การทำน้ำหมักชีวภาพ

น้ำหมักชีวภาพคือ สารละลายที่มีความเข้มข้น เกิดจากการที่เรานำเอาพืช ผัก ผลไม้ หรือกุ้ง หอย ปู ปลา หรือสัตว์ชนิดอื่นๆ นำมาหมักกับกากน้ำตาลหรือสารที่ให้ความหวานเพื่อทำให้เกิดจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ เมื่อผ่านกระบวนการแล้วจะได้สารละลายเข้มข้นสีน้ำตาล ซึ่งจุลินทรีย์เหล่านี้ จะช่วยสลายธาตุอาหารต่างๆ ที่อยู่ในพืช มีคุณค่าในแง่ของธาตุอาหารพืชเมื่อถูกย่อยสลายโดยกระบวนการย่อยสลายของแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์สารต่างๆจะถูกปลดปล่อยออกมา เช่น ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง จุลธาตุ ฮอร์โมนเร่งการเจริญเติบโต เอนไซม์ โปรตีน กรดอะมิโน กรดอินทรีย์ วิตามิน ซึ่งพืชสามารถนำไปใช้ในการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี น้ำหมักชีวภาพมีประโยชน์มากมายเช่น ใช้เป็นปุ๋ย เร่งอัตราการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มคุณภาพของผลผลิตให้ดีขึ้น ใช้ไล่แมลงศัตรูพืช ช่วยกำจัดกลิ่นเหม็น น้ำเสีย ป้องกันโรคระบาดต่าง ๆ

ช่วยควบคุมคุณภาพน้ำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยรักษาโรคแผลต่าง ๆ ในสัตว์น้ำได้ ช่วยบำบัดน้ำเสียและช่วยปรับสภาพอากาศที่เสียให้สดชื่น และมีสภาพดีขึ้น ในที่นี้เราจะใช้หน่อกล้วยวัสดุที่เรามีเพื่อลดต้นทุน

1.วัสดุอุปกรณ์ในทำน้ำหมักชีวภาพ

1.หน่อกล้วย จำนวน 15 กิโลกรัม

2.สารเร่ง พด.2 จำนวน 2 ซอง

3.กากน้ำตาล จำนวน 10 กิโลกรัม

4.น้ำเปล่า 200 ลิตร

(สามารถลดอัตราส่วนลงได้หากเรามีวัสดุน้อย)


2.วิธีการทำน้ำหมักชีวภาพ

1.หั่นหรือสับหน่อกล้วยให้เป็นชิ้นเล็กๆ

2.กากน้ำตาล ผสมน้ำ 10 ลิตร นำสารเร่ง พด.2 ผสมลงไป คนให้เข้ากันนาน 5 นาที

3.นำหน่อกล้วยสับแล้ว ใส่ในถังพร้อมน้ำเปล่าทั้งหมด และส่วนผสมกากน้ำตาลกับสารเร่ง พด.2 คนส่วนผสมให้เข้ากัน

4.ปิดฝาไม่ต้องสนิท ตั้งไว้ในที่ร่ม ระหว่างการหมักคนหรือกวนทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เพื่อการระบายก๊าซและทำให้ส่วนผสมคลุกเคล้าได้ดีขึ้น

5.หมักนาน 21 วัน กรองน้ำใส่ขวดไว้ใช้ได้

3.การนำไปใช้

น้ำหมัก 1 ลิตร ผสมน้ำเปล่า 100 ลิตร ใช้ฉีดพ่นลงดิน จะทำให้ดินร่วนซุย ฉีดพ่นทางใบลดปริมาณน้ำหมักลงครึ่งหนึ่งฉีดพ่น ปีละ 2 ครั้ง ช่วงก่อนออกดอกและช่วงหลังตัดแต่งกิ่ง

ผู้เขียน นายวัชรา สุระเสน

ผู้ถ่ายภาพ นายวัชรา สุระเสน