เกี่ยวกับ สวชช.

ประวัติการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน

การวางรากฐาน ของการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนได้มีการพัฒนามาบนเส้นทางที่ยาวไกลถึง 9 ปี โดยแบ่งเป็น 3 ช่วงเวลา คือ

(1) สำนักงานโครงการ เพื่อเตรียมการจัดทำข้อเสนอวิทยาลัยชุมชนต่อคณะรัฐมนตรี

(2) สำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน ดำเนินงานภายใต้สังกัด สำนักงานปลัดกระทรวง ศึกษาธิการ และ

(3) สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน ดำเนินงานภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการ การอุดมศึกษา โดยมีรายละเอียดดังนี้

    • ช่วงเตรียมการ - "สำนักงานโครงการ"
    • สำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน -สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
    • สำนักบริหารงานวิทยาลัยุชมชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา


ช่วงเตรียมการ - "สำนักงานโครงการ"

บ่มเพาะความเข้าใจ และแนวทางการดำเนินงาน

เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2544 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงศึกษาธิการ ได้จัดทำ “แนวคิดและหลักการวิทยาลัยชุมชน” ซึ่งเปรียบเสมือนพิมพ์เขียวในการดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้แจ้งเจตนารมณ์ที่จะจัดตั้งและดำเนินการตามนโยบายวิทยาลัยชุมชนแก่ผู้บริหารระดับสูงระดับอธิบดีของกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ได้มีการประชุมชี้แจงสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปฏิบัติทุกระดับ และแก่ประชาชนทั้งประเทศ โดยผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์ จุลสาร แผ่นพับ เป็นต้น โดยมีความถี่เดือนละ 3-4 ครั้ง พร้อมจัดการประกวดคำขวัญและตราสัญลักษณ์วิทยาลัยชุมชน เชิญชวนผู้สนใจจากทั่วประเทศสมัครส่งประกวด โดยมีกรรมการผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัย และวิทยาลัยเพาะช่าง มาเป็นกรรมการตัดสิน ซึ่งได้คำขวัญว่า “วิทยาลัยชุมชน พัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่น” และตราสัญลักษณ์เป็นรูปทรงสถาปัตยกรรมไทยและลวดลายไทยประสานกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนไทย

ในการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินงานของวิทยาลัยชุมชนนั้น เป็นที่ทราบกันแล้วว่า ประเทศสหรัฐอเมริกามีการพัฒนาวิทยาลัยชุมชนมาช้านาน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงได้นำคณะผู้ร่วมก่อตั้งและเตรียมการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนไปประชุมร่วมกับประชาคม วิทยาลัยชุมชนสหรัฐอเมริกาที่มหาวิทยาลัยฮาวาย ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม - 4 เมษายน พ.ศ. 2544 โดยได้เรียนรู้ประสบการณ์ ศึกษาดูงานที่มลรัฐฮาวาย แคลิฟอร์เนีย ไอโอว่า และนอร์ธคาโรไลน่า กระทั่งต่อมาเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ตามโครงการ East-West Community College การประชุมครั้งนั้นได้รับการสนับสนุนจากประเทศสหรัฐอเมริกา และสถาบันคีนันแห่งเอเชีย


กลไกเริ่มต้น ตั้งคณะทำงาน 6 คณะเพื่อเตรียมการ

เพื่อให้การเตรียมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเป็นไปอย่างมีระบบและเรียบร้อย กระทรวงศึกษาธิการ ได้สร้างกลไกการดำเนินงานในระยะเตรียมการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการและบุคคล ดังนี้

(1) คณะกรรมการอำนวยการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แนวทางการดำเนินงานและสนับสนุน

(2) คณะกรรมการดำเนินงาน มีหน้าที่จัดทำแผนการดำเนินงานและประสานกับอนุกรรมการต่างๆ

(3) คณะอนุกรรมการ 6 ด้าน ได้แก่ ด้านวางระบบบริหารงานวิทยาลัยชุมชน ด้านหลักสูตร ด้านพัฒนาบุคลากร ด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านประสานความร่วมมือภาครัฐ เอกชน และชุมชน และด้านประชาสัมพันธ์

(4) จัดตั้งสำนักงานโครงการวิทยาลัยชุมชนเป็นหน่วยงานภายในเทียบเท่ากองในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนการดำเนินงาน

(5) จัดหาบุคลากร แต่งตั้งนางสาวสุนันทา แสงทอง ตำแหน่งเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 8ว สำนักงานนโยบายและแผนการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานโครงการวิทยาลัยชุมชน

(6) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิและมีประสบการณ์เป็นที่ปรึกษาสำนักงานในโครงการ ให้คำปรึกษา แนะนำและร่วมทำงาน ได้แก่ นายชุมพล พรประภา รองศาสตราจารย์ฉลอง ภิรมย์รัตน์ นายอุดม มุ่งเกษม และนางพัชรี สว่างทรัพย์

ลงหลักปักฐาน คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน

จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการได้จัดทำโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี โดยมีสาระสำคัญดังนี้

(1) เหตุผลความจำเป็น เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้พลาดโอกาสทางการศึกษา

(2) วัตถุประสงค์ เพื่อจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาประจำท้องถิ่น จัดการศึกษาและฝึกอบรมในหลักสูตรที่สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชุมชนเป็นสำคัญ

(3) พันธกิจ จัดการศึกษาหลักสูตร 2 ปีแรกของระดับอุดมศึกษา จัดการศึกษาด้านวิชาชีพ หลักสูตร ประกาศนียบัตร และจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต

(4) ข้อเสนอเพื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2545 เห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอทั้ง 4 ข้อ และให้ดำเนินการต่อไปได้ โดยให้รับข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีไปพิจารณา ดังนี้

(1) วิทยาลัยชุมชนที่จะจัดตั้งขึ้นควรเป็นรูปแบบและการดำเนินการที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมแบบไทย ไม่ควรยึดหลักการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนของต่างประเทศมาเป็นต้นแบบโดยตรง

(2) การจัดการเรียนการสอนของวิทยาลัยชุมชนแต่ละแห่งต้องสนองต่อความต้องการและการประกอบอาชีพของชุมชนในท้องถิ่น

(3) การจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนของท้องถิ่นใด ควรให้ชุมชนและท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล เทศบาล เข้ามามีส่วนร่วมลงทุน หรือมีส่วนริเริ่มของการจัดตั้งเพื่อให้ท้องถิ่นได้ตระหนักถึงภาระความรับผิดชอบในส่วนของตนตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งสามารถพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นของการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง


สำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน - สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ระบบบริหารจัดการวิทยาลัยชุมชน

ใน พ.ศ. 2545-2546 เป็นระยะเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยชุมชน กระทรวงศึกษาธิการได้ออกแบบระบบริหารจัดการ แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ ส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค มีรายละเอียดดังนี้

1. ส่วนกลาง

มีคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนระดับชาติ ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน และชุมชน เป็นกรรมการ มีหน้าที่กำหนดนโยบาย แผนพัฒนา กำหนดมาตรฐาน กำกับติดตามและประเมินผล สนับสนุนทรัพยากร ส่งเสริมการประสานความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีคณะกรรมการจำนวนไม่เกิน35 คน โดยมีสำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน (ปรับชื่อจากสำนักงานโครงการวิทยาลัยชุมชน) เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และเป็นหน่วยงานกลางดำเนินการและประสานการดำเนินงานกับทุกระดับ

ดร.สิริกร มณีรินทร์ เป็นประธานคณะกรรมการสภาวิทยาลัยชุมชนระดับชาติ

นางสาวสุนันทา แสงทอง เป็นผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชน

2. ส่วนภูมิภาค

มีคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชนจังหวัด ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ เอกชน ชุมชน และองค์กรเครือข่ายร่วมจัดการศึกษา เป็นกรรมการ มีหน้าที่จัดทำนโยบายและแผนพัฒนาระดับจังหวัด เสนอและอนุมัติให้อนุปริญญา ประกาศนียบัตร และวุฒิบัตร กำกับดูแล พิจารณาจัดตั้ง ยุบรวม หรือเลิกการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน ประสาน ส่งเสริม การจัดและการระดมทรัพยากร มีคณะกรรมการจำนวนไม่เกิน 19 คน โดยมีสำนักงานวิทยาลัยชุมชนเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการ มีวิทยาลัยชุมชนเป็นสถานศึกษา ทำหน้าที่จัดการศึกษาตามภารกิจวิทยาลัยชุมชนร่วมกับวิทยาลัยชุมชนเครือข่าย โดยมีสำนักงานวิทยาลัยชุมชนเป็นหน่วยอำนวยการส่งเสริมสนับสนุน

ระบบบริหารจัดการวิทยาลัยชุมชน

กล่าวได้ว่าปี 2545-2546 เป็นระยะเริ่มก่อตั้งวิทยาลัยชุมชน โดยที่กระทรวงศึกษาธิการมีแนวทางเพื่อหลอมรวมสถานศึกษาสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในจังหวัดที่มีภารกิจใกล้เคียงกัน ได้แก่สถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา กรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมพลศึกษา และกรมอื่นๆ ให้มาเป็นวิทยาลัยชุมชน เพื่อความเป็นเอกภาพทางการศึกษา โดยให้ทำงานประสานเป็นเครือข่ายและจัดการศึกษาเพิ่มเติมเต็มในส่วนที่ขาด และปรับระบบบริหารจัดการใหม่ตามหลักการวิทยาลัยชุมชน เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของชุมชนได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ จึงได้ดำเนินการดังนี้

1) ให้จังหวัดเลือกคณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนจังหวัด ที่มีองค์ประกอบของบุคคล จากภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธาน ทำหน้าที่จัดตั้งและสนับสนุนวิทยาลัยชุมชนเสนอกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้ง

2) ให้คณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเลือกสถานศึกษาที่มีศักยภาพและมีภารกิจเป็นส่วนหนึ่งของวิทยาลัยชุมชนอยู่แล้ว ให้เป็นสถานศึกษาหลักที่จะเป็นวิทยาลัยชุมชน เสนอกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศจัดตั้ง

3) ให้กรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนเสนอกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดที่มีองค์ประกอบจากสถานศึกษาที่เป็นวิทยาลัยชุมชน สถาบันอุดมศึกษา องค์กรภาครัฐ เอกชน ชุมชน ทำหน้าที่วางระบบบริหารจัดการวางแผนและประสานการดำเนินงานให้เกิดการเรียนการสอนในระยะแรก

4) ให้สถานศึกษาหลักที่เป็นวิทยาลัยชุมชนทำหน้าที่จัดการเรียนการสอน โดยมีภารกิจ 2 ส่วน คือ ภารกิจเดิมของสถานศึกษาและเพิ่มภารกิจของวิทยาลัยชุมชน

5) ให้มีสำนักประสานงานวิทยาลัยชุมชนจังหวัดทำหน้าที่สำนักงานเลขานุการของคณะทำงานดำเนินงาน และประสานกับสถานศึกษาที่เป็นวิทยาลัยชุมชนเครือข่ายหรือแหล่งสนับสนุน

ประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชน “นำร่อง”

คณะกรรมการจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนทุกจังหวัด ได้เลือกสถานศึกษา 10 แห่ง มาเป็นวิทยาลัยชุมชน โดยได้สถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษา 3 แห่ง และสังกัดกรมการศึกษานอกโรงเรียน 7 แห่ง จากนั้น ในวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2545 กระทรวงศึกษาธิการประกาศจัดตั้งวิทยาลัยชุมชนโดยให้สถานศึกษาทำหน้าที่วิทยาลัยชุมชน และทำภารกิจเดิมควบคู่ไปด้วย มีสถานศึกษาที่ได้รับคัดเลือกเป็นวิทยาลัยชุมชน ดังนี้

1) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นวิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน

2) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดตาก เป็นวิทยาลัยชุมชนตาก

3) วิทยาลัยการอาชีพโพทะเล จังหวัดพิจิตร เป็นวิทยาลัยชุมชนพิจิตร

4) วิทยาลัยการอาชีพบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เป็นวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี

5) ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจังหวัดสระแก้ว เป็นวิทยาลัยชุมชนสระแก้ว

6) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นวิทยาลัยชุมชนบุรีรัมย์

7) วิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู เป็นวิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู

8) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดมุกดาหาร เป็นวิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร

9) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดระนอง เป็นวิทยาลัยชุมชนระนอง

10) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนราธิวาส เป็นวิทยาลัยชุมชนนราธิวาส

จากนั้นเป็นต้นมา วิทยาลัยชุมชนตามประกาศดังกล่าวได้เริ่มดำเนินการตามภารกิจ และแนวทางการดำเนินงานที่กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ โดยมีวิทยาลัยชุมชนเป็นสถาบันหลัก และใช้สถานศึกษา และหน่วยงานราชการเป็นที่จัดการเรียนการสอนที่กระจายไปถึงระดับอำเภอ


สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

สถานะการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 เมื่อมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ซึ่งบัญญัติให้มีกระทรวงศึกษาธิการ โดยการจัดระเบียบกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ซึ่งได้แก่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 และพระราชบัญญัติที่ออกตามนัยของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติดังกล่าวนั้น ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้าง องค์กร การแบ่งส่วนงาน การจัดระบบครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา และการจัดระบบทรัพยากรและการลงทุนเพื่อการศึกษา ทั้งนี้ ในส่วนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รัฐบาลได้ทยอยเสนอไปยังรัฐสภาเพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ

สำหรับการจัดโครงสร้าง องค์กร การแบ่งส่วนงานนั้น พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546ได้บัญญัติให้กระทรวงศึกษาธิการจัดระบบบริหารและการจัดการศึกษาของรัฐใหม่ ในการนี้ ให้ปรับสำนักงานส่งเสริมวิทยาลัยชุมชนเข้าสู่โครงสร้างใหม่ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2546 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศใช้ “กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญารูปแบบวิทยาลัยชุมชน พ.ศ. 2546” ขึ้น เป็นกฎหมายรองรับการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน โดยสาระสำคัญหลัก คือ

(1) ให้วิทยาลัยชุมชนเป็นสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาซึ่งบริหารจัดการโดยชุมชน

(2) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การศึกษาและฝึกอบรมด้านวิชาการและวิชาชีพตามหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและส่งเสริมให้มีการพัฒนาอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลในชุมชน

(3) ให้วิทยาลัยชุมชนเป็นส่วนราชการในสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

(4) การบริหารงาน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ

    • หน่วยนโยบาย ประกอบด้วย คณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน และสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน
    • หน่วยปฏิบัติการ ประกอบด้วยสภาวิทยาลัยชุมชน และวิทยาลัยชุมชน

บทบาทหน้าที่สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน

พร้อมๆ กับการประกาศพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 ได้มีกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546 กำหนดให้สำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชนมีบทบาทหน้าที่ ดังนี้

    • จัดทำข้อเสนอนโยบาย และจัดทำแผนหลักของระบบวิทยาลัยชุมชน เสนอแนะการจัดตั้งและจัดสรรงบประมาณให้วิทยาลัยชุมชน
    • จัดทำระบบข้อมูล สารสนเทศ กำกับ ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานวิทยาลัยชุมชน
    • พัฒนาและส่งเสริมการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชนและระบบเครือข่ายความร่วมมือการจัดการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ
    • จัดทำมาตรฐานการจัดการศึกษาของวิทยาลัยชุมชน
    • ดำเนินการเกี่ยวกับงานเลขานุการของคณะกรรมการวิทยาลัยชุมชน
    • ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมายภายใต้โครงสร้างใหม่นี้ มีนางสาวสุนันทา แสงทอง เป็นผู้อำนวยการสำนักบริหารงานวิทยาลัยชุมชน