หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านท่ากูบ

หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านท่ากูบ เดิมบ้านท่ากูบเป็นพื้นที่ป่าสงวน ของอำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ โดยจัดตั้งเป็นหมู่บ้านเมื่อปี พ.ศ.2485 ชื่อบ้านท่ากูบ หมู่ที่ 8 ตำบลหนองโดน อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ และต่อมา เมื่อปี พ.ศ. 2504 ได้ขอแยกตำบล จากการปกครองของตำบลหนองโดน มาเป็นตำบล ท่ากูบ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ในปี พ.ศ. 2510 ตำบลซับใหญ่ได้ขอแยกตำบล ออกจากตำบลท่ากูบ เป็นตำบลซับใหญ่ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2540 ได้รับการจัดตั้งให้เป็นกิ่งอำเภอซับใหญ่ ซึ่งแยกออกมาจาก อำเภอจัตุรัส ประกอบด้วย ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลซับใหญ่ ตำบลท่ากูบ ตำบลตะโกทอง ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2540

สาเหตุที่เรียกว่าบ้านท่ากูบ จากคำบอกเล่าของบรพพบุรุษโบราณเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมบริเวณบ้านท่ากูบเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่ามากมาย มีลำธารลำห้วยอยู่หลายสาย โดยเฉพาะลำห้วยส้มป่อย ซึ่งเป็นเสมือนลำน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนท่ากูบ และเป็นเส้นทางการเดินทางของคารวานช้าง โดยควาญช้างจะแวะพักหุงหาอาหารเพื่อให้ช้างได้เล่นน้ำก่อนเดินทางต่อ โดยจะมีการนำกูบที่บรรทุกอยู่บนหลังช้างถอดลงวางไว้ก่อนที่จะให้ช้างเล่นน้ำและออกหากิน โดยในครั้งหนึ่งมีควาญช้างทิ้งกูบไว้ที่บริเวณจุดพักและไม่ได้นำติดตัวช้างไปด้วยเนื่องจากกูบชำรุด ต่อมามีคนสัญจรไปมาพบจึงเรียกท่าน้ำแห่งนี้ว่าท่ากูบจนถึงทุกวันนี้

ที่ตั้งบ้านท่ากูบ หมู่ที่ 1 ตำบลท่ากูบ อำเภอซับใหญ่ จังหวัดชัยภูมิ ระยะทางห่างจาก

ที่ว่าการอำเภอซับใหญ่ประมาณ 10.5 กิโลเมตร ระยะทางห่างจากศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ ประมาณ 46 กิโลเมตร



หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านท่ากูบ เป็นหมู่บ้านที่มีความอุดมสมบูรณ์ สภาพหมู่บ้านเป็นที่ราบลุ่ม มีลำห้วยไหลผ่านคือลำห้วยส้มป่อย ซึ่งเปรียบเป็นเสมือนหัวใจของคนในชุมชน มีถนนสายหลักที่ผ่านหมู่บ้านเป็นถนนลาดยางจากถนน ซับใหญ่-หนองบัวระเหว แยกบริเวณบ้านซับสายออ ผ่านบ้านกูบ – อำเภอจัตุรัส ซึ่งบริเวณหมู่บ้านเต็มไปด้วยต้นทองอุไรและต้นลีลาวดีสองฝั่งถนนทางเข้าหมู่บ้าน


หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงบ้านท่ากูบ มีการส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนปลูกต้นทองอุไร ต้นลีลาวดี และนำหินทรายแดงมาประดับตกแต่งตามแนวถนนหมู่บ้านซึ่งหินทรายแดงเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านท่ากูบ และมีแหล่งน้ำไหลผ่านหมู่บ้านมีท้องทุ่งนาเขียวขจีไปด้วยต้นขาว มีสวนผัก ผลไม้ เช่น ฟักทอง แฟง มะเขือ แตงกวา ข้าวโพด แตงโม กล้วย มะพร้าว ฯลฯ มีกลุ่มองค์กร กลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และแหล่งเรียนรู้ตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือเรียกกันว่า “ศูนย์เรียนรู้ชุมชน” บ้านเรือนสะอาดถูกสุขลักษณะ มีการปลูกผักสวนครัวหน้าบ้านครบทุกครัวเรือน โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “บ้านนี้มีรัก ปลูกผักกินเอง” เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ในครัวเรือน