รักการอ่าน

หนังสือแนะนำ บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน

รวมเรื่องสั้น; บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน

นักเขียน; ประมวล มณีโรจน์

บรรณาธิการเล่ม; ดิเรก นนทชิต

จัดพิมพ์; สำนักพิมพ์นาคร

พิมพ์ครั้งแรก; เมษายน ๒๕๔๒

สี่สิบห้าสิบปีก่อน หลักการ ‘ศิลปะเพื่อชีวิต’ เป็นความคิดก้าวหน้าที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์แนวนิยมขนบเก่าว่าล้าหลัง โดยใช้คติ ‘สัจนิยมสังคม’ (Social Realism) ที่เน้นเนื้อหารับใช้อุดมการณ์เพื่อประชาชน เป็นเกณฑ์ในการวิเคราะห์และประเมินคุณค่า แทนหลักเกณฑ์การให้ความบันเทิงและการให้ประโยชน์เชิงสอนของวรรณกรรมแบบเดิม

ในระยะยี่สิบปีมานี้ แนวนิยมแบบ ‘เพื่อชีวิต’ ถูกตั้งคำถามถึงความล้าหลังในตัวของมันเองบ้าง นักวิจารณ์ระดมตรวจสอบคุณค่าทางวิธีการประพันธ์ และวิเคราะห์โครงสร้างความหมายของเป้าหมายแห่งอุดมการณ์นั้น นักเขียนรุ่นใหม่พากันปฏิเสธทั้งด้านรูปแบบและเนื้อหา แล้วเริ่มต้นแสวงหาแนวทางใหม่ๆ อย่างสะเปะสะปะ ส่วนนักเขียนแนวพาฝันก็เย้ยหยันด้วยความสำเร็จของยอดขายในระบบตลาด

แม้ต้องเผชิญกับแรงเสียดทานหลายด้าน แต่วรรณกรรมเพื่อชีวิตก็มีที่ทางในสังคมปัจจุบันอย่างมั่นคงพอสมควร หากพิจารณาจากผลรางวัลและการยอมรับของสถาบันต่างๆ จะเห็นว่าวรรณกรรมแนวนี้ถูกยกฐานะไว้สูง อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเพื่อชีวิตขึ้นไปอยู่เคียงข้างกับวรรณกรรมแบบแผนเดิมแล้ว โดยมีเนื้อหาที่ให้ความสำคัญต่อคุณค่าเชิงศีลธรรมคล้ายๆ กันเป็นใบเบิกทาง

วรรณกรรมเพื่อชีวิตกลายเป็นแนวทางที่มีวิธีคิดและแบบแผนการเขียนอันสมบูรณ์ตายตัว กระทั่งเป็นเหมือนการจำกัดตัวเองอยู่ภายใต้ระบบความงามที่เน้นความเชี่ยวชาญเชิงเทคนิค มากกว่าที่จะให้ความสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นจึงขาดปัจจัยใหม่ๆ ที่นำไปสู่การสรุป ‘กระบวนทัศน์ใหม่ทางวรรณกรรม’ ซึ่งจะเป็น ‘หลักนิยม’ (concept) หรือ ‘จุดยืน’ (platform) ของการสร้างงานและการเสนอปัญหาต่อไป

พูดง่ายๆ ก็คือ ความอุ้ยอ้ายของขนบที่สะสมความคุ้นชินในธรรมเนียมแบบแผนอันยาวนาน ทำให้ไม่คล่องตัวต่อการติดตามสรุปภาพของศัตรูแห่งอุดมการณ์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และเมื่อไม่อาจเปิดเผยโฉมหน้าของศัตรูที่แท้จริงได้ งานวรรณกรรมเพื่อชีวิตในยุคหลังจึงไม่มีพลังเหมือนก่อน

รวมเรื่องสั้นชุด “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” ของ ประมวล มณีโรจน์ จัดอยู่ในขนบวรรณกรรมเพื่อชีวิต ด้วยองค์ประกอบครบถ้วนทั้งรูปแบบที่เสนอ ‘ความจริง’ และเนื้อหาสะท้อน ‘ปัญหาสังคม’ เรื่องสั้นทั้ง ๘ เรื่องที่เรียงร้อยอยู่ในหนังสือเล่มนี้ คือ “จุดนัดพบ”, “ลานนกหว้า”, “ตัวสุดท้าย-โดมิโน”, “กระท่อมในดงหญ้า”, “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน”, “กล้วยน้ำว้า”, “ประกายไฟในความมืด” และ “ภูเขา” เป็นงานเพื่อชีวิตแบบคลาสสิคที่นำเสนอเนื้อหาของปัจจุบัน ซึ่งนักเขียนได้แสดงความสามารถในการคลี่คลายรูปแบบงานประพันธ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดที่ต้องการบอกเล่าอย่างเต็มที่ ทำให้ภาพรวมดูหนักแน่นน่าเชื่อถือ

แต่ด้วยเค้าโครงของปรัชญาและแนวนิยมที่ตีกรอบงานทั้งหมด กลับ ‘บีบ’ มุมมองปัญหาให้แคบลงเหลือเพียงจุดมุ่งหมายทางพันธะกิจ และ ‘กด’ แรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้อยู่ในรูปรอยของมุมมองนั้น ทั้งที่นักเขียนแก้ไขเทคนิควิธีจนหลุดออกมาจากสูตรสำเร็จเดิมแล้ว

ตัวอย่างเช่น ในเรื่อง “กระท่อมในดงหญ้า” การที่ครอบครัวยากจนนำเงินบริจาคสำหรับค่ารักษาลูกชายผู้มีสติไม่สมประกอบไปซื้อโทรทัศน์ ถูกอธิบายว่าเป็นความผิดพลาดของแบบแผนชีวิตนิยมวัตถุในโลกสมัยใหม่ โดยทิ้งภาพแห่งนาฏกรรมที่นักเขียนบรรจงวาดอย่างวิจิตรไว้เป็นเพียงฉากหลังเท่านั้น น้ำหนักระหว่างสารัตถะของเรื่องกับวัตถุดิบทั้งหมดจึงไม่สมดุลกัน กลายเป็นการฟุ่มเฟือยเพราะใช้ประโยชน์จาก ‘เนื้อที่’ (Setting) อย่างไม่คุ้มค่า

หรืออย่างในเรื่อง “ตัวสุดท้าย-โดมิโน” ประเด็นเรื่อง ‘ของจริง’ กับ ‘ของปลอม’ ที่นักเขียนสาธยายให้ผู้อ่านสังเกตตามนั้น เป็นความขัดแย้งที่สามารถอธิบายในลักษณะอภิปรัชญา (Metaphysics) ได้ แต่นักเขียนก็ให้ความสำคัญกับการกระแหนะกระแหนเสียดเย้ย (Satire) ชีวิตร่วมสมัยเฉพาะหน้ามากกว่า

ลักษณะดังกล่าวน่าจะเกิดจากความคุ้นเคยต่อวิธีคิดแบบแยกส่วน ซึ่งเป็นหัวใจในการค้นหาความจริงของวรรณกรรมเพื่อชีวิต โดยการจัดการสิ่งที่ไร้ระเบียบให้เป็นระบบเพื่อการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น คือใช้หลักวิทยาศาสตร์ลำดับความเข้าใจไปตามเหตุผลที่สามารถ ‘ประจักษ์’ ได้ แบ่งแยกสิ่งต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่ เป็นพวกเป็นฝ่าย เช่น แยก ‘เหตุ’ ออกจาก ‘ผล’, แยก ‘ดี’ – ‘เลว’, ‘ขาว’ – ‘ดำ’ แบ่งฝ่าย ‘ผู้กระทำ’ ออกจาก ‘ผู้ถูกกระทำ’, แบ่ง ‘ฝ่ายปกครอง’ ออกจาก ‘ประชาชน’, แบ่งแยก ‘คนรวย’ ออกจาก ‘คนจน’, แยก ‘เมือง’ ออกจาก ‘ชนบท’, แยก ‘พวกเรา’ ออกจาก ‘พวกเขา’, แยก ‘ใหม่’ – ‘เก่า’, ‘การพัฒนา’ – ‘อนารยะ’ ฯลฯ

การมองแบบแยกส่วนมีข้อดีตรงความชัดเจน ไม่คลุมเครือ รู้ว่าอะไรเป็นอะไร และสามารถนำระเบียบใหม่นั้นไปใช้ก่อประโยชน์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว

แต่การแบ่งขั้ววัตถุหรือนามธรรมเช่นนี้ก็ไม่อาจแก้ปัญหาจริงๆ ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะกับสิ่งที่จัดพวกไม่ได้ หรือในสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนเกินกว่าจะสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง การมองแบบเหมารวมผ่านวัตถุภายนอกโดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์ด้านอื่น ทำให้วรรณกรรมเพื่อชีวิตพบ ‘สูตรสำเร็จ’ ซึ่งเป็นคำตอบที่ง่ายเกินไป ธรรมดาเกินไป น่าเบื่อ และเดาทางได้ สามารถเสแสร้งแกล้งทำได้ง่าย เพียงสวมเครื่องแบบตามมาตรฐานของขนบธรรมเนียมเท่านั้น หรือไม่ก็ตกหล่นจมดิ่งอยู่กับสถานการณ์เฉพาะหน้า หากได้คำถามเป็นโจทย์ที่สับสนวกวนเกินกว่าจะเข้าใจ

ประมวล มณีโรจน์ แสดงออกให้เห็นว่า เขารู้ซึ้งถึงความกำกวมของความหมายระหว่างสองฝ่ายคู่ขัดแย้งนั้นเป็นอย่างดี แต่เขาก็เลือกที่จะสรุปบางอย่างลงไป เพื่อให้งานประพันธ์นั้นมีพลังในการสื่อสาร

อย่างเรื่อง “ลานนกหว้า” การเล่าขานถึงกรณีทหารป่าที่อ้างเอาการปฏิวัติมาใช้กำจัดคู่แข่งของความรักเชิงชู้สาว เป็นการเปิดเผยบาดแผลอัปลักษณ์ของสงครามอุดมการณ์ ซึ่งแฝงฝังอยู่ในหน้าที่อันดีงามของทุกฝ่าย แต่ก็ถูกท้วงดึงจากตัวละครว่า มันอาจเป็นเพียงนิทานพื้นบ้านไร้สาระซึ่งผู้คนเลือกจดจำ แทนที่จะเป็นแก่นแท้ของสถานการณ์

หรืออย่างเรื่อง “ประกายไฟในความมืด” บทสนทนาของตัวละครบ่งบอกออกมาตรงๆ ว่า นักเขียนมีความเข้าใจถึงข้อบกพร่องของ “การมองอะไรด้านเดียว”

“การแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการแก้ที่สาเหตุของปัญหา ... อย่างปัญหาทะเลสาบตื้นเขินที่กลุ่มผลประโยชน์ต่างขัดแย้งกันอยู่นี้ ไม่ว่ากลุ่มน้ำจืด-กลุ่มน้ำเค็มหรือกลุ่มน้ำกร่อย รวมทั้งกรณีวิวาทะเรื่องเขื่อนกั้นทะเลสาบที่ยังไม่สามารถลงเอยกันได้ คุณสนใจมั้ยถ้าผมจะบอกว่า ปรากฏการณ์แห่งความขัดแย้งดังกล่าวมีสาเหตุที่แท้จริงอยู่บนเขาบรรทัดโน่น ... สภาพป่าถูกทำลายคือสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาทะเลสาบตื้นเขิน การแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงควรระดมรื้อฟื้นสภาพป่าให้สมบูรณ์ดังเดิม น้ำจืดก็จะไม่ขาด น้ำกร่อยยังคงอยู่ น้ำเค็มก็ยังมี” (หน้า ๑๙๐)

แต่ในที่สุดแล้ว นักเขียนก็เลือกที่จะแบ่งฝ่าย และเลือกที่จะยืนอยู่ข้างผู้ถูกกระทำ โดยใช้เหตุผล-ข้อมูลที่แจกแจงมาทั้งหมดเป็นเครื่องสนับสนุนความชอบธรรมของตน

* * *

เรื่องสั้นของ ประมวล มณีโรจน์ ที่รวมไว้ในชุด “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” มีลักษณะของสารคดีเจือปนอยู่มาก โดยเฉพาะเรื่องที่มีเพียงบทบรรยายและทัศนะ แต่ปราศจากโครงเรื่องหรือตัวละครที่เด่นชัด อย่างเรื่อง “จุดนัดพบ” ที่เป็นการยืนมองและรำพึงรำพันอยู่บนยอดภู กับเรื่อง “ภูเขา” ที่เป็นการมองย้อนไปสู่ภูเขาจากพื้นราบแถบชานเมือง ซึ่งทั้งสองเรื่องน่าจะนับเป็น ‘ความเรียง’ มากกว่า ‘เรื่องสั้น’

แต่เรื่องสั้นสมัยใหม่ก็แทบจะไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ แน่นอนตายตัว หากนักเขียนเจตนาให้เป็นเรื่องสั้นก็ไม่น่ามีปัญหาอะไร เพียงแต่ว่าผลที่ได้นั้นจะออกมา ‘งาม’ หรือเปล่า

สำหรับเรื่อง “จุดนัดพบ” กับ “ภูเขา” เมื่อพิจารณาตรงวรรณศิลป์ก็ต้องถือว่าสมบูรณ์ด้วยตัวของมันเอง แต่ถ้านึกถึงองค์ประกอบอื่นๆ ด้วย คงจะดูเป็นการรวบรัดตัดตอนเกินไป

นอกจากนี้ ในเรื่องอื่นๆ ยังมีการเสนอข้อมูลภูมิรู้ผ่านบทสนทนาและการบรรยายอยู่ทั่วไป เป็นการใส่รายละเอียดลงไปแบบดิบๆ ด้วยความตั้งใจ ไม่ได้พยายามละลายให้แนบเนียนไปกับเนื้อเรื่อง

ตัวอย่างเช่น ในเรื่อง “ตัวสุดท้าย-โดมิโน” ก็ให้ตัวละครเล่าถึงเกร็ดความรู้-ข่าวสารต่างๆ มากมาย เพื่อเสริม ‘แก่นเรื่อง’ ให้แข็งยิ่งขึ้น อาทิ ประวัติศาสตร์จีนช่วงระหว่างทำสงครามกับญี่ปุ่นในปี ค.ศ. ๑๙๓๐ - ๑๙๔๐ ซึ่งสายลับต่อต้านญี่ปุ่นคนหนึ่งชื่อ “วิ่นไต้อิง” ถูกนักศึกษาหนุ่มหัวรุนแรงสังหารด้วยความเข้าใจผิด

“เมื่อไหร่ที่แกยึดมั่นในความดีโดยไม่ดูทิศทางลม ความดีนั่นแหละจะเชือดคอแกถวายแร้ง เพราะนอกจากชั่วกับดีจะกลับขั้วกันได้เมื่อเรายืนอยู่บนอุดมการณ์และ ‘จุดยืน’ ที่ต่างกันแล้ว ในสถานการณ์ทางการเมืองและการสู้รบทั่วโลก แกจะไม่ต้องแปลกใจอีกว่า ทำไมความดีจึงไม่เคยมีน้ำหนักเพียงพอที่จะยับยั้งความป่าเถื่อนเหล่านี้ได้เลย” (หน้า ๘๓)

หรืออย่างเรื่อง “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” ก็มีการนำความรู้เชิง ‘คติชนวิทยา’, ผลวิจัยภาคสนามของหน่วยงานต่างๆ, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และโครงการพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐ ใส่ลงไปในห้วงคำนึงของตัวละคร เพื่อก่อรูปร่างของมวลปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้ผู้อ่านร่วมรับรู้อย่างถึงน้ำถึงเนื้อที่สุด

การให้รายละเอียดแบบรายงานวิชาการเช่นนี้ อาจดูแห้งแล้งในการเร้าอารมณ์คล้อยตามบ้าง แต่นักเขียนก็พยายามวางจังหวะการดำเนินเรื่องอย่างมีชั้นเชิง กระทั้งได้ผลอันสมบูรณ์สูงสุดในเรื่อง “ประกายไฟในความมืด” ซึ่งสมดุลลงตัวและสมเหตุสมผลในตัวเองอย่างมาก

หรือวิธีการเช่นนี้จะเป็นลักษณะเฉพาะตัวในเรื่องสั้นของ ประมวล มณีโรจน์ ที่จริงหากพิจารณาจากท่วงทำนองการแต่ง จะพบว่าการสร้างประโยคของเขาส่อเค้าทักษะนิสัยในการให้ความสำคัญกับรายละเอียดสูง คือมักใช้วิธีเรียบเรียงขยายความยาวๆ และซับซ้อน แบบที่เรียกว่า ‘อเนกัตถประโยค’ หรือ ‘สังกรประโยค’ (Complex sentence) โดยภาพพจน์โวหารใช้การกล่าวเท้าความ (Allusion) อ้างถึงข้อมูลต่างๆ อย่างละเอียดลออ เช่น

“เขามักหงุดหงิดเสมอกับความไม่คล่องตัวบนถนนสองช่องทางของเจ้าเบตาคันนี้ การขับเคลื่อนล้อหน้าด้วยพวงมาลัยธรรมดา-ตามลักษณะของรถยุโรปทั่วๆ ไป แม้มันจะให้ความปลอดภัยสูงบนถนนลื่นหิมะ และบนความเร็วปกติจากระดับร้อยถึงร้อยยี่สิบไมล์ต่อชั่วโมงของมัน แต่บนถนนที่มักจะแคบเล็กและคับขันในย่านจอแจและในแถบชนบทของไทย นอกจากจะไม่สามารถใช้ความเร็วในระดับเกียร์ห้าเพื่อประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้อย่างเต็มที่แล้ว การตีวงกลับหัวหรือการเลี้ยวเข้าซอยในแต่ละครั้ง มันกลับขี้เท่อเทอะทะเหมือนขับรถล้อตันบนถนนอย่างไรอย่างนั้น ความเป็นรถชั้นหนึ่งในสามยี่ห้อดังของอิตาลี และความเป็นแชมป์กรังปรีด์สี่ปีซ้อนของมันไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย” (บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน, หน้า ๑๑๒)

รูปลักษณ์เช่นนี้สะท้อนถึงอะไรบ้าง?

ปกติทฤษฎีของวรรณกรรมเพื่อชีวิตจะใช้เกณฑ์ว่าด้วย ‘ความจริง’ เป็นหลักในการประพันธ์ ทั้ง ‘ความสมจริง’ ในโครงเรื่องหรือการใช้ตัวละคร และ ‘ความจริงแท้’ ของความคิดสรุปของเรื่อง ดังที่ปรากฏในวรรณกรรมแนวอัตถนิยม (Realism) และธรรมชาตินิยม (Naturalism) ทั่วไป

ในระยะหลัง วรรณกรรมสมัยใหม่มีการทดลองเสนอความจริงในรูปของ ‘ข้อเท็จจริง’ (Matters of fact) กันมากขึ้น คือเขียนรายงานความเป็นจริงในรูปของเรื่องแต่ง เช่นพวกหนังสือพิมพ์ใหม่ (New Journalism) หรือไม่ก็มีการแต่งเรื่องให้ออกมาเสมือนเป็นเรื่องจริง

หรือ ประมวล มณีโรจน์ กำลังใช้ ‘ข้อเท็จจริง’ จากข้อมูลต่างๆ มานำเสนอ ‘ความจริง’ ในเรื่องสั้นของเขา ถ้าเป็นเช่นนั้นเขาก็คงต้องการจะบอกว่า การเข้าถึง ‘ความจริง’ ในปัญหาต่างๆ คือการได้รู้ ‘ข้อเท็จจริง’

เนื้อหาหลักของรวมเรื่องสั้นชุด “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” เป็นการเสนอปัญหาในมิติทางสังคม ประเด็นสำคัญกล่าวถึงภาวะของผู้ถูกกระทำจากอำนาจที่เหนือกว่า ไม่ว่าจะเป็นความเจริญทางวัตถุ หรือความฉ้อฉลในระบบสังคมและหัวใจมนุษย์ ซึ่งรุกรานสภาพแวดล้อมอันบริสุทธิ์ตลอดจนจิตวิญญาณของแต่ละปัจเจก เจตนาของนักเขียนชัดเจนว่าต้องการให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจและรู้สภาพปัญหาที่เกิดขึ้น “เขาควรรับรู้ความเป็นจริงของประเทศนี้-ในฐานะเจ้าของประเทศ” (ภูเขา, หน้า ๒๒๒)

พื้นที่ซึ่งนักเขียนนำเสนอกรณีปัญหา ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตภูมิประเทศเดียวกัน นั่นคือแถบภาคใต้ตอนล่าง บริเวณเทือกเขาในจังหวัดพัทลุงและทะเลสาบสงขลา มีเพียงเรื่อง “ตัวสุดท้าย-โดมิโน” ที่ใช้ฉากใกล้กรุงเทพฯ แถวนครปฐม

การวาดภาพสถานที่ท้องถิ่นในเรื่อง นักเขียนได้บรรยายไว้อย่างให้ความสำคัญ ทั้งยังสอดแทรกความรู้เชิงประสบการณ์และข้อมูลทางภูมิศาสตร์หรือวิชาการอื่นๆ ด้วย (หากไม่สามารถกล่าวถึงรายละเอียดได้ครบถ้วน ก็จะใส่ไว้ที่เชิงอรรถท้ายเรื่อง)

สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวาดภาพนั้น นักเขียนกำหนดกลวิธีการดำเนินเรื่องให้ตัวละครบุรุษที่หนึ่งเป็นผู้เล่า (ส่วนใหญ่จะใช้ “ข้าพเจ้า” หรือ “ผม” มีเพียงเรื่อง “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” ที่นักเขียนอยู่ในบทบาทพระเจ้าของตัวละคร) โดยวางมุมมองไว้ในฐานะผู้สังเกตการณ์ คือไม่ได้ถ่ายทอดความเป็นไปจากใจกลางของสถานการณ์นั้นโดยตรง แต่จะมีจุดยืนอยู่ห่างออกมาพอสมควร เพื่อเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นในทัศนะของตน และสามารถสรุปความตามทิศทางที่ต้องการได้

“บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” จึงเป็นรวมเรื่องสั้นที่เน้นหนักเรื่องการแสดงความคิด มากกว่าการเสนอประสบการณ์ทั่วไป

เพราะฉะนั้น ‘ความจริง’ จาก ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ประมวลนำมาเสนอ จึงเป็นน้ำเนื้อแห่งบทสรุปของเขาเอง ผู้อ่านเลยเหมือนถูก ‘บีบ’ และ ‘กด’ จากมุมมองนั้นด้วย ทั้งที่มวลรวมของเรื่องสั้นชุดนี้เข้มข้นไปด้วยสาระแห่งแรงบันดาลใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดความคิดฝันต่อเนื่องได้มากมายและยาวไกล

อีกทั้งลีลาภาษาของประมวลที่มีเอกลักษณ์เฉพาะอันน่าสนใจ (แม้บางสำนวนโวหารจะชวนให้มึนงงอยู่บ้าง เช่น การเปรียบนวนิยายเป็น “บ้านแห่งตรรกะ” และเปรียบเรื่องสั้นเป็น “ห้องรับแขก” ใน “บันทึกนักเขียน” เป็นต้น) สำหรับผู้อ่านที่ชื่นชอบต่อการเสพรสวรรณศิลป์ หากมองข้ามผ่านภูมิรู้อันแข็งกระด้างนั้นไปเสีย ก็น่าจะพึงพอใจต่อรูปประโยคอันหนักแน่นงดงามซึ่งคลี่คลุมตัวบททั้งหมดอยู่

ตัวอย่างเช่น

“เวลาอันเย็นย่ำลงห่มคลุมทะเลอัปลักษณ์แห่งนี้แล้ว แดดสีหมากสุกฉาบทาพื้นน้ำและเกาะแก่งซึ่งเรียงรายสลับทับกันอยู่อย่างซับซ้อน ดูแปลกตาวังเวงและน่าหวาดหวั่นอย่างไรชอบกล ผมอดคิดไม่ได้ว่า ขณะนี้เหมือนตัวเองพลัดหลงเข้ามาอยู่ในอาณาจักรแห่งอนารยธรรมที่ลึกลับและน่ากลัว คุณคงนึกรู้ว่า หลังจากที่แดดเหลืองทองเปล่งแผดฉายฉานเป็นครั้งสุดท้ายของวันแล้ว ย่อมหมายถึงวาระอันมืดดำของค่ำคืน ซึ่งเหมือนมันจะซ่อนเร้นความน่ากลัวบางอย่างเอาไว้-หลังม่านแห่งปรากฏการณ์ที่สายตามนุษย์ไม่สามารถทะลุผ่านไปได้นั้น” (ประกายไฟในความมืด, หน้า ๒๐๘)

* * *

ไม่มีใครปฏิเสธว่าคุณค่าของวรรณกรรมเพื่อชีวิตอยู่ที่สำนึกของความดีงาม ซึ่งแสดงออกโดยผ่านอุดมคติเชิงสังคมและการเมืองเป็นหลัก ในรวมเรื่องสั้น “บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน” ผู้อ่านก็สามารถมองเห็นเจตนาอันดีงามของนักเขียนอย่าง ประมวล มณีโรจน์ ได้ไม่ยาก จากน้ำเสียงแห่งความห่วงใยในโลกและชีวิต

อย่างน้อยด้วยความปรารถนาดีที่ปรากฏก็น่าจะให้ความหวังบางอย่างแก่ผู้อ่านได้ แม้ด้วยวิธีการประพันธ์แบบมี ‘พระเอก’ และ ‘ผู้ร้าย’ จะลงเอยด้วยคำตอบเดิม และความพยายามที่จะชี้ชัดใบหน้าของศัตรูนั้น ยังมีความกำกวมคลุมเครือเช่นเดียวกับศีลธรรม, กฎหมาย หรือระบบทางอุดมการณ์อื่นๆ ซึ่งเป็นช่องว่างให้ ‘ปีศาจ’ สวมรอยเข้ามาปะปนอยู่ ทั้ง ‘ฝ่ายเขา’ และ ‘ฝ่ายเรา’

“บ้านหลังสุดท้าย” ของวรรณกรรมเพื่อชีวิตน่าจะอยู่ตรงจิตสำนึกนี้เอง แม้สถานการณ์รอบข้างเปลี่ยนแปลงไป จนต้องมีเสียงเรียกร้องให้ตรวจสอบ ‘วิธีการ’ กันใหม่ แต่ ‘เป้าหมาย’ นั้นยังอยู่ที่เดิม

การต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด ภารกิจยังไม่จบสิ้น วรรณกรรมเพื่อชีวิตยังตายไม่ได้ และไม่ควรนำตัวเองเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์เร็วเกินไปนัก แม้ว่าอุดมการณ์เพื่อสังคมดูเหมือนจะล้มเหลวไม่เป็นท่าอยู่ในเศรษฐกิจระบบทุนนิยม แต่ตราบใดที่ยังมีความขัดแย้งด้วยความอยุติธรรมในหมู่มนุษย์ หัวใจของการอุทิศชีวิตเพื่อส่วนรวมก็น่าจะยังมีอยู่ต่อไป

เพียงแต่ว่าบางทีมันอาจจะมาในรูปอื่น ไม่ได้สวมเสื้อคลุมของชื่อนามตามแบบเก่าที่คุ้นเคย.

เขียน: 1 มิถุนายน 2542

พิมพ์ครั้งแรก: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

นักเขียนลุ่มทะเลสาบ ประมวล มณีโรจน์

นักเขียน บทกวี เรื่องสั้น นวนิยาย

ประวัติส่วนตัว :

ประมวล มณีโรจน์ เกิดที่สงขลา ใช้ชีวิตวัยเด็กในทุ่งกว้างริมทะเลสาบ อันเป็นที่มาของฉากและเรื่องราวในรวมเรื่องสั้น “ว่าวสีขาวกับผองปีกแห่งความหวัง” (สนพ. ประภาคาร, 2532) จบปริญญาตรีที่สงขลา บรรจุเป็นครูครั้งแรกที่นครศรีธรรมราช ย้ายมาตั้งหลักแหล่งและลาออกที่พัทลุง เริ่มงานเขียนเมื่อเป็นนักศึกษาอยู่ในรั้ววิทยาลัยครูสงขลา เป็นนักเขียนหลายนามปากกา เขียนทั้งบทกวี บทความ บทวิจารณ์ และเรื่องสั้น ปัจจุบันเป็นพ่อของลูกสาวหนึ่ง ลูกชายหนึ่ง


การศึกษา :

กศ.ม. (ไทยคดี) มหาวิทยาลัยทักษิณ

รางวัลที่ได้รับ :

รางวัลที่ได้รับ

2521 เรื่องสั้น ‘เบื่อ’ 1 ใน 15 เรื่องสั้นปากกาทอง ของ นสพ.เดลิไทม์

2523 เรื่องสั้น “ว่าวสีขาว” ได้ประดับช่อการะเกด (เพชร น้ำงาม)

2524 เรื่องสั้น “ทุ่งน้ำ” ได้รับรางวัลเรื่องสั้นอุดมศึกษา (ไม้แรกผลิ)

2525 เรื่องสั้น “จะไม่มีเมื่อวานนี้อีกแล้ว” รางวัลกลุ่มศิลปะและวรรณลักษณ์

2530 เรื่องสั้น “ว่าวสีขาว” คัดเลือกแปลเป็นภาษามาเลย์ โดย Rattiya Saleh (Cerpen Cerpen Dari Negre Thai 1969 - 1985)

2533 เรื่องสั้น “วันนี้ดอกพุดซ้อนไม่ยอมบาน” คัดเลือกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่น โดย Koichi Nonaka

2538 เรื่องสั้น “ตัวสุดท้าย - โดมิโน” รางวัลช่อการะเกดยอดเยี่ยม และยอดนิยม

ผลงาน :

ประเภทงานเขียน บทกวี, เรื่องสั้น, นวนิยาย, บทความ, ความเรียง

ผลงานเด่น เรื่องสั้น : ว่าวสีขาว, หมู่บ้านวิสามัญ, ตัวสุดท้าย - โดมิโน, ตำนานโจรพัทลุง, ความเรียง : ความแรงของลมฝนย่อมเกี่ยวเนื่องกับเมฆหมอกแห่งฤดูกาล, นวนิยาย : บ้านหลังสุดท้ายของดวงตะวัน

ผลงานรวมเล่ม 200 ปีฤาสิ้นเสดสา (กวีนิพนธ์ เรื่องยาว เขียนร่วมกับเพื่อนกลุ่มนาคร สนพ. ต้นหมาก 2527), หมู่บ้านวิสามัญ (รวมเรื่องสั้น สนพ. ประภาคาร 2531), ปลายทางจิตกาธาน (รวมกวีนิพนธ์ สนพ. นกเช้า 2551), ลึกลงถึงลมหายใจไกลออกไปแค่ปลายมือ (ความเรียง สนพ. ศูนย์ทะเลสาบศึกษา 2560), อ่านพนมเทียนเขียนประมวลความ (ความเรียง สนพ. ศูนย์ทะเลสาบศึกษา 2560)