ผ้าฝ้ายทอมือ

การทอผ้าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่ต้องอาศัยศิลปะที่เกิดขึ้นจากการสืบทอดภูมิปัญญาของบรรพบุรุษต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ชาวอีสานจะมีความสามารถในการทอผ้าแต่จะแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมหรือประเพณีวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งผ้าทอของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรหนองลาดควายเป็นผ้าทอด้วยมือและใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น คือฝ้าย ปลูกกันเองแล้วนำมาทำเป็นเส้นดายและนำมาย้อมสีธรรมชาติ คือเปลือกไม้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น นำมาผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น อิ้ว ดีด ล้อ เข็น กวัก ค้นหรือสืบหลักค้น แล้วนำเข้าเครื่องทอที่เรียกว่า กาหรือหูก เพื่อใช้ทอให้เป็นพื้นผ้า จึงนับได้ว่าการทอผ้าเป็นมรดกหรือวัฒนธรรมที่มีคุณค่ายิ่งควรแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่คนไทยสืบไป

สาวชาวอีสานในสมัยโบราณมีหน้าที่สำคัญ คือ การถักทอเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ทั้งเสื้อ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า หรือแม้แต่ผ้าห่ม หมอน ทุกอย่างล้วนต้องใช้ฝีมือและความอดทน แต่สตรีชาวอีสานก็ไม่ได้คร่ำเคร่งกับเรื่องการงานจนลืมเติมจินตนาการและศิลปะลงในผืนผ้าของตัวเอง นางแหวน ศรีบุญเรือง ปราชญ์ด้านการทอผ้าของ อำเภอสีดา จังหวัดนครราชสีมา เห็นแล้วชอบมากจึงนำมาหัดมัดลายตามที่ท่านเคยทำไว้ เป็นลายมัดหมี่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน และทุกผืนนั้นมีประวัติความเป็นมาของลายเขียนไว้หมด น่าทึ่งที่ผู้หญิงสมัยก่อนไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็สามารถคิดลวดลายและเก็บเรื่องราวไว้ได้ในผืนผ้า

นางแหวน ศรีบุญเรือง ปราชญ์ด้านการทอผ้าของบ้านหนองโน ตำบลโพนทอง ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มฝ้ายทอมือ ของกลุ่มอาชีพกศน.ตำบลโพนทอง อำเภอสีดา กลุ่มคนที่ร่วมกันฟื้นฟูและสืบสานศิลปะผ้าทอมัดหมี่บ้านหนองโนที่เคยสูญหายไปแล้วให้กลับฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยบันทึกที่บรรพบุรุษได้เขียนเล่าเรื่องราวรวมถึงวิธีการทำผ้าทอแต่ละลายเอาไว้อย่างละเอียด

ข้อมูลเนื้อหา โดย นายอานนท์ ปักกาโล

ภาพถ่าย/ภาพประกอบ โดย นายอานนท์ ปักกาโล

ข้อมูล TPK อ้างอิง

https://sites.google.com/d/14KvN72sEsXpr6d9qcO9OXYiY1vfq1uG9/p/1qd_SLj3ivTtlUB0dNg_Rm81BuDslKV6L/edit