นครกาหลงดินแดนแห่งอารยธรรม

ประวัติบ้านคอนสวรรค์ ( เมืองนครกาหลง )

บ้านคอนสวรรค์นั้นมีการบันทึกเขียนพิมพ์ลงในหนังสือที่ระลึกงานผูกพันธสีมาฝังลูกนิมิตพระอุโบสถวัดคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ วันที่ 13 – 15 เมษายน 2533 เป็นฉบับที่ชาวบ้านใช้เป็นแบบในการกล่าวเล่าขานให้ลูกหลานบ้านคอนสวรรค์ได้เรียนรู้และเข้าใจในความเป็นมาของการตั้งบ้านนามเมืองหรือชื่อของหมู่บ้าน แต่ก็มีข้อที่น่าสังเกตที่ผิดพลาดบกพร่องอยู่หลายจุดหลายประเด็นในการเขียนการพิมพ์ของหนังสือเล่มดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงได้นำความรู้ที่ได้จากการสอบถามสัมภาษณ์ผู้รู้ในหมู่บ้านประกอบกับเอกสารทางวิชาการบางส่วนที่มีผู้เขียนบันทึกไว้มาเรียบเรียงและเพิ่มเติมข้อมูลและข้อสังเกตให้มีความชัดเจนมากขึ้น เพื่อใช้ในการอ้างอิงต่อไปในภายภาคหน้า ดังต่อไปนี้

บ้านคอนสวรรค์ ตั้งเป็นหมู่บ้านมาช้านานแต่ไม่ปรากฏหลักฐานระบุแน่ชัดลงไปว่าเป็นหมู่บ้านมาตั้งแต่เมื่อใด เนื่องจากไม่มีการเขียนหรือบันทึก เพียงแต่เป็นการสันนิษฐานเอาจากหลักฐานโบราณวัตถุและศิลปวัตถุที่ปรากฏอยู่ในสมัยที่เริ่มจะมีการเขียนบันทึกและจากคำบอกเล่าของอดีตบรรพชนที่อยู่ในท้องถิ่นที่ตั้งบ้านเล่าสืบต่อกันมาเป็นมุขปาฐะบ้าง เป็นกลอนลำบ้าง ผ่านไปได้หลานชั่วอายุคน ซึ่งก็คงจะผิดเพี้ยนไปจากเดิมและลางเลือนไปค่อนข้างมาก
หากจะสันนิษฐานตามหลักฐานแล้ว ไม่ว่าจะดูจากคูเมืองโบราณหรือเนินดินที่เป็นสถานที่ตั้งเมืองเก่า ที่ชาวบ้านเรียกว่า โนนกู่ พอที่จะคาดเดาได้ว่าชุมชนที่เคยอาศัยตั้งหลักแหล่งบ้านเรือนอยู่ ณ ที่แห่งนี้มีอดีตที่รุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยเมื่อ 1,200-1,500 ปี มาแล้ว จากศิลปวัตถุที่ยังหลงเหลือและพบเห็นได้ในปัจจุบันยืนยันเป็นหลักฐานก็คือ เสมาหินทรายบางใบที่มีอักษรจารึกปรากฏอยู่ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาตะวันออกยืนยันว่าเป็นอักษรมอญโบราณที่ใช้กันในดินแดนถิ่นนี้ เป็นอักษรยุคหลังอักษรปัลลวะที่รับรูปแบบมาจากอินเดีย ชนในพื้นถิ่นเดิมที่เรียกกันว่าเป็นชนพื้นเมืองในสมัยทวารวดีนั้นได้สร้างศิลปวัตถุคือ เสมาหินซึ่งก็คงจะนำหินที่มีอยู่ในพื้นถิ่นหรือบริเวณใกล้เคียงมาแกะสลักเรื่องราวให้ปรากฏเป็นลวดลายหรือสัญลักษณ์ภาพเพื่ออุทิศถวายให้กับศาสนสถานหรือประกาศความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในแถบถิ่นนี้ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 14-16 แทนชาวบ้านพื้นเมืองเดิมและได้ทำลายสิ่งก่อสร้างที่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งอาจจะเป็นสถานที่ๆเรียกกันว่า วัด ในสมัยนี้ (บริเวณที่เรียกกันว่าโนนกู่ในปัจจุบัน) และสร้างสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์เพื่อประกาศถึงความยิ่งใหญ่และอิทธิพลครอบครองดินแดนแห่งนี้ขึ้นมาแทน เช่น ปรางค์กู่ที่ชัยภูมินั่นก็คือ สงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ทางศาสนา ชนพื้นเมืองเดิมที่เคยอาศัยอยู่ก็คงจะหลบลี้หนีภัยไปอาศัยถิ่นอื่น ทำให้ชุมชนล่มสลายลงไปกลายเป็นป่ารกร้างว่างเปล่าขึ้นมาบดบังซากบ้านเมืองหรือคูคลองแต่เดิม นั่นก็คือสาเหตุหนึ่งซึ่งสันนิษฐานกันว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ที่ชาวบ้านชาวเมืองอพยพหนีเหตุเภทภัยจากการรุกรานทางอารยะธรรมของขอม ต่อมาในภายหลังจึงมีผู้คนที่อพยพหาที่ในการทำมาหากินตั้งหลักแหล่งอาศัยอยู่และเนื่องจากสภาพทางภูมิประเทศรวมทั้งที่ตั้งทำเลเหมาะสม ดินและน้ำมีความอุดมสมบูรณ์ เอื้อประโยชน์ต่อการประกอบอาชีพในทางเกษตรกรรม ด้วยทรัพยากรป่าไม้มาก ฝนตกต้องดีตามฤดูกาล ผลผลิตจากแรงกายที่ทำตอบแทนให้ผลคุ้มค่าจึงมีผู้คนชักชวนกันอพยพมาอยู่กันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเมื่อบ้านเรือนขยายออกไปเพื่อทำอยู่ทำกินพื้นที่ทำนาปลูกข้าวจึงได้พบซากโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นศิลปะในยุคเก่าก่อนถูกทิ้งร้างทับถม ซุกซ่อนอยู่ ต่อมาภายหลังการพบโบราณวัตถุจึงได้มีนักวิจัยมาศึกษาวิเคราะห์ตามหลักฐานที่ปรากฏบ่งชี้ในทางโบราณคดีทางประวัติศาสตร์และยุคสมัยทางศิลปะสรุปไปในแนวทางเดียวกันว่า สถานที่แห่งนี้เคยเป็นบ้านเมืองหรือชุมชนมาตั้งแต่ยุคสมัยประวัติศาสตร์ แต่ไม่ได้สืบทอดหรือมีคนอยู่อาศัยเจริญเรื่อยมาเป็นลำดับ ตรงกับยุคสมัยที่เรียกกันว่าทวารวดี และบ้านเมืองมีการเสื่อมหรือล่มสลายด้วยสาเหตุใดมาปรากฏแจ้งชัด เพียงแต่เป็นการคาดเดาหรือสันนิษฐานกันไว้เท่านั้น

ประชาชนชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ ณ ที่เป็นบ้านคอนสวรรค์ในปัจจุบันสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นกลุ่มชนเชื้อสายไทย-ลาวทางเวียงจันทร์หรือจำปาศักดิ์ที่เคยมีประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในกรณีเจ้าอนุวงศ์ เมื่อสมัยต้นรัตนโกสินทร์มานี้เองจากการสังเกตลักษณะโครงสร้างทางกายภาพ เช่นลำตัว สีผิว โครงรูปใบหน้า กับสำเนียงภาษาแล้ว หากจะนับย้อนถอยหลังการก่อตั้งหมู่บานน่าจะพออนุมานได้ว่า คงจะอยู่ร่วมสมัยเดียวกันกับการตั้งเมืองชัยภูมิ โดยนายแลหรือพระยาแลเมื่อปี พ.ศ.2360 โดยผู้คนอพยพมาอยู่ก็คงจะเดินทางมาจากจังหวัดนครราชสีมาเพราะเนื่องด้วยพระยาแลมาตั้งเมืองอยู่แถวถิ่นบริเวณนั้นก่อนที่จะขยับขยายหาที่ทำกินที่อุดมสมบูรณ์ไปสู่แหล่งอื่นถ้าหากเทียบแล้วบ้านคอนสวรรค์ก็จะเป็นเมืองขึ้นมาในรัชสมัยชองพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (หรือประมาณ 191 ปี ล่วงมาแล้วนับถึงปีพ.ศ.2551) ประชาชนที่อพยพมาอยู่ใหม่ในที่ๆเป็นบ้านคอนสวรรค์ปัจจุบันก็ได้อยู่ทำกินและขยายเผาพงศ์สืบต่อตระกูลกันต่อมา เรื่อยๆจนขยายเป็นชุมชนใหญ่ดังปรากฏอยู่ในปัจจุบัน

สำหรับชื่อบ้านเมืองแต่เดิมผู้คนในสมัยอดีตกาลนานมาแล้วเรียกกันว่าเมืองกาหลงนั้นสันนิษฐานว่าเนื่องมาจากสถานที่ตั้งเดิมเคยเป็นเมืองเก่าที่รุ่งเรืองมาแต่ในอดีตซึ่งปรากฏหลักฐานจากศิลปะและโบราณวัตถุ

กับคูเมืองมาผนวกเข้ากับสภาพทางภูมิศาสตร์ที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ เป็นที่นกกาหาอาหารกินอย่างเพลิดเพลินเนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพย์ในดินสินในน้ำจนลืมกลับถิ่นที่เคยอยู่อาศัยหรือบินกลับ

คอน กลับรัง หลงใหลอยู่หากินในแหล่งนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่ในอดีตเมื่อหลายร้อยปีมาแล้วเลยตั้งชื่อเรียกว่า

“เมืองกาหลง” และสำหรับข้อสันนิษฐานอีกประการของชื่อเมืองนครกาหลงนั้น น่าจะมาจากที่สมัยก่อนที่ๆปรากฏเป็นบริเวณของเมืองโบราณถิ่นนี้ มีต้นไม้ชนิดหนึ่งที่เรียกกันว่า ต้นกาหลง ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากเป็นป่าเป็นดง ต้นกาหลงนั้นเป็นชื่อพรรณไม้ยืนต้นขนาดย่อม (Bauhinia Acumiata) ใบมนปลายเว้ากลาง ดอกขาวใหญ่หอมจางๆ ออกเป็นช่อแบนๆนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ (ราชบัณฑิตยสถาน. 2539 : 84-85) ลักษณะใบจะคล้ายกับต้นชงโค แต่ว่ามีขนาดย่อมกว่า ดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ ชาวบ้านในอดีตเลยเอาทั้งสองอย่างมาผนวกกันคือเมืองเก่ากับต้นกาหลงรวมเรียกกันว่า “เมืองกาหลง” ก็น่าจะเป็นไปได้

สำหรับชื่อบ้าน ครสวรรค์หรือคอนสวรรค์นั้นมาตั้งใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ในสมัยที่หลวงภิบาลมาเป็นผู้ปกครองดูแล (ก่อน พ.ศ.2493 หรือเมื่อห้าสิบกว่าปีมานี้เอง) ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ และตรงกับเรื่องที่นายพร้อม บำรุงเชื้อ ได้เขียนและพิมพ์ไว้ในหนังสือฉลองพระอุโบสถวัดคอนสวรรค์นั้น จึงขอแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เล็กน้อยสำหรับชื่อบ้าน “ครสวรรค์” ที่คนรุ่นเก่าก่อนเขียนและใช้เป็นนามของบ้าน คำว่า “คร” ในความหมายน่าที่จะอนุมานมาจากคำว่า “นคร”ที่มีความหมายว่า เมืองหรือนาคร ที่แปลว่าชาวเมืองหรือชาวกรุง ซึ่งก็คงหมายถึงว่าสุขกายสบายใจ แปลให้ได้ใจความก็คือ เป็นบ้านเมืองหรือนครอันรื่นรมย์ใจไปด้วยความสงบสุขเปรียบได้ดังอยู่ในเมืองฟ้าเมืองสวรรค์ของเทวดา ไม่ว่าคนหรือสัตว์ที่ได้เข้ามาอยู่อาศัยต่างก็หลงใหลอันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก มีความอุดมสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ดินดีปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารได้ผลงอกงามน่าจะเป็นดังนี้ แต่ต่อมาในภายหลังได้เขียนคำว่า “คอน” แทน ซึ่งคำนี้ความหมายตามพจนานุกรมบอกว่า ไม้ที่ทำไว้ให้นกจับหรือเกาะ เป็นที่จับของนก พอนำมาแปลรวมกับคำว่าสวรรค์ เลยกลายเป็นสวรรค์ของนกกาที่มีแหล่งอาหารหากินอย่างอุดมสมบูรณ์จนหลงลืมกลับคอนกลับถิ่นที่อยู่หรือกลับรังเดิม แทนที่จะกลายเป็นสวรรค์ของคนที่มาอยู่อาศัยทำมาหากินในถิ่นนี้และอีกส่วนหนึ่งที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชื่อบ้านคอนสวรรค์น่าจะมาจากลำคอนสวรรค์ที่เป็นวัฒนธรรมของคนทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เป็นบ้านเรือนในปัจจุบันหรือแม้กระทั่งวัฒนธรรมการนำข้าวปลาอาหารใสกะต๊าใบเดียวของผู้สูงอายุในชุมชน แล้วหาบคอนไปทำบุญถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์ที่วัด เพื่อให้ได้รับผลบุญอันเป็นหนทางที่จะไม่ตกไปสู่อบายภูมิเพื่อหวังที่จะได้ไปอยู่เมืองฟ้าเมืองสวรรค์ยามเมื่อละสังขารจากโลกนี้ไปแล้ว ปัจจุบันนี้ก็อยากที่จะฝากไว้ให้ช่วยกันคิดและพิจารณาด้วยว่า ความหมายของชื่อบ้านนามเมืองสิ่งใดน่าจะเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผลมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าและสำหรับประวัติการตั้งชื่อหรือเปลี่ยนชื่อบ้านก็มิได้มีหลักฐานบันทึกบ่งชี้แน่ชัดว่าใครเป็นผู้ตั้งชื่อและเปลี่ยนไปตั้งแต่เมื่อใดสมัยใด

ดังนั้นพอที่จะเป็นแนวทางให้ชาวบ้านและอนุชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ และทำความเข้าใจได้อย่างถูกต้องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการตั้งหมู่บ้าน จะได้ไม่สับสนกับชื่อเมืองกาหลงหรือเมืองคอนสวรรค์ที่เล่าว่าสร้างโดยพระยาขอม ก็เป็นนามที่ตั้งขึ้นใหม่เมื่อไม่นานมานี้เองไม่ได้เป็นบ้านเมืองสืบทอดเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยทวารวดีหรือสมัยขอมแต่อย่างใด เพียงแต่พบศิลปะโบราณวัตถุที่เก่าแก่ในสมัยที่พิสูจน์กันว่าเป็นศิลปะสกุลช่างในสมัยทวารวดี ต่อกับยุคขอมเมืองพระนครเมื่อประมาณปี พ.ศ.1400-1500 ดังปรากฏหลักฐานจากประติมากรรมเสมาหินทรายที่ปรากฏภาพแกะสลักเรื่องราวชาดกในบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งนำมาจากโนนกู่รวบรวมนำเข้ามาเก็บรักษาไว้ในที่บริเวณวัดคอนสวรรค์

ปัจจุบันบ้านคอนสวรรค์เป็นหมู่บ้านใหญ่ ชื่อของหมู่บ้านนั้นได้ใช้เป็นชื่อของตำบลและอำเภอไปพร้อมๆกันด้วย เมื่อมีประชากรมากขึ้นๆจึงได้แยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่ เมื่อปี พ.ศ.2498 และแยกออกมาเป็น 3 หมู่ เมื่อปี พ.ศ.2538 เป็น หมู่8 หมู่9 หมู่11 แยกเป็นหมู่15 ในปี พ.ศ.2550 รวมเป็น 4 หมู่เพื่อความสะดวกในการปกครองดูแล

บ้านคอนสวรรค์ แยกเป็นบ้านได้ 4 หมู่บ้าน ดังนี้ หมู่ที่ 8 ,9,11 และ ม.15 บ้านคอนสวรรค์มีลักษณะเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนเนินดินสูงล้อมรอบไปด้วยทุ่งนา จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า บริเวณซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านในปัจจุบันนี้เคยเป็นเมืองขนาดใหญ่ มีรูปร่างค่อนข้างกลม มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเมืองประมาณ 700 เมตร ตัวเมืองมีกำแพงที่ก่อเป็นกำแพงดิน 1 ชั้น และมีคูเมือง 2 ชั้นล้อมรอบ สันนิฐานว่า บ้านคอนสวรรค์คงจะสร้างพร้อมกับเมืองโคราช (นครราชสีมา) ตามตำนานเล่าว่า ผู้ที่สร้างเมืองคอนสวรรค์ หรือเมืองกาหลงนี้ คือ พระยาขุนหาญ ซึ่งเป็นญาติกับเจ้าเมืองโคราช แต่จะสร้าง พ.ศ. ใดยังไม่ปรากฏหลักฐานนี่แน่ชัด หลักฐานเก่าแก่ที่พอปรากฏ ให้เห็นอยู่มากก็คือเสาประตูเข้าเมือง พระพุทธรูปโบราณ ใบเสมา ซึ่งได้ขุดพบ

ที่วัดร้าง โนนกู่ หนองพระ จะอยู่ทางทิศใต้ห่างออกไปประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนั้นยังมีคูเมืองล้อมรอบทั้ง 4 ด้านและยังมีคูน้ำบางตอนปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

สภาพทางภูมิศาสตร์

บ้านคอนสวรรค์เป็นพื้นที่ราบลุ่มมีห้วยหนองคลองบึงล้อมรอบหมู่บ้าน หมู่8 มีพื้นที่ 3,700 ไร่ หมู่9 มีพื้นที่ 3,000 ไร่ หมู่ที่ 11 มีพื้นที่ 3,500 ไร่ รวมพื้นที่ทั้งหมด 10,200 ไร่ เป็นพื้นที่การเกษตรรวมทั้งหมด 8,390 ไร่ สถานที่ตั้งบ้านเรือนราษฎรทั้ง 3 หมู่นั้น จะตั้งอยู่ที่ที่เป็นเนินดินสูงลาดเอียงไปโดยรอบทิศ มีความลาดเอียงที่สังเกตได้อย่างชัดเจนคือ จากทางด้านทิศตะวันออกไปทิศตะวันตกของหมู่บ้านเหมือนกับเป็นเนินขนาดใหญ่ ในสมัยก่อนมีสภาพเป็นป่าเป็นดงมีต้นไม้ใหญ่มากมาย ชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าเคยมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น แรด เสือเหลือง หมูป่า ฟาน เก้ง กวาง กระต่าย ตลอดจนกระรอก กระแต แต่ปัจจุบันได้หายไปหมดแล้ว ที่ตั้งของชุมชนหมู่บ้าน

จะเป็นเนินดินสูงและทางเดินรอบหมู่บ้านจะอยู่ต่ำลึกขนาดที่นั่งอยู่บนหลังช้างแล้วเนินดินยังสูงท่วมหัวโดยปัจจุบัน มีอาณาเขตของบริเวณหมู่บ้าน ดังนี้

- ทางทิศเหนือ จะติดกับหนองหงส์ ที่เป็นล้อมรอบไปด้วยที่ๆอุดมสมบูรณ์

- ทางทิศใต้ ก็คูหนอง ชื่อ หนองกุดแข้ และหนองพระตามลำดับ

- ทางด้านทิศตะวันตก ของหมู่บ้านมีหนองอ้อ ยาวเหยียดซึ่งชาวนาได้อาศัยหนองน้ำใช้จนปัจจุบัน

- ทางทิศตะวันออก มีหนองชื่อหนองบ้านและ หนองตามี ส่วนด้านอื่นๆก็มีคูหนองที่กำลังตื้นเขินไปตามกาลเวลา เพราะขาดการพัฒนาขุดลอกและมีชาวบ้านได้เข้าถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง ส่วนหลักฐานที่แสดงว่าเป็นเมืองเก่าจากตำนานเล่ากันต่อมาว่า สาเหตุที่ได้ชื่อว่าเมืองกาหลงเพราะพระยาขุนหาญได้ตระเวรมาพบเข้า เห็นว่าเป็นแหล่งเหมาะสมที่จะสร้างบ้าน แปลงเมือง มีห้วย หนอง คลองบึง จำนวนมากที่ราบชายฝั่งลำน้ำชีเป็นบริเวณกว้างอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารปักษาหาร ผลาหาร เมื่อนกกาที่บินผ่านเข้ามาจะหากินจนเพลินกับอาหารที่อุดมสมบูรณ์จนลืมกลับรัง สมกับคำว่าในน้ำมีปลา ในนามีข้าว พอพระยาขุนหาญสร้างเมืองเสร็จก็ได้จัดส่งส่วย เครื่องบรรณาการไปให้เมืองแม่เป็นนิจ สันนิฐานว่าเป็นเมืองทวาราวดี เพราะที่เมืองกาหลงนี้ตัวหนังสือสมัยทวาราวดี จารึกปรากฏอยู่บนแผ่นหินมากมาย

สภาพทางสังคม

กลุ่มชนเป็นคนไทย-ลาว ส่วนหนึ่งอพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา ภาษาชาวบ้านในท้องถิ่น ใช้ภาษาไทย-อีสาน สำเนียงอีสานตอนกลาง เสียงไม่เหน่อ วิถีชีวิต ชาวบ้านคอนสวรรค์มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านเกษตรกรรม และค้าขาย ชาวบ้านนับถือพระพุทธศาสนามีการตักบาตรทำบุญสุนทานเป็นประจำขนบฮีตคองแต่เดิมของอีสานพื้นถิ่นรักษาไว้อย่างมั่นคง

ความเชื่อ

ในอดีตยังเชื่อถือเรื่องผีและสิงศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าปู่หรือศาลปู่ตาอยู่กลางบ้านเป็นที่รวมความศรัทธาอย่างเหนียวแน่น ปัจจุบันยังมีความเชื่อเรื่องนี้อยู่อย่างมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงเพราะว่ามีการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างจากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งอย่างต่อเนื่องผ่านร่างทรง หรือเฒ่าจ้ำ บ้านนี้มีเฒ่าจ้ำเป็นหญิงชื่อนางสอน ร่างทรงปู่ตาหรือที่เรียกกันว่าเจ้าปู่ ชื่อนางทอง แต่งพงษ์ อายุ 72 ปี ทรงเจ้าปู่ชื่อราชวงศ์ นางสาระกุล (ทองด้วง) ปลายชัยภูมิ จะทรงเป็นเมียน้อยชื่อประไพศรี นางวิเชียรจะทรงเมียหลวง ชื่อ สุมนทา นางพร้อม ใจเกษม จะทรงพระยาแถนเสี่ยงทายหาบน้ำ เป็นความเชื่อของชาวบ้านร่วมกัน การทำบุญในเดือน 6 ด้วยการเลี้ยงเจ้าปู่เสร็จแล้วจึงไปเลี้ยงที่โนนกู่จึงสวดมนต์บ้าน ต่อมาจึงสวดและเลี้ยงศาลา 9 ห้อง 3 คืนเสร็จจึงจะไปแห่น้ำหาบมาใส่บึงอ้อ

เกิดสงครามกลางเมือง มีสมัยหนึ่งได้เกิดสงครามชิงเมือง โดยใช้ธนู หน้าไม้ หลาวแหลมพุ่งรบต่อสู้กัน ใครมีความแม่นยำและเก่งกล้าก็ได้รับชันชนะจึงทำให้ชาวเมืองเกิดความแตกแยกแบ่งเป็นหมู่คณะพวกที่พ่ายแพ้และชอบสู้รบ ไม่อยากต่อสู้กับหมู่คนไทยก็ได้อพยพทิ้งถิ่นฐานบ้านช่องไปทำมาหากินยังถิ่นอื่น อาทิ เช่น ได้อพยพไปตั้งรากฐานอยู่ที่บ้านแท่น บ้านมอญ บ้านดอนไก่เถื่อน บ้านบัวพักเกวียน และบ้านเพชรใหญ่ ซึ่งบ้านดังกล่าวเหล่านี้ ตั้งอยู่ในเขตอำเภอภูเขียวในปัจจุบัน ส่วนบ้านมอญอยู่ที่อำเภอมัญจาคีรี จังหวัดขอนแก่น (ปัจจุบันเรียกว่า บ้านสวนหม่อน) และยังได้มีการอพยพไปอยู่บ้านชนบท อำเภอชนบทอีกด้วยส่วนพวกที่ยังตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองกาหลง ก็ยังมีกองช้างกองม้า หรือที่ชาวเมืองเรียกว่า ทหารประจำเมืองและเจ้าเมืองก็ได้เกณฑ์ประชาชนพร้อมกำลังทหาร สร้างค่ายคู ประตูหอรบ โดยสร้างเป็นมูลดินล้อมรอบเมืองจนเห็นเป็นรูปคลองและมูลดินจนถึงทุกวันนี้ หลังจากต่อสู้มีชัยชนะแล้ว ต่อมาก็สร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ ให้สมกับฐานะตามสมัย จึงเปลี่ยนชื่อใหม่จาก เมืองกาหลง ให้เป็นเมืองใหม่ว่า บ้านสวนหม่อน


เปลี่ยนชื่อบ้านสวนหม่อน ต่อมานับเป็นเวลานาน (ไม่มีหลักฐานแน่ชัด) ได้มีการเปลี่ยน

ชื่อบ้านสวนหม่อน เป็นชื่อใหม่ว่า บ้านคอนสวรรค์ มาจนตราบเท่าวันนี้ ก็พอจะมองเห็นได้ว่าคนรุ่นใหม่ที่อาศัยอยู่ในบ้านแห่งนี้มีลักษะของคนรุ่นเก่าอยู่ คือ ยังมีเชื่อสายบุคลิกรูปร่างเหมือนคนพื้นเมือง อาทิเช่น คางบุ๋ม คิ้วโป ริมฝีปากหนาและกว้าง ใบหน้าสี่เหลี่ยม คอหลั่น เสียงใหญ่กังวาล คนพวกนี้คือลักษะของคนพื้นเมืองโดยแท้จริง และอีกอย่างหนึ่งของคนพวกนี้จะเป็นหญิงหรือชายก็ตามยังคงมีนิสัยแข็งกล้า อาจหาญ มีไหวพริบในเชิงปัญญาการต่อสู้กับศัตรู อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้ มีความทรหด ในการต่อสู้ โดยไม่เห็นแก่ชีวิตแม้แต่น้อย

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2369 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์เวียงจันทร์ ได้ยกกำลังพลจากเวียงจันทร์ มีกองช้า กองม้า เสนาข้าอำมาตย์เป็นจำนวนมากเดินทางผ่านที่บ้านนี้ ซึ่งเจ้าอนุวงศ์ได้มีใบบอกให้อำมาตย์ขี้ม้าเร็วมาส่ง และบอกชาวบ้านว่าจะไปช่วยเจ้าเมืองที่กรุงเทพฯต่อสู้กับศัตรูต่างประเทศคราวนั้นชาวบ้านก็พร้อมใจกันให้ที่พักอาศัย โดยได้จัดสร้างศาลาเก้าห้องให้เป็นที่พำนักชั่วคราว ให้ทหารพักผ่อนก่อนเดินทางต่อไปยังจังหวัดนครราชสีมาและใบบอกในครั้งนั้นก็เขียนเป็นภาษาลาว ศาลาเก้าห้องที่กล่าวถึงนี้ยังพอมีเสาเป็นซากหักให้คนรุ่นหลังได้เห็นอยู่จนทุกวันนี้ และปัจจุบันได้สร้างสถานีอนามัยหมู่บ้าน ในบริเวณดังกล่าว ทางทิศใต้โรงเรียนบึงอ้อ คุรุประชาสรรค์ที่ตั้งศาลาเก้าห้องเดิมนั้นเป็น เนินดินเตี้ยๆสมัยนั้นเรียกว่า เนินพระนอน มีพระพุทธรูปสร้างด้วยศิลาแลง

วัดเก่าสมัยเมืองกาหลง เมืองกาหลงนี้มีวัดเก่าแก่อยู่หลายวัด อาทิเช่น วัดโนนกอก (โนนกู่) อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านคอนสวรรค์ วัดนี้เป็นวัดของพระยาขุนหาญได้สร้างไว้ส่วนวัดคอนสวรรค์ปัจจุบัน อยู่ทางทิศตะวันตกติดกับหมู่บ้าน และมีหนองอ้ออยู่ทางทิศตะวันตกของวัดอีกที่หนึ่ง หรือก็คือติดกับคูเมืองซึ่งปัจจุบันนี้ชาวบ้านเรียกคูเมืองบริเวณนี้ว่า หนองอ้อ นั่นเอง วัดทั้งสองวัดมีพระยาขุนหาญเป็นผู้อุปถัมภ์นอกจากนี้ยังมีวัดอื่นๆอีหลายวัดตั้งอยู่รายล้อมรอบเมืองเท่าที่เห็นเป็นรูปเค้าอยู่พอสันนิฐานได้ดังนี้ คือ วัดโนนตะโคตร วัดหนองหงส์ วัดหนองเฒ่าโต้ และวัดใน(วัดศรีวิลัย) เห็นที่คนสมัยนั้นนิยมการสร้างวัดกันอย่างมาก ก็เพราะคนไทยมีนิสัยชอบการทำบุญสุนทานช่วยเหลือ ผู้ที่ไดัรับความทุกข์หรือยากจน และในช่วงสมัยนั้นมีการสู้ศึกสงครามกันเป็นนิจ เมื่อยุติสงครามแล้วผู้นำก็ได้ชักชวนกันสร้างวัดเป็นพุทธบูชาเพื่อเป็นการล้างบาปคนในสมัยนั้นจะเรียกอักษรขอม อักษรมอญ อักษรลานนา และอักษรขีด เพราะปรากฏตามหลักศิลาจารึกใบเสมา และตามเสาหลักเมือง

ผู้เขียน อ้างอิงจากหนังสือที่ระลึกงานผูกพันธสีมาฝังลูกนิมิตพระอุโบสถวัดคอนสวรรค์ ตำบลคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
วันที่ 13 – 15 เมษายน พ.ศ.2533

ผู้ถ่ายภาพ นายวัชรา สุระเสน