โรคไข้หวัดนก

Avian Influenza

ข้อมูลทั่วไป

โรคไข้หวัดนก (Avian Influenza)  เป็นเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A (Influenza A virus) พบในสัตว์ปีก (poutry) เชื้อประกอบด้วย Hemagglutinin (HA) และ Neuraminidase (NA) อยู่ที่บริเวณผิวด้านนอกของไวรัส ใช้ในการแยกสายพันธุ์ ปัจจุบันค้นพบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกกว่าร้อยสายพันธุ์ ซึ่งพบสายพันธุ์ย่อยมากกว่าที่พบในคน สายพันธุ์ที่พบรายงานการเกิดโรคในคนได้แก่ H5N1, H7N2, H7N3, H9N2, H10N7 และ H7N9 เป็นต้น อนึ่งสายพันธุ์ย่อย A(H5N1) และ A(H7N9) เป็นสายพันธุ์ที่พบว่าสามารถก่อให้เกิดโรครุนแรงในคนได้ (Highly Pathogenic Avian Influenza หรือ HPAI) 

แหล่งรังโรค โรคไข้หวัดนก มีนกน้ำ ในธรรมชาติเป็นรังโรค และทำให้เกิดโรคในสัตว์ปีกที่อยู่ตามธรรมชาติ เช่น นกน้ำป่า นกเป็ดน้ำ ห่าน นกตามป่าชายเลน พบว่าเชื้อสายพันธุ์ย่อย ชนิด A(H5N1)  เมื่อสัตว์ปีกเหล่านี้ติดเชื้อจะเกิดอาการค่อนข้างน้อยหรือไม่มีอาการ แต่สามารถแพร่โรคให้กับสัตว์ปีกอื่นๆที่เลี้ยงใกล้ชิดกับคนหรือเลี้ยงไว้เพื่อบริโภคได้ เช่น เป็ด ไก่ ไก่งวง เป็นต้น รวมไปถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ หมู ปลาวาฬ (whale) สิงโตทะเล (seal)  ม้า พังพอน (ferrets) แมว สุนัข และเสือ  อย่างไรก็ดี การติดเชื้อจากสัตว์มายังคน พบคนติดเชื้อจากสัตว์ปีก แต่ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม


ลักษณะและอาการของโรค

การติดต่อ เมื่อสัตว์มีอาการป่วย จะแพร่เชื้อไวรัสไข้หวัดนกผ่านออกมาทางน้ำมูก น้ำลาย และมูลสัตว์ เมื่อคนไปสัมผัสโดยตรงกับสัตว์ที่ป่วย อาจจะได้รับเชื้อดังกล่าวติดมากับมือและสามารถเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อบุของจมูกและตาได้ หรือเมื่อสัตว์มีการกระพือปีก คนก็สามารถติดโรคโดยการสูดหายใจนำละอองของไวรัสเข้าไปในปอดได้เช่นกัน และเนื่องจากคนไม่เคยมีภูมิคุ้มกันต่อโรคดังกล่าว ส่วนใหญ่จึงเกิดอาการรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตได้สูงการแพร่เชื้อไข้หวัดนกจากคนที่ติดเชื้อไปสู่คนปกติ มีโอกาสเกิดได้น้อย เนื่องจากมีรายงานพบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดนกที่อยู่ในคนมักจะไม่คงตัว และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อไปให้บุคคลอื่นได้น้อย

ระยะตั้งแต่ได้รับเชื้อจนกระทั่งมีอาการ (Incubation period) ส่วนใหญ่ไม่เกิน 7 วัน ในเชื้อไข้หวัดนก A(H5N1) อยู่ที่ประมาณ 2-5 วัน และอาจยาวนานได้ถึง 17 วัน ส่วนในเชื้อ A(H7N9) อยู่ที่ประมาณ 5 วัน โดยมีอาการได้ในช่วง 1-10 วัน ผู้ที่ติดเชื้อไข้หวัดนกมีตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการรุนแรง แต่ส่วนใหญ่จะเกิดอาการปอดบวมรุนแรงมากกว่า โดยมีอาการที่พบบ่อยในระยะเริ่มต้นของการป่วย ได้แก่ ไข้สูง (ส่วนใหญ่สูงกว่า 38 องสาเซลเซียส) ไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว และมีอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หายใจลำบาก และมักพบปอดบวมที่ไม่แสดงอาการ แต่พบได้จากเอ็กซเรย์ปอด โดยอาการเจ็บคอ และอาการไข้หวัด พบได้บางครั้ง อาการทางระบบทางเดินอาหาร

โรคแทรกซ้อน : โรคไข้หวัดนกสามารถก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง โดยอาการแทรกซ้อนที่มักพบในผู้ป่วยไข้หวัดนก ได้แก่ หายใจถี่และสั้น ปวดท้อง ภาวะช็อก (ความดันโลหิตลดต่ำลงมาก) ไม่รู้ตัว และอาการชัก นอกจากนี้ยังอาจพบอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ดังนี้ โรคปอดบวม (Pneumonia) โรคปอดแฟบ หรือมีลมรั่วออกจากปอด (Collapsed Lung, Pneumothorax) ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว (Respiratory Failure) ไตล้มเหลว (Kidney Dysfunction) ระบบการทำงานของหัวใจผิดปกติ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต

การรักษา : ผู้ป่วยที่สงสัยว่าติดเชื้อไข้หวัดนก ควรได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสไข้หวัดใหญ่โดยเร็วที่สุด โดยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งจะต้องใช้ห้องแยกโรค ใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกายอย่างเหมาะสม และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการของไข้หวัดนกค่อนข้างรุนแรง อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน ทั้งนี้ในช่วงรักษาตัว แพทย์จะแนะนำให้พักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำมาก ๆ และรับประทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพื่อลดอาการไข้และอาการปวด ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส ยาที่แพทย์มักใช้ในการรักษาโรคไข้หวัดนก ได้แก่ ยาโอเซทามิเวียร์ (Oseltamivir) และยาซานามิเวียร์ (Zanamivir) ยาทั้ง 2 ชนิดนี้จะถูกใช้เพื่อลดความรุนแรงของอาการ ป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต โดยยาเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพในการรักษาสูงหากผู้ป่วยได้รับยาภายใน 48 ชั่วโมงหลังจากอาการเริ่มแสดง แต่ในกรณีของไข้หวัดนก ยังไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่าจะเป็นเช่นเดียวกันหรือไม่ ดังนั้นควรได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด แม้จะเลยจาก 48 ชั่วโมงแรกหลังแสดงอาการก็ตาม