ผ้าขิด บ้านโนนเสลา

ผ้าขิด บ้านโนนเสลา

กลุ่มทอผ้าบ้านโนนเสลาได้จัดตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2521 ได้คิดค้นหลายผ้าขิดใหม่ ซึ่งเป็นลายที่มีเฉพาะในพื้นที่ เป็นการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ของบ้านโนนเสลา คือ ลายนาคโหด ซึ่งมาจากประเพณีการอุปสมบทหมู่ที่แปลกและโหดที่สุดในโลก โดยจะใช้คนหนุ่มหามแคร่ไม้ไผ่แห่นาคไปรอบหมู่บ้านระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร พร้อมทั้งเขย่า-โยนนาคอย่างรุนแรงเพื่อความสนุกสนานโดยนาคต้องห้ามตกลงมาจากแคร่ไม้ไผ่ หากตกลงมาถูกพื้นดินจะถือว่าขาดคุณสมบัติไม่ให้บวช ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้นำประเพณีแห่นาคโหดอันเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของชาวชัยภูมิมาร้อยเรียงบนผ้าฝ้ายเกิดเป็นลายแห่นาคโหดแห่งเดียวประจำจังหวัด

ผ้าขิด เป็นการทอผ้ารูปแบบหนึ่งที่สร้างลวดลายผ้า โดยวิธีการ “ขิด” มีคำเดิมว่า “สะกิด” เป็นการ งัด หรือซ้อนเส้นด้ายขึ้นทำให้เกิดลวดลายผ้าเหมือนกับวิธีการจก แต่การขิดจะทำทั่วผืนผ้า เส้นด้ายยืนจะถูกสะกิดขึ้นโดยใช้ไม้แผ่นบาง ๆ เรียกว่า "ไม้ค้ำ" และสอดเส้นด้ายพิเศษเข้าไปตลอดหน้ากว้างของผืนผ้าเพื่อสร้างลวดลายที่ต้องการ ลายขิดสามารถทำจากเครื่องมือที่เรียกว่า "เขา" โดยช้อนเส้นด้ายยืนขึ้นเพื่อสอดเส้นด้าย เส้นด้ายพุ่งและเส้นด้ายยืนจะขัดกันตามจังหวะที่ต้องการจนเกิดเป็นลวดลายต่าง ๆ ที่เห็นจากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของผืนผ้า ความหลากลายของลายทอทั้งประเภท จำนวน และขนาดของลายที่ประกอบไปด้วยลายเรขาคณิต ลายประดิษฐ์ ลายที่เกี่ยวกับศาสนา ลายจากดอกไม้ใบไม้ตามธรรมชาติิ ลายรูปสัตว์ต่าง ๆ ลายเครื่องมือเครื่องใช้ ซึ่งลายเหล่านี้สะท้อนถึงภูมิปัญญาและขนบธรรมเนียมของท้องถิ่น

หมู่บ้านโนนเสลาแห่งนี้เป็นหมูบ้านทอผ้าขิดที่ถือว่าเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชัยภูมิและเป็นแนวหน้าในการผลิตระดับประเทศเลยทีเดียว หมู่บ้านโนนเสลาแห่งนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลหนองตูม โดยชาวบ้านโนนเสลาได้สืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาการทอผ้าขิดมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย โดยจะทอผ้าใช้เองแทบทุกครัวเรือน หมู่บ้านโนนเสลาแห่งนี้ได้มีการตั้งกลุ่มแม่บ้านขึ้น และได้พัฒนาลวดลาย สีสัน ผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องและตอบสนองกับความต้องการของตลาด โดยได้มีการทอผ้าหลากหลายรูปแบบไว้สำหรับจำหน่าย อันได้แก่ ผ้าฝ้ายมัดหมี่ ผ้าขิดไหม ผ้าคลุมไหล่ ผ้าปูโต๊ะ นอกจากนี้แล้วยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องใช้เพิ่มเติมที่ต่อยอดมาจากการทอผ้าขิดอีกด้วย อาทิเช่น กระเป๋าผ้า หมอนขิด เสื้อทั้งของสุภาพสตรีและสุภาพบุรุษ กล่องใส่กระดาษชำระ สายคล้องหน้ากากอนามัยซึ่งกำลังเป็นที่นิยม เป็นต้น ซึ่งคุณภาพของการทอผ้าขิดนั้นคุ้มเกินราคาที่แลกกันหลายเท่าเลยทีเดียว หมู่บ้านแห่งนี้ยังคงการใช้วิถีชีวิตแบบมีเอกลักษณ์ที่ปัจจุบันนับว่าหาดูได้ยากเลยทีเดียวรวมไปถึงเครื่องมือที่ใช้ในการทอผ้านั้นคือ "กี่" ที่ทำมาจากไม้โบราณที่สืบทอดมาจากปู่ย่าตายาย

ชุนชนผ้าขิดบ้านโนนเสลา เป็นแหล่งทอผ้าขิดที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดชัยภูมิ เป็นสินค้า OTOP ของคนในชุมชนที่รวมตัวกันมาจัดตั้งกลุ่มทอผ้า โดยชาวบ้านโนนเสลาได้สืบทอดการทอผ้าขิดมาตั้งแต่บรรพบุรุษซึ่งทอผ้าใช้เองแทบทุกครัวเรือน และการเดินทางไปยังบ้านโนนเสลา เมื่อเดินทางถึงอำเภอภูเขียวอยู่ห่างจากตัวอำเภอภูเขียวประมาณ 7 กิโลเมตร ไปทางอำเภอเกษตรสมบูรณ์ ให้หมู่บ้านโนนเสลา มีร้านค้าที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดหลายร้านและหลากหลายรูปแบบให้เลือกชม เลือกซื้อ เป็นการอุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนและให้กำลังในการพัฒนารูปแบบใหม่ๆต่อไป