate) หรือบางชนิดเปลือกก็ลดรูปไปเป็นโครงร่างที่อยู่ภายในร่างกาย สัตว์ในไฟลัมมอลลัสกา เรียกโดยทั่วไปว่ามอลลัสก์ (mollusk) ที่รู้จักกันดีได้แก่ หอยกาบคู่ หอยกาบเดี่ยว หอยงาช้าง หมึกต่าง ๆ มีแมนเทิล (mantle) ทำหน้าที่ในการสร้างเปลือกซึ่งเป็นสารจำพวกหินปูน (CaCO3) แต่บางชนิดอาจไม่มีเปลือก เช่น พวกทากทะเล ระบบทางเดินอาหารเป็นแบบสมบูรณ์มีปากและมีทวารหนักขดเป็นรูปตัว (U) ช่องปากมักมีแรดูลา (Radula) ซึ่งเป็นสารจำพวกไคติน (Chitin) ช่วยในการขูดและกินอาหาร (ยกเว้นพวกหอย 2 ฝา ไม่มีแรดูลา) นอกจากนี้ยังมีน้ำย่อยที่สร้างจากตับและต่อมน้ำลาย ช่วยในการย่อยอาหารอีกด้วย

การจัดจำแนก ไฟลัมมอลลัสกา แบ่งออกเป็น 6 คลาส

1. Class Monoplacophora ได้แก่ หอยฝาละมี (Neopilina sp.)

2. Class Polyplacophora or Amphineura ได้แก่ ลิ่นทะเล (chiton) หรือหอยแปดเกล็ด ทางด้านหลัง มีเกล็ดเรียงติดกัน 8 แผ่น มีเท้าแบนกว้างช่วยในการยึดเกาะกับก้อนหิน ไม่มีหนวด ไม่มีตา แต่มีเหงือกจำนวนมากอยู่ในช่องแมนเทิล ภายในปากมีแรดูลา (radula) ช่วยในการบดอาหาร

3. Class Gastropoda ได้แก่ พวกหอยกาบเดี่ยวหรือหอยฝาเดี่ยว (univalve) เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยสังข์ หอยทาก หอยเต้าปูน หอยนมสาว ส่วนที่ไม่มีเปลือกได้แก่ ทากเปลือย (nudibranch)

4. Class Pelecypoda ได้แก่ พวกหอยกาบคู่หรือหอย 2 ฝา (bivalve)

5. Class Scaphopoda ได้แก่ หอยวงช้าง (tooth shell) เปลือกมีลักษณะเรียวยาวโค้งคล้ายงวงช้าง

6. Class Cephalopoda ได้แก่ พวกหมึกและหอยงวงช้าง (nautilus) เป็นกลุ่มที่มีการเจริญดีมาก โดยส่วนหัวประกอบด้วยตา ที่มีประสิทธิภาพสูง มองเห็นได้ดี มีหนวดขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงมาจาส่วนเท้า ที่หนวดมีปุ่มดูด (sucker) ช่วยในการจับเหยื่อ นอกจากนี้ยังมีไซฟอน (siphon) ซึ่งเป็นทางน้ำออก ช่วยขับให้หมึกเคลื่อนที่แบบ jet









ไฟลัมอาร์โทรโพดา ได้แก่ กุ้ง กั้ง ปู แมลง เห็บ ไร ตะขาบ กิ้งกือ แมงมุม แมงดาทะเล ลักษณะสำคัญ คือ มีลำตัวเป็นปล้อง และมีรยางค์เป็นข้อๆต่อกัน (jointed appendage) ยื่นออกมาจากแต่ละปล้องของลำตัว มีจำนวนชนิดมากที่สุดในอาณาจักรสัตว์ สามารถอาศัยอยู่ได้ในแทบทุกสภาพภูมิประเทศบนโลก มีโครงสร้างของร่างกายที่แข็งแรง ระบบประสาทที่เจริญดี มีอวัยวะ ใช้รับความรู้สึกหลายชนิด มีการแบ่งสัดส่วนของร่างกายเป็นข้อปล้องชัดเจน 3 ส่วน คือ หัว (Head) ,อก (Thorax) และท้อง (Abdomen) ระบบหมุนเวียนเป็นระบบเปิด ประกอบไปด้วยหัวใจ เลือดและแอ่งเลือด (Hemocoel)

แบ่งออกเป็น 6 กลุ่มคือ

1. คลาสอินเซ็คตา (Insecta) พวกเเมลงต่างๆ มีชนิดเเละจำนวนมากที่สุด (75 % ของโลก) ลำตัว 3 ส่วน (ส่วนหัว ส่วนอก ส่วนท้อง) หนวด 1 คู่ ขา 3 คู่ ส่วนอกเเบ่งเป็น 3 ปล้อง มีปล้องละ 1 คู่ หายใจด้วยท่อลม (trachea)

2. คลาสครัสเตเซีย (Crustacea) ส่วนใหญ่อยู่ในน้ำ ได้เเก่ กุ้ง ปู ไรน้ำ เพรียงหิน จักจั่นทะเล ตัวกะปิ เหาไม้ลำตัว 2 ส่วน คือ เซฟาโลทอเเรกซ์ (หัวกับอก) เเละส่วนท้อง หนวด 2 คู่ มีรยางค์รอบปากจำนวนมาก ขาเดิน 5 คู่ (อยู่ที่ส่วนอก) ส่วนท้องมีรยางค์ 6 คู่ เป็นขาสำหรับว่ายน้ำ หายใจด้วยเหงือก

3. คลาสอะเเรชนิดา (Arachnida)ได้แก่ เเมงมุม เเมงป่อง เห็บ ไร ลำตัว 2 ส่วน คือ เซฟาโลทอเเรกซ์กับท้อง มีขาเดิน 4 คู่

ไม่มีหนวด ไม่มีขากรรไกร รยางค์มักเปลี่ยนไปทำหน้าที่พิเศษเช่น ต่อมพิษ เขี้ยวหรือเข็มพิษ หายใจด้วยเทรเคียหรือ book lung

4. คลาสเมอโรสมาตา (Merostoma) เเมงดาทะเลมี 4 ชนิดในโลก ประเทศไทยมี 2 ชนิดคือ เเมงดาจาน (หางเหลี่ยม ) เเมงดาถ้วยหรือเหรา (หางกลม) ลำตัว 2 ส่วนคือ เซฟาโลทอเเรกซ์กับท้อง ตาประกอบ 1 คู่ ขาเดิน 5 คู่ โดยคู่สุดท้ายเป็นเเผ่นเเบนใช้ขุดทราย ไม่มีขากรรไกร ไม่มีหนวด มีกระดองโค้งคลุมลำตัว ส่วนท้ายของลำตัวยื่นยาวคล้ายหาง

5. คลาสซิโลโฑดา (Chilpoda) ได้เเก่ ตะขาบ ตะเข็บ ตะขาบฝอย มีหัวกับลำตัวที่เเบ่งเป็นปล้องๆ 12-20 ปล้อง ขาเดินสั้นๆ ปล้องละ 2 คู่ ขากรรไกรเจริญดี หนวด 1 คู่ ดำรงชีพเเบบกินซากพืชซากสัตว์เน่าเปื่อย (scavenger)

6. คลาสไดโพลโพดา (Diploloda)ได้เเก่ พวกกิ้งกือ มีหัวกับตัวที่เเบ่งเป็นปล้องๆ 15-20 ปล้อง ขาเดินสั้นๆ ปล้องละ 2 คู่ ขากรรไกรเจริญดี หนวด 1 คู่ ดำรงชีพเเบบกินซากพืชสัตว์ที่เน่าเปื่อย (scavenger)







ไฟลัมเอไคโนเดอร์มาตา สัตว์ที่ผิวหนังมีหนามขุรขระ ได้แก่ ดาวทะเล เม่นทะเล เหรียญทะเล ปลิงทะเล ดาวเปราะ ลักษณะสำคัญคือ สมมาตรร่างกายตัวอ่อนเป็นเเบบครึ่งซีก พอเป็นตัวเต็มวัยจะมีเมเเทมอร์โฟซิสกลายเป็นสมมาตรเเบบรัศมี ลำตัวเเบ่งเป็น 5 ส่วนหรือทวีคูณของ 5 ยื่นออกมาจากเเผ่นกลมที่เป็นศูนย์กลาง มีโครงร่างเเข็งภายในมีเเผ่นหินปูนเล็กๆ ที่ยึดติดกันด้วยกล้ามเนื้อหรือผิวหนังที่ปกคลุมอยู่ มีเส้นประสาทเป็นวงเเหวนรอบปากเเละเเยกเเขนงไปตามเเขน การเคลื่อนไหวใช้ระบบ ท่อน้ำภายในร่างกาย การสืบพันธุ์แบ่งเป็นเเบบอาศัยเพศโดยมีการปฎิสนธิภายนอกและเเบบไม่อาศัยเพศ เช่น การขาดของเเขนใดเเขนหนึ่ง ส่วนที่ขาดก็จะเจริญไปเป็นตัวเต็มอีกทีหนึ่ง



ฟลัมคอร์ดาตา มีโนโตคอร์ด (Notochord) ซึ่งเป็นแกนค้ำจุนหรือพยุงกายเกิดขึ้นในระยะใดระยะหนึ่งของชีวิตหรือตลอดชีวิต ในพวกสัตว์ชั้นสูงมีกระดูกอ่อนหรือกระดูกแข็งแทนโนโตคอร์ด มีไขสันหลังเป็นหลอดยาวกลวงอยู่ทางด้านหลัง (Dorsal hollow nerve tube) เหนือทางเดินอาหาร ซึ่งแตกต่างจากสัตว์พวกไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งมีระบบประสาทอยู่ทางด้านท้อง (Ventral nerve cord) ใต้ทางเดินอาหารมีช่องเหงือก (Gill slit) ในระยะใดระยะหนึ่งของชีวิตหรือตลอดชีวิต

ในพวกสัตว์มีกระดูกสันหลังชั้นสูงเช่น สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมนั้น จะมีช่องเหงือกตอนเป็นตัวอ่อนเท่านั้น เมื่อโตขึ้นช่องเหงือกจะปิด ส่วนปลามีช่องเหงือกตลอดชีวิตแบ่งเป็นกลุ่มได้ ดังนี้

1. คลาสไซโครสโตรมาตา ได้แก่ ปลาปากกลม พวกนี้ไม่มีขากรรไกร ลำตัวยาวคล้ายปลาไหล ขอบบนของปากและลิ้นมีฟันเล็กๆ แหลมคมมากมาย ลำตัวนิ่ม ไม่มีเกล็ด ไม่มีครีบคู่เหมือนปลาทั่วไป เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่มีโนโตคอร์ดปรากฏอยู่ตลอดแม้ในระยะตัวเต็มวัย มีช่องเหงือก 7 คู่ ซึ่งใช้สำหรับหายใจ

2. คลาสคอนดริคไทอิส ได้แก่ ปลากระดูกอ่อนทั้งหลาย มีช่องเหงือกเห็นชัดเจนจากภายนอก มีครีบคู่หรือครีบเดี่ยว มีเกล็ดลักษณะคล้ายจานยื่นออกมา ไม่มีกระเพาะลม มีปากอยู่ด้านท้อง มีการปฏิสนธิภายใน เป็นสัตว์เลือดเย็น เช่น ปลากระเบน ปลาฉลาม ปลาโรนัน ปลากระต่าย ปลาฉนาก

3. คลาสออสติอิคไทอิส ได้แก่ ปลากระดูกแข็งทั้งหลาย ส่วนใหญ่ปฏิสนธิภายนอกร่างกาย เป็นสัตว์เลือดเย็น มีหัวใจ 2 ห้อง ได้แก่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาทู ปลาตะเพียน ม้าน้ำ ฯลฯ

4. คลาสแอมฟิเบีย ได้แก่ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ตัวอ่อนอยู่ในน้ำหายใจด้วยเหงือก ตัวเต็มวัยอยู่บนบก หายใจด้วยปอด มีหัวใจ

3 ห้อง ออกไข่ในน้ำ ผิวหนัง ไม่มีเกล็ด ผิวหนังเปียกชื้น มีต่อมเมือก ผสมพันธุ์ภายนอก มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างเพื่อการเจริญเติบโต เป็นสัตว์เลือดเย็น ได้แก่ คางคก เขียด อึ่งอ่าง ปาด กบ งูดิน ซาลาแมนเดอร์

5. คลาสเรปทิเลีย ได้แก่ สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ในคลาสนี้เป็นสัตว์บกหรือวางไข่บนบก มี 4 ขา ปลายนิ้วมีเล็บ ผิวหนังมีเกล็ดแห้ง หายใจด้วยปอด มีอายุยืน มีหัวใจ 4 ห้อง เป็นสัตว์เลือดเย็น มีวิวัฒนาการ คือ มีเปลือกแข็งหุ้มลำตัว ไข่มีเปลือกแข็งและเหนียว มีถุงแอลเลนทอยส์ ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซขณะเจริญเติบโตในไข่ เช่น เต่า จระเข้ ตุ๊กแก จิ้งเหลน จิ้งจก งู กิ้งก่า ฯลฯ

6. คลาสเอเวส ได้แก่ สัตว์ปีก เป็นสัตว์เลือดอุ่น ลำตัวมีขน (Feather) ปกคลุม ขามี 2 ข้าง นิ้วมีเล็บ ขาหน้าเปลี่ยนแปลงเป็นปีก กระดูกบางเป็นโพรง จึงมีน้ำหนักตัวเบา มีถุงลมแทรกไปตามช่องว่างของลำตัวและตามโพรง ซึ่งทำให้มีอากาศมากพอที่จะหมุนเวียนใช้หายใจเวลาบิน มีหัวใจ 4 ห้อง ไข่มีเปลือกแข็งหุ้ม มีปริมาณไข่แดงมาก ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ ไม่มีต่อมเหงื่อ ไม่มีต่อมน้ำนม ปฏิสนธิภายใน ตัวเมียมีรังไข่ข้างเดียว เส้นประสาทสมองมี 12 คู่ เช่น นกประเภทต่างๆ ทั้งที่บินได้และบินไม่ได้

7. คลาสแมมมาเลีย ได้แก่ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เราเรียกสัตว์พวกนี้ว่า แมมมอล (Mammal) เป็นสัตว์เลือดอุ่น มีขนเป็นเส้นๆ (Hair) คลุมตัว มี 4 ขา มีต่อมเหงื่อและต่อมน้ำนม มีกระดูกคอ 7 ข้อ มีฟันฝังในขากรรไกร มีกล่องเสียง มีกระบังลม หายใจด้วยปอด หัวใจมี 4 ห้อง เม็ดเลือดแดงไม่มีนิวเคลียส ลูกอ่อนเจริญภายในมดลูก สมองส่วนหน้าเจริญดี




ม้าน้ำ


ปลากระเบน


ปลาปากกลม


ปลาฉนาก