ศิลปวัฒนธรรมไทย

ฟังดนตรีไทย จากเยาวชน คนบางเขียด

ฉันมีโอกาสได้จัดกิจกรรมส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ตรีไทย ณ กศน.ตำบลบางเขียด เมื่อประมาณปี 63 เป็นกิจกรรม ผู้จัดกิจกรรมมุ่งหวังอยากให้เยาวชนไทยกลับมารักและสนใจดนตรีไทย โดยนำการเล่นดนตรีไทย บรรเลงเพลงสนุกสนาน ฉัน เกิดคำถามทำไมเด็กบางเขียด ถึงรักและให้ความสนใจในดนตรีไทย เด็กผู้ชายคนหนึ่งตอบว่า เพราะดนตรีคือความสุข ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เหมือนหลุดเข้าไปในอีกโลกหนึ่ง และการที่ได้เห็นคนฟังมีความสุขเราก็จะมีความสุขตาม แต่เพราะว่าโลกของเราหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวินาที เราทุกคนต่างอาศัยอยู่กับความเปลี่ยนแปลงที่เป็นสิ่งจริงแท้แน่นอนของชีวิต เหมือนที่เด็กวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่หลงใหลดนตรีสากล กระแสเคป๊อป และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่กำลังครองเมืองอยู่ในขณะนี้ ไฉนเลยดนตรีไทย ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นสิ่งที่อยู่ในชีวิตของคนไทยจะกลับกลาย เปลี่ยนแปลง และเปิดรับเอาสิ่งใหม่จากหลากหลายที่ทั่วโลกมาไว้ในบ้านเมืองเรา เพียงเพราะคำว่าศิวิไลซ์หากย้อนรอยที่มาของดนตรีไทย ก็จะเห็นได้ว่าดนตรีไทยคือศิลปะแขนงหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย จีน อินโดนีเซีย ฯลฯ และในยุคสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคสุโขทัย ยุคกรุงศรีอยุธยา มาจนกระทั่งยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ต่างก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างมีพลวัต จากกรุงสุโขทัย คนไทยเล่นดนตรีไทยแบบวงปี่พาทย์ ที่มีเครื่องดนตรีคือปี่ใน ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด ตะโพน ฉิ่ง พอมายุคกรุงศรีอยุธยา คนไทยก็เพิ่มระนาดเอกเข้าไป พอมาถึงยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 1 คนไทยก็เพิ่มกลองทัดเข้าไปอีกลูก รวมเป็น 2 ลูก นั่นคือ ตัวผู้เสียงสูง และตัวเมียเสียงต่ำ

การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงยังไม่หยุดอยู่เพียงแค่นั้น ในรัชกาลที่ 3 วงปี่พาทย์ก็ได้พัฒนามาเป็นวงปี่พาทย์เครื่องคู่ ที่คนไทยได้มีการประดิษฐ์ระนาดทุ้มคู่กับระนาดเอกและฆ้องวงเล็กให้คู่กับฆ้องวงใหญ่อีกด้วย พอมาในรัชกาลที่ 4 ก็ได้เกิดวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ พร้อมกับการที่คนไทยได้มีการประดิษฐ์ระนาดเอกเหล็ก และระนาดทุ้มเหล็กเพิ่มขึ้น พอมาในรัชกาลที่ 6 ก็ได้มีการนำวงดนตรีของมอญเข้ามาผสมผสาน เรียกกันว่าวงปี่พาทย์มอญ โดยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ได้นำอังกะลุงเข้ามาเผยแพร่เป็นครั้งแรก และนำเครื่องดนตรีต่างชาติ เช่น ขิม ออร์แกนของฝรั่ง มาผสมเป็นวงเครื่องสายผสม แล้วจึงเป็นดนตรีไทยอย่างที่เราได้เห็นได้ยินได้ฟังกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

ในสมัยปัจจุบัน เมื่อบรรยากาศหายไป ดนตรีไทยที่หลงเหลืออยู่นั้น คือ การถูกนำไปประกอบบรรยากาศงาน ทั้งงานมงคลและงานอวมงคลทั้งหลาย โดยเฉพาะช่วงที่พระสวดมนต์ หรือถ้าหากมีพระมาเกี่ยวข้องก็จะมีดนตรีไทยมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ในพิธีทางพุทธก็จะมีดนตรีไทยคลอเคล้าไปด้วย ในขณะที่คนฟังอย่างเอาจริงเอาจังอาจจะไม่มี ฉันเคยใช้เวลาในการนั่งฟังเพลงไทยเดิมที่วงปี่พาทย์ วงเครื่องสายเขาบรรเลงสดๆ ในงาน อรรถรสในการรับฟัง ไม่เต็มที่ อีกทั้งเสียงรบกวนประดามีก็จะคอยทำลายบรรยากาศ แต่ฉันก็เห็นว่าเพลงไทยเดิมจะฟังให้เพราะ ต้องฟังวงจริงๆบรรเลง เราจะได้รู้ว่า ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวง ฉิ่ง ตะโพน นั้นบรรเลงสอดรับ ขัด หรือมีลีลาอย่างไร เสียงของเครื่องดนตรีแต่ละประเภทมีบทบาทในเพลงนั้นอย่างไร เพลงบางเพลงแม้ว่าโดยรวมๆแล้วระนาดเอกจะเด่น แต่ถ้าขาดเสียซึ่งเสียงของฆ้องวงที่แทรกเป็นระยะๆ ระนาดของเพลงนั้นก็จะไม่มีบทบาทเด่นอย่างไร แต่ในมุมกว้าง ดนตรีไทยกลับเหมือนถูกลืมเลือนและเริ่มหายไปจากหมู่คนฟังเพลง ทั้งสถานีวิทยุก็เกือบจะไม่มีเพลงไทยเดิมให้ฟังกัน สื่อต่างๆก็ละเลยการนำเสนอ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะในโลกของศิลปะแขนงต่างๆ จะมีลักษณะเช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมในช่วงขณะเวลาหนึ่ง เมื่อผ่านไป รสนิยมของคนก็เปลี่ยนไป

ฉันคิดว่าถ้าหากฟังอย่างพิเคราะห์แล้ว ดนตรีไทยเต็มไปด้วยรายละเอียดมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลีลา ชั้นเชิงการผสมเสียง การแสดงบทเด่นของเครื่องดนตรีต่างๆ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย พูดได้ว่าเสียงดนตรีไทยนั้นงามอย่างศิลป์

ฉันโชคดีที่มีโอกาสฟังดนตรีไทย จากเยาวชน คนบางเขียด


ธิญาดา เอียดเรือง ครูกศน.ตำบลบางเขียด