แห่นาคโหด บ้านโนนเสลา

สืบสานประเพณีพื้นบ้าน แห่นาคโหด โนนเสลา

ประเพณีแห่นาคโหดถือกำเนินขึ้นที่ บ้านโนนเสลา ตำบลหนองตูม อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ถือเป็นประเพณีโบราณและปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาหลายร้อยปีและหลายชั่วอายุคนเป็นประเพณีที่มีแห่งเดียวในโลก โดยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ บุตรหลานของคนในหมู่บ้านเมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะจัดการอุปสมบทหมู่ โดยถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ของเดือนหก ของทุกปีให้บุตรหลานบวชเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา ด้วยความประสงค์ของผู้บวชเอง การจัดเตรียมตัวเพื่อบวชนั้นจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือนสี่ บิดาต้องพาบุตรชายไปฝากไว้ที่วัดกับเจ้าอาวาสวัด 2 แห่ง ได้แก่ วันบุญถนอมพัฒนาราม( วัดนอก ) และวัดตาแขก ( วัดใน) เพื่อถือขันธ์ 5 อันประกอบด้วย เทียน 5 คู่ ดอกไม้ 5 คู่ เพื่อเป็นนาคและปฏิบัติธรรมถือศีล 8 เรียนรู้ท่องบทสวดและเรียนรู้พระธรรมวินัยเบื้องต้น

ในวันที่นาคบวช เป็นวันบุญเดือนหกของบ้านโนนเสลา เรียกว่า “แห่นาคโหด” ประชาชนในหมู่บ้าน จะร่วมตัวกันเพื่อแห่นาคเข้าวัด เริ่มจากพิธีโกนผมนาคในช่วงเช้า ต่อด้วยการขอขมาบิดามารดาตลอดจนญาติผู้ใหญ่ ก่อนเข้าพิธีทำขวัญนาค ซึ่งทั้งหมดจะต้องพากันเดินออกจากวัดเพื่อไปกราบศาลปู่ตา ซึ่งเป็นศาลศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อประจำหมู่บ้าน มีตำนานเล่าขานกันมาช้านาน จะใช้คนหนุ่มที่ยังไม่ได้บวชของแต่ละหมู่บ้านที่มีรุ่นพี่บวช มาช่วยกันหามแคร่ไม้ไผ่ แห่นาคไปรอบหมู่บ้าน และเขย่า โยนนาค อย่างรุนแรง เพื่อความสนุกสนาน และถือเป็นการทดสอบความตั้งใจว่าผู้บวชจะมีความมุ่งมั่นอดทนจริงจังที่จะบวชแทนคุณบิดามารดา หรือไม่ ที่จะต้องประคองตัวเองคือผู้ที่จะบวชไม่ให้ตกลงมาจากแคร่ไม้ไผ่หามให้ได้ เพราะถ้าใครตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช ในตลอดระยะเส้นทางแห่รอบหมู่บ้านก่อนเข้าวัดทำพิธีบวช ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร

ปี 2514 มีการฟื้นฟูการแห่นาคโหดอย่างจริงจังภายในหมู่บ้านโนนเสลา มาจนวันนี้ ยังไม่มีผู้ใดที่ตกลงมาถูกดินและสามารถเข้าพิธีบวชได้ทุกราย แม้จะมีการได้รับบาดเจ็บถึงขั้นศีรษะแตกและแขนหลุดบ้าง หลวงพ่อจำปี สุจินโน เจ้าอาวาสวัดตาแขก กล่าวว่า ประเพณีแห่นาคโหด ชาวบ้านโนนเสลาถือเป็นงานประจำปีปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน และผู้บวชเองก็ถือว่าไม่โหดก็ไม่บวช ซึ่งถือปฏิบัติกันมาเช่นนี้ทุกปี คนหามโหด เมื่อถึงปีที่ตนเองต้องบวชของตนเองรุ่นน้องก็โหดต่อกันไปจากรุ่นสู่รุ่นเพิ่มความรุแรงในการโยก โยนแคร่ไม้ไผ่ ตามประสาคนหนุ่มในหมู่บ้าน อาจจะมีการมองว่ามีความรุนแรง แต่ชาวบ้านคนหนุ่ม กลับมองว่าเพื่อการแสดงถึงความกตัญญูกตเวที ต่อบิดามารดา การได้รู้จักการอดกลั้นความตั้งใจของผู้บวชเองมากกว่าถือว่าเป็นการสะท้อนถึงความอดทน กลั้นของผู้ที่จะเข้าบวชแทนคุณบิดามารดาที่ให้กำเนิดมา

ชาวบ้านอยากให้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังสืบทอดต่อไป การส่งเสริมอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามแห่นาคโหด ซึ่งถือว่าเป็นประเพณีเก่าแก่แต่โบราณของคนโนนเสลา และถือว่าจะเป็นจุดส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดชัยภูมิ ที่มีแห่งเดียวในโลกก็ว่าได้ ซึ่งเรามีหน้าที่บำรุงพระพุทธศาสนา และการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ทั้งหมดช่วยกันเตรียมงานมาต่อเนื่องนับเดือนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ลูกหลานคนในชุมชนได้ปฏิบัติตนในสิ่งงามก่อนเข้าวัด และการแห่นาคโหดที่ชาวบ้านจะพากันเขย่าหามนาคอย่างแรงนั้น เพื่อที่จะทำให้นาคนึกถึงความอดทน เข้มแข็ง และจะสามารถบวชสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยผ่านอุปศักดิ์ไปด้วยดี