ความรู้ทั่วไป

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับ GMOs

สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms หรือ GMOs) คือ สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม หมายถึงพืช สัตว์ และจุลินทรีย์ ที่ถูกเปลี่ยนแปลงสารพันธุกรรมโดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรม เพื่อให้ได้ลักษณะใหม่ที่ต้องการ เช่น ต้านทานยาปราบวัชพืช  ทนต่อแมลงและไวรัส สุกงอมช้า เพิ่มคุณค่าทางอาหาร เป็นต้น  และการดัดแปลงพันธุกรรมนั้นสามารถทำได้โดยการเพิ่ม ยับยั้งยีน หรือแทนที่ยีนที่เฉพาะเจาะจงของสิ่งมีชีวิต ทำให้เกิดลักษณะเด่นที่ไม่ได้มาจากการถ่ายเทรหัสพันธุกรรมตามธรรมชาติ เมื่อนำมาทำเป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบของอาหาร เรียกว่า  อาหารดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Food) ปัจจุบันการดัดแปลงพันธุกรรมนั้นมีการนำไปใช้ในหลายงานวิจัยและการประยุกต์ใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรค การปรับปรุงพืชผลทางการค้า และอื่นๆ

การใช้เทคนิคทางพันธุกรรมเพื่อให้เกิดประโยชน์ด้านต่างๆ ดังนี้

การประเมินความปลอดภัยของอาหาร

ปัจจุบันใช้หลักการประเมินความปลอดภัยของอาหาร GMOsโดยการเปรียบเทียบอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบที่เป็น GMOs กับอาหารเดิมที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติเรียกหลักการนี้ว่า  Substantial  Equivalence  Concept ซึ่งเปรียบเทียบในแง่โมเลกุล ส่วนประกอบ คุณค่าทางโภชนาการ และความเป็นพิษและสารภูมิแพ้ของอาหารนั้น โดยถ้ามีความเท่าเทียมกับอาหารเดิมให้ถือว่ามีความปลอดภัยเท่ากัน ถ้ามีความแตกต่างบ้างต้องทดสอบความปลอดภัยให้ละเอียดมากขึ้นอีก  ถ้าอาหารจาก GMOs มีคุณลักษณะแตกต่างจากอาหารเดิมต้องปฏิบัติเหมือนเป็นอาหารชนิดใหม่ ( Novel  Food )  ต้องใช้วิธีการประเมินความปลอดภัยขององค์ประกอบของอาหารนั้นทุกอย่าง 

ความปลอดภัยทางชีวภาพ ( Biosafety )

เนื่องจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีในธรรมชาติ จึงก่อให้เกิดความกังวลว่า เมื่อนำไปใช้เป็นอาหารหรือส่วนประกอบของอาหาร จะปลอดภัยต่อมนุษย์หรือไม่ ดังนั้นในการนำ GMOs ไปใช้ประโยชน์ จึงต้องวิเคราะห์ความปลอดภัยทางชีวภาพหรือความเสี่ยงก่อน โดยความปลอดภัยทางชีวภาพหมายถึง “ ความปลอดภัยที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่พัฒนาโดยใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมโดย คำนึงถึงความปลอดภัยที่มีต่อความหลากหลายทางชีวภาพและสุขอนามัยของมนุษย์  อันเกิดจากการวิจัยและพัฒนา  การเคลื่อนย้าย  การจัดการ  และการใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ”

ประเทศไทยให้แสดงฉลากตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ

ซึ่งสาระสำคัญดังนี้

1. ประกาศฉบับที่ 345 พ.ศ. 2555 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดให้อาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) ให้มีสารพันธุกรรมครายไนน์ซี (Cry9C DNA Sequence) และอาหารที่มีส่วนผสมของอาหารดังกล่าว เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย

2. ประกาศฉบับที่ 431 พ.ศ. 2565 เรื่อง อาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียน สิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (“Genetically Modified Organism; GMO สิ่งมีชีวิตที่มีการปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรมซึ่งได้จากการใช้เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่) อาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมที่จะผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย ในประเทศต้องผ่านขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาโดยใช้เอกสาร 2 ฉบับคือ 

a.  เอกสารรับรองว่าผ่านการประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพด้านอาหารจากศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ 

b.  เอกสารรับรองว่ากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์สามารถตรวจวิเคราะห์ได้

3. ประกาศฉบับที่ 432 พ.ศ. 2565 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการแสดงฉลาก กรณีที่อาหารมีส่วนประกอบหลักที่ผลิตจากสิ่งมีชีวิตจากพืชดัดแปรพันธุกรรมที่ขึ้นทะเบียนตามประกาศฉบับ 431 ต้องแสดงฉลาก

สอบถามเพิ่มเติม

02-589-9850 ถึง 8 ต่อ 99510

bqsf.service@dmsc.mail.go.th