อาชีพการทอเสื่อกก

ชุมชน บ้านวังชะโอนน้อย ตำบลวังชะโอน อำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร

ต้นกกเป็นไม้ล้มลุก ซึ่งชอบที่ชื้นแฉะ ขึ้นในที่ระดับต่ำตามหนอง บึง ทางระบายคันคูน้ำและโคลนเลนน้ำขังท่วมอยู่ จึงชอบขึ้นในพื้นที่บ่อ บึง ทางระบายน้ำ นาข้าว หรือพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นต้น ซึ่งลักษณะของต้นกกคือลำต้นมีรูปร่างเป็นสามเหลี่ยมหรือสามมุมถ้ามองในแนวขวาง ในบางสายพันธุ์หรือชนิดของต้นกกนั้นมีผนังกั้นคล้ายห้องแบ่งเป็นส่วนๆออกไป ดอกของต้นกกมีช่อปลายแหลมห่อหุ้มไว้แค่เพียงอันเดียวเท่านั้น มีกาบใบอยู่ชิดกัน มีดอกที่จะมีกาบย่อยๆออกมาเป็นช่อหุ้ม อีกทั้งต้นกกเลื้อยไปใต้ดินและสามารถแตกเป็นลำต้นใหม่โผล่มาเหนือดิน แต่ลำต้นไม่แตกกิ่งแบบต้นไม้ชนิดอื่นๆ ซึ่งพบมากในชุมชนบ้านวังชะโอนน้อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ขั้นตอนการทำเสื่อกก โดยนำเอาต้นกกมาแปรสภาพด้วยการผ่าครึ่งเป็นริ้วเล็กๆ นำไปตามแดดให้แห้งประมาณ 2-3 วัน แล้วนำเส้นกกที่แห้งแล้วมาย้อมสีตามที่ต้องการ ตากให้แห้งในที่ร่มมีลมพัดผ่าน ประมาณ 3-4 วันแล้วสามารถนำไปท่อ โดยใช้อุปกรณ์ที่คิดค้นขึ้นจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่น ฟืม ไม้พุ่งกก กี่ หรือโฮงทอเสื่อ ผนวกกับประสบการณ์และทักษะการทอเสื่อที่ได้เรียนรู้ สั่งสอนจากปู่ย่า ตายาย ในอดีตสู่ลูกหลานในปัจจุบัน ทำให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์เสือกก สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับคนรุ่นหลังสืบมา ลายที่ทอเป็นประจำและเป็นที่นิยมคือ ลายมัดหมี่ ลายธรรมดา ลายกระจับ ซึ่งในปัจจุบันสามารถนำเสื่อกกที่ทอแล้วมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หมอน อาสนะ หมอนข้าง เสื่อพับ ที่รองแก้ว กระเป๋า ฯได้

การทอเสื่อกก เป็นภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่นบ้านวังชะโอนน้อย เสมือนความรู้ที่แต่ละครัวเรือนต้องปลูกฝังให้ลูกหลานมี มิให้ได้ชื่อว่าเกียจคร้าน มิต้องเสียทรัพย์สินเงินทองไปซื้อหา และมิให้เวลาว่างสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ เสื่อในอดีตเป็นของใช้ที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับปูนั่งหรือนอน จนถึงกับมีคำกล่าวว่า บ้านไหนไม่มีเสื่อใช้ ถือว่า ครอบครัวนั้น เกียจคร้านไม่มีฝีมือ หนุ่มสาวที่จะแต่งงานตั้งครอบครัวใหม่หรือขึ้นเรือนใหม่ ต้องเตรียมที่นอน หมอน มุ้ง ส่วนเสื่อฝ่ายหญิงจะต้องจัดเตรียมทอสะสมไว้เป็นของขึ้นเรือน นอกจากนี้ยังมีการทอเพื่อถวายเป็นไทยทานให้กับวัด เพื่อบำรุงศาสนาในฤดูเทศกาลต่างๆ อีกด้วย การทอเสื่อกกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงปัจจุบันเป็นปกติวิสัย คือเมื่อมีเวลาว่างจากงานเกษตรกรรม ก็ทอเพื่อใช้หรือขายเป็นรายได้เสริม แม้บางช่วงเวลาและโอกาส อาจทำรายได้มากกว่าอาชีพหลัก นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านของท้องถิ่น มีการทำและสืบทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งสู่คนรุ่นต่อมาอย่างสืบเนื่องยาวนาน เนื่องจากความรู้เกี่ยวกับการทอเสื่อกก เป็นพื้นฐานความรู้ที่เริ่มตั้งแต่ครอบครัว ที่ทำเพื่อไว้ใช้และทำเหลือจากใช้ไว้ขายเป็นรายได้เสริม ลูกหลานในชุมชน ได้ซึมซับรับรู้กรรมวิธีและขั้นตอนการทำ การทอนี้มาโดยตลอดและเมื่อโตขึ้นก็จะได้รับการฝึกฝนจนเป็นทักษะและความชำนาญและกลายเป็นที่ยอมรับ กลายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ ด้วยอุปกรณ์และเครื่องมือล้วนอยู่ใกล้ตัว เพียงหยิบฉวยเส้นกกขึ้นสอดใส่ไม่ช้าก็ได้เสื่อผืนงามที่ทำรายได้อย่างน่าพอใจ